คนมองหนัง : ‘ปราบดา หยุ่น’ คว้ารางวัล ‘ฟุกุโอกะไพรซ์ 2021’

คนมองหนัง
ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Typhoon Studio

 

‘ปราบดา หยุ่น’

คว้ารางวัล ‘ฟุกุโอกะไพรซ์ 2021’

 

“ปราบดา หยุ่น” เพิ่งได้รับรางวัล “ฟุกุโอกะไพรซ์” สาขาศิลปะและวัฒนธรรม ประจำปี 2021

คณะกรรมการระบุว่า ปราบดา ผู้เป็นนักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ และศิลปินชาวไทย คือหนึ่งในนักเขียนชั้นนำของประเทศบ้านเกิด ซึ่งแสดงความสามารถในการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างรอบด้าน ผ่านงานวิจารณ์, งานเขียนบท, กราฟิกดีไซเนอร์ และอื่นๆ

ผลงานของปราบดาไม่เพียงแต่จะมีคุณูปการต่อพัฒนาการของแวดวงวรรณกรรมและความคิดในไทย แต่ยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจประเทศญี่ปุ่น ให้แก่สังคมไทยด้วย

นอกจากนั้น ในระยะไม่กี่ปีหลัง ปราบดาในฐานะนักเขียนชาวเอเชีย ยังได้พยายามขวนขวายทำความเข้าใจอนาคตของมนุษยชาติ ผ่านการศึกษาหาความรู้ด้านปรัชญาอย่างลึกซึ้ง

 

“ปราบดา หยุ่น” เกิดใน ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) ในครอบครัวที่มีบิดาเป็นนักหนังสือพิมพ์-สื่อมวลชน ส่วนมารดาทำนิตยสารสตรี

หลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้นในประเทศไทย เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีสาขาศิลปะ จากสถาบัน “เดอะ คูเปอร์ ยูเนียน เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาการและศิลปะ” ในนิวยอร์ก

ปราบดาเดินทางกลับไทยใน ค.ศ.1998 (พ.ศ.2541) เพื่อเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หลังจากนั้น เขาเริ่มต้นทำงานเขียน ผ่านการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์-นิตยสาร รวมถึงการเขียนเรื่องสั้น

ปี 2000 (พ.ศ.2543) เขามีหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ “เมืองมุมฉาก” ว่าด้วยชีวิตอันบิดเบี้ยวในมหานคร

ในปีเดียวกัน ปราบดามีหนังสือรวมเรื่องสั้นอีกหนึ่งเล่มชื่อ “ความน่าจะเป็น” ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งเพราะสไตล์การเขียนที่แปลกใหม่แหวกแนว แก่นเรื่องหลักว่าด้วยประเด็นคนชายขอบในเมืองใหญ่ รวมถึงการออกแบบปกหนังสือเชิงทดลอง ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลซีไรต์จากผลงานชิ้นนี้

ต่อมา เขาเขียนนิยาย หนังสือรวมบทความ และมีผลงานแปลวรรณกรรมต่างประเทศอีกมากมาย ทั้งยังรับงานเขียนบทภาพยนตร์ โดยเฉพาะ “เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล” (กำกับฯ โดย “เป็นเอก รัตนเรือง” ในปี 2003) ซึ่งถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง และมี “ทาดาโนบุ อาซาโนะ” นักแสดงชาวญี่ปุ่น มาร่วมนำแสดง

 

ผลงานยุคหลังของปราบดาที่ขยายพรมแดน-มาตรฐานใหม่ไปไกล คือ “ตื่นบนเตียงอื่น” ซึ่งเป็นงานเขียนอันเกิดจากการที่เขาได้รับทุนของ “เจแปน ฟาวเดชัน” ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนและทำงานบนเกาะที่ถูกขนานนามว่า “เกาะมนต์ดำ” ในประเทศฟิลิปปินส์

โดยปราบดาได้พบปะกับอดีตครูเกษียณชาวญี่ปุ่นบนเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องลัทธิพ่อมดหมอผีพื้นถิ่นแห่งนั้น

หนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับโลกทัศน์อันเกิดจากการเฝ้าสังเกตและการใคร่ครวญพิจารณาถึงสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติและธรรมชาติ รวมถึงการมีบทสนทนาว่าด้วยความคิดของ “บารุค เดอ สปิโนซา” นักปรัชญาชาวดัตช์ และอุดมการณ์และการวิเคราะห์งานเขียนเรื่อง “Walden” ของนักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน “เฮนรี เดวิด ธอโร”

ผลงานชิ้นนี้ของปราบดาจึงประกอบด้วยการครุ่นคิดในเชิงปรัชญา เทคนิคการสร้างสรรค์ทางวรรณกรรม และอัตลักษณ์อันน่าลุ่มหลงของคนเมืองยุคใหม่

 

นับแต่ ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) ปราบดาได้เขียนบทความให้แก่นิตยสารญี่ปุ่น “EYESCREAM” โดยต่อเนื่องเป็นเวลาสามปี งานเขียนกลุ่มนี้จะมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ที่มักถูกสังคมไทยเข้าใจแบบผิดๆ และมองอย่างเหมารวม

เขามีผลงานหนังสือที่ถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และจีน

นักเขียนชาวไทยผู้นี้หลงรักประเทศญี่ปุ่น จนถึงขั้นเคยเดินทางไปศึกษาปรัชญาเซน วรรณกรรมคลาสสิคญี่ปุ่น และพิธีกรรมชงชาที่นั่นมาแล้ว

ไม่กี่ปีก่อน ปราบดายังลงมือกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่อง ได้แก่ “โรงแรมต่างดาว” (2016) และ “มา ณ ที่นี้” (2017)

 

รางวัล “ฟุกุโอกะไพรซ์” มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมอันหลากหลายในทวีปเอเชีย และพยายามสนับสนุนให้ชาวเอเชียได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

ปัจจุบัน รางวัลดังกล่าวถูกจัดแบ่งออกเป็นสามสาขา ได้แก่

รางวัลสาขาใหญ่ที่สุด คือ “แกรนด์ไพรซ์” ซึ่งมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กร ซึ่งมีคุณูปการโดดเด่นในด้านการอนุรักษ์และสร้างสรรค์วัฒนธรรมเอเชีย รวมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมดังกล่าวออกสู่สายตาชาวโลก

รางวัล “สาขาวิชาการ” มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กร ผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ความรู้ด้าน “เอเชียศึกษา” สำหรับแวดวงสังคมศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สาขาวิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงรัฐศาสตร์

รางวัล “สาขาศิลปะและวัฒนธรรม” มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กร ที่พยายามบ่มเพาะ-พัฒนาศิลปวัฒนธรรมอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของเอเชีย ผ่านการสร้างผลงานวิจิตรศิลป์, วรรณกรรม, ดนตรี, ละคร, นาฏกรรม, ภาพยนตร์, สถาปัตยกรรม ตลอดจนการทำงานที่ข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

ก่อนหน้านี้ เคยมีคนไทยได้รับรางวัล “ฟุกุโอกะไพรซ์” มาแล้ว 8 ครั้ง (จำนวน 9 ราย) คือ

พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (รางวัลเพื่อการระลึกถึงเป็นกรณีพิเศษ) ใน ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (รางวัลแกรนด์ไพรซ์) ใน ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542)

ถวัลย์ ดัชนี (รางวัลสาขาศิลปะและวัฒนธรรม) ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ศ. (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (รางวัลสาขาวิชาการ) ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555)

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (รางวัลสาขาศิลปะและวัฒนธรรม) ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) และ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์ (รางวัลแกรนด์ไพรซ์) ค.ศ.2017 (พ.ศ.2560)