สำเริงคดี : บาปอยุติธรรม / ทรงวาด

 

บาปอยุติธรรม

 

เมื่อเริ่มจับงานกำกับละครทีวีในปี 2538 เรื่อง ‘ลัดฟ้ามาหารัก’ ของ บ.เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ ทางช่อง ททบ.5 กฤษณ์ ศุกระมงคล ก็ประยุกต์เนื้อหามาจากงานสากล

นั่นคือ บทดัดแปลงและขยายเรื่องราวที่เขียนโดยจิรวิทย์ สมบัติศิรินั้นทำมาจากหนังฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่ง (ขออภัยที่จำชื่อไม่ได้) มีสันติสุขและจินตหรา เพื่อนซี้ของเขา ร่วมกับนักแสดงหนุ่มเอ๊าะ…ฟลุค-เกริกพล มัสยวาณิช แสดงนำ

คนชอบกินอย่างเรา ยังจำได้ถึงฉากในห้องครัวสมัยใหม่ที่ฟลุคหาวิธียืนยันให้จินตหราเชื่อว่าเขาคือสันติสุขกลับชาติมาเกิด โดยบอกสูตรไข่เจียวที่อดีตสามีของเธอโปรดปรานว่าต้องเป็นไข่เจียวใส่หมูหยองนั่นเลย…

พอมาถึงปี 2564 นี้ กฤษณ์มารับหน้าที่ควบคุมการผลิตให้ บ. MAKER K ทางช่อง 3 ในเรื่อง ‘บาป[อยุติธรรม]’ ซึ่งเพิ่งจบไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม

เขาก็นำเสนอละครในมิติใหม่ โดยประยุกต์เอา FILM LITERACY ของสากลหรือฮอลลีวู้ดมาใช้

ผู้ผลิตแจงว่าละครเรื่องนี้ซื้อลิขสิทธิ์มาจากซีรีส์ตุรกี บทดัดแปลงในพากษ์ไทย เขียนโดยทานตะวัน

เป็นเรื่องราวความรักความแค้นของแพทย์ฝึกหัดหนุ่มที่ถูกใส่ความว่าฆ่าพ่อของสาวคนรักที่กีดกันเขากับเธอจนต้องติดคุกถึง 11 ปี กระทั่งมีทนายสาวมาแก้คดีให้พ้นคุก

แต่ความคั่งแค้นทำให้เขาทุ่มเทหาตัวศัตรูและผู้ร่วมใส่ความจนต้องเสียพ่อตัวไปอีกคน

ระหว่างนั้นความสัมพันธ์ของเขากับทนายสาวก็กลายเป็นความรัก ทั้งๆ ที่เธอนั่นแหละที่เป็นผู้ใส่ความว่าเขาฆ่าคนตาย

เมื่อเขายิ่งรื้อรุกไล่ล่าหาฆาตกรตัวจริง ฝ่ายตรงข้ามมากอิทธิพลก็ยิ่งคุกคามจนเขาเกือบเสียชีวิตหลายครั้งหลายหน

แต่ด้วยความช่วยเหลืออย่างสุดจิตสุดใจของเพื่อนรุ่นพี่ที่เขาเคยช่วยชีวิตไว้ในคุก ทำให้เขาคลี่คลายเงื่อนปมทั้งหมดได้ในที่สุด

ผู้กำกับการแสดงของเรื่องนี้คือ อำไพพร จิตต์ไม่งง ซึ่งมีข่าวเมาธ์ว่าเธอเคี่ยวกรำนักแสดงทั้งตัวหลักตัวรอง ให้เป็นตัวเอกไปตามๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็น ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ ในบทชิดตะวัน ธนิน มนูญศิลป์ ที่เป็นคฑาเพชร ญีนา ซาลาส ซึ่งรับบททนายสาวผู้ชาญฉลาด รวมถึง ศิริศิลป์ โชติวิจิตร ซึ่งเป็นบริบูรณ์พี่ชายของทนายปลายฝนที่คว้าเกรด A ไปได้ในการแสดงตอนก่อนสุดท้าย

อีกทั้งโจ๊กเกอร์ที่ห่างหายจากจอไปนานก็กลับมาในบททศอย่างทุ่มเท แม้บทจะเขียนให้เขาฟูมฟายเกินไปสักหน่อยก็ตาม

มีข้อสังเกตเล็กๆ ว่า อินเนอร์ของนักแสดงรุ่นใหม่ในเรื่องมาแรงกว่ารุ่นใหญ่ในหลายฉากเหมือนกัน

ที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่การนำเสนอเรื่องราวทั้งหมดด้วยภาษาภาพยนตร์ เครดิต ไตเติล ไม่บอกว่าใครเป็นผู้กำกับภาพ เดาเอาว่าคงเป็นกฤษณ์และทีมงานอีกหลายคน โดยรับแรงบันดาลใจหรือได้ตัวอย่างมาจากต้นฉบับตุรกีก็เป็นได้ การใช้ช่างภาพ 3 คน มีกฤชนัส ทองมากุล, มณเฑียร โสธรกุล และณฤทธ์ พุทธโกษา (หากเขียนชื่อ-สกุลใครผิดพลาดโปรดอภัยด้วย เนื่องเพราะเครดิตไตเติลวิ่งเร็วจัด)

ทำให้ได้ภาพที่มีมุมกล้องและขนาดภาพต่างๆ กันมาถักทอ

ร้อยเรียงเล่าเรื่องได้สวยงาม กระทบใจ!

เนื่องจากเป็นละครดราม่า-แอ๊กชั่น จึงมีการเลือกใช้ขนาดภาพใกล้เป็นระดับ BIG CLOSE UP มากกว่า CLOSE UP ธรรมดา หรือ MEDIUM CLOSE UP ผู้แสดงต้องสื่อสารด้วยดวงตาเป็นสำคัญเพื่อสร้าง IMPACT

ดังนั้น จึงมีบางช็อตที่นักแสดงยังสื่อไม่ชัดใจหลุดแพลมออกมาอยู่เหมือนกัน

แต่ด้วยความที่เป็นละครแอ๊กชั่นด้วย จังหวะ (Rhythm) จึงรวดเร็ว ข้อด้อยที่ว่าจึงผ่านตาไปโดยง่าย

ฉากแอ๊กชั่นต่างๆ ก็ทำได้ดี ต้องปรบมือให้ฝ่ายจัดแสง ผู้ช่วยผู้กำกับฯ และผู้กำกับเวที

ภาพเล่าเรื่องของ ‘บาปอยุติธรรม’ จึงมีศักยภาพของภาพยนตร์มากกว่าละครเวที และได้แต่หวังว่ามันจะเป็นเทรนด์ใหม่ของละครทีวีบ้านเราต่อไป