คนมองหนัง : เส้นทางสู่ ‘ปาล์มทองคำ’ ตัวที่สองของ ‘อภิชาติพงศ์’?

คนมองหนัง

 

เส้นทางสู่ ‘ปาล์มทองคำ’ ตัวที่สอง

ของ ‘อภิชาติพงศ์’?

 

“อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” นักทำหนังชาวไทย เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำจากภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” เมื่อปี 2013 จะได้กลับมาลุ้นรางวัลดังกล่าวอีกหน ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ประจำปีนี้

มิหนำซ้ำ อภิชาติพงศ์ยังถือเป็นผู้กำกับฯ รายเดียว ที่จะมีผลงานได้เข้าฉายใน “คานส์ 2021” ถึงสองเรื่อง

เริ่มต้นด้วย “Memoria” หนังยาวเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายทำนอกประเทศไทย ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวดหลักของเทศกาล (อันหมายถึงการได้ลุ้นรางวัลปาล์มทองคำ)

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่ภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ได้กลับเข้ามาชิงรางวัลดังกล่าว

“Memoria” เป็นหนังที่ถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย จากนครหลวง คือกรุงโบโกตา ไปจนถึงพื้นที่ภูเขาและพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีในเขตชนบท

ภาพยนตร์ที่ตัวละครสื่อสารกันด้วยภาษาสเปนและอังกฤษ เรื่องนี้จะนำแสดงโดย “ทิลดา สวินตัน” นักแสดงยอดฝีมือชาวอังกฤษ ร่วมด้วย “ฌาน บาลิบาร์” นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศส

หนังมีผู้ร่วมทุนสร้างกว่าสิบราย ทั้งในนามบริษัทเอกชนและกองทุนสนับสนุนการสร้างผลงานศิลปะระดับนานาชาติจากหลากหลายประเทศ อาทิ โคลอมเบีย ไทย ฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน เป็นต้น

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัล 2018 FIAF Award ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบโดยสมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (International Federal of Film Archives – FIAF)

“Memoria” จะบอกเล่าเรื่องราวของ “เจสสิกา” (สวินตัน) ที่เริ่มได้ยิน “เสียงดัง” ไม่ทราบที่มาในช่วงรุ่งสาง นั่นส่งผลให้เธอมีอาการนอนไม่หลับ

ที่โรงพยาบาล เจสสิกาได้พบกับ “อานเญส” (บาลิบาร์) นักโบราณคดีซึ่งกำลังศึกษาขุดค้นโครงกระดูกมนุษย์ ณ พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ในบริเวณภูเขาแห่งหนึ่ง

เจสสิกาเดินทางไปเยี่ยมอานเญสในพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ ที่เมืองชนบทเล็กๆ ของโคลอมเบีย ณ ริมน้ำของเมืองนั้น เธอได้เผชิญหน้ากับ “เอร์นัน” ชายแล่ปลาผู้เปี่ยมล้นด้วยความทรงจำ

เมื่อรัตติกาลย่างกราย เจสสิกาก็ได้สัมผัสถึง “เสียงดัง” ข้างต้นอีกครั้ง

 

ผู้ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังเรื่อง “Memoria” ในทวีปอเมริกาเหนือ คือบริษัท “นีออน” ซึ่งสร้างชื่อจากการเป็นผู้จัดจำหน่าย “หนังออสการ์จากเกาหลีใต้” อย่าง “Parasite”

บริษัท “นีออน” ยังเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่อง ที่อภิชาติพงศ์มีส่วนเกี่ยวข้อง และจะได้เปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้เช่นกัน

นั่นก็คือหนังเรื่อง “The Year Of The Everlasting Storm” ซึ่งจะเข้าฉายในสาย “สเปเชียล สกรีนนิ่ง”

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังยาวที่ประกอบด้วยหนังสั้น 7 เรื่อง โดยผู้กำกับฯ นานาชาติ 7 ราย นอกจากอภิชาติพงศ์ของไทยแล้ว ยังมี “จาฟาร์ ปานาฮี” (อิหร่าน) “แอนโธนี เฉิน” (สิงคโปร์) “มาลิก วิตธัล” (สหรัฐ) “ลอรา พอยทราส” (สหรัฐ), โดมิงกา โซโตมายอร์ (ชิลี) และ “เดวิด โลเวอรี” (สหรัฐ)

“The Year Of The Everlasting Storm” เป็นโปรเจ็กต์รวมหนังสั้นที่สะท้อนถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งยังถูกนิยามว่าเป็น “จดหมายรักถึงภาพยนตร์และเหล่านักเล่าเรื่องในโลกใบดังกล่าว”

เป็นที่ทราบกันดีว่า อภิชาติพงศ์มักมี “ที่ทาง” ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์โดยต่อเนื่องเสมอมา

“สุดเสน่หา” หนังยาวเรื่องที่สองของเขา ได้รางวัลชนะเลิศในสายการประกวดรอง “อัน เซอร์เทน รีการ์ด” เมื่อปี 2002

“สัตว์ประหลาด” หนังยาวลำดับที่สาม ได้ขยับขึ้นไปฉายในสายการประกวดหลักเมื่อปี 2004 และได้รับรางวัล “จูรี ไพรซ์”

ก่อนที่ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” จะสร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลเมื่อปี 2010

มาถึงปี 2015 “รักที่ขอนแก่น” หนังยาวเรื่องล่าสุดที่ถ่ายทำในประเทศบ้านเกิด ก็ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่ (คล้ายจะ) ถูกลดระดับลงไปฉายในสาย “อัน เซอร์เทน รีการ์ด” ซึ่งว่ากันว่าสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้กำกับฯ ชาวไทยไม่น้อย (จากการรายงานของสื่อต่างชาติอย่าง “เดอะ ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์”)

มีการวิเคราะห์ว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนั้นจะได้เสียงตอบรับที่ดีในหมู่นักวิจารณ์ แต่สัญลักษณ์หลายอย่างในหนังที่อ้างอิงกับสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ก็ทำให้คนดูต่างชาติบางส่วนงุนงงหรืออาจเข้าไม่ถึง

ต้องจับตาดูกันว่า หนังที่น่าจะหลุดลอยออกจาก “บริบทการเมืองไทย” เช่น “Memoria” จะไปได้ไกลแค่ไหน? ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2021

ข้อมูลจาก

https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/cannes-2021-apichatpong-two-films-1234962483/

https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/2126279/memoria-featured-in-cannes

https://www.purinpictures.org/memoria

ภาพอภิชาติพงศ์ โดย Romeo GACAD / AFP

ภาพโปสเตอร์หนัง จากทวิตเตอร์ Apichatpong W. @kickthemachine