ภาพยนตร์ : THE TRIAL OF THE CHICAGO 7 ‘ดวงตาของความยุติธรรม’

นพมาส แววหงส์

 

THE TRIAL OF THE CHICAGO 7

‘ดวงตาของความยุติธรรม’

 

กำกับการแสดง

Aaron Sorkin

นำแสดง

Eddie Redmayne

Sacha Baron Cohen

Mark Rylance

Joseph Gordon-Levitt

Frank Langella

Yahya Abdul-Mateen II

John Carroll Lynch

Alex Sharp

Jeremy Strong

 

คดีอื้อฉาวในประวัติศาสตร์อเมริกันซึ่งสื่อมวลชนเรียกขานกันว่า The Trial of the Chicago 7 เกิดขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1960 เป็นผลจากการประท้วงทางการเมืองในเมืองชิคาโก ซึ่งทวีความรุนแรงไปสู่การจลาจลและการปราบปราม

ขณะนั้นอยู่ในช่วงปีแห่งสงครามเวียดนาม ซึ่งอเมริกาส่งทหารไปรบในประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีน

ชาวอเมริกันรุ่นหนุ่ม-สาวและประชาชนที่รักสงบจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน และการที่คนอเมริกันที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จำนวนมากต้องไปตายในดินแดนไกลโพ้นด้วยเหตุผลที่พวกเขาไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วย

ชนวนของเหตุการณ์จลาจลครั้งนี้มีที่มาจากการชุมนุมเพื่อประท้วงการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในชิคาโก ซึ่งกำลังจะมีการเสนอชื่อฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ผู้มีนโยบายโปรสงครามเข้าชิงประธานาธิบดี

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มจัดการชุมนุมขึ้นในสวนสาธารณะใกล้สถานที่จัดประชุม

ในกลุ่มต่อต้านทั้งหลายนั้น มีกลุ่มนักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีทอม เฮย์เดน (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) และเรนนี่ เดวิส (อเล็กซ์ ชาร์ป) เป็นผู้นำ กลุ่มยิปปี้ หรือ Young Hippies หัวรุนแรง ซึ่งมีแอบบี้ ฮอฟแมน (ซาชา บารอน โคเฮน) และเจอร์รี่ รูบิน (เจเรมี สตรอง) เป็นหัวหอก รวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อยุติสงครามในเวียดนาม (Mobe) ซึ่งมีเดวิด เดลลินเจอร์ (จอห์น แคร์รอล ลินช์) เป็นผู้นำแบบสันติวิธี

ดังที่เราทราบกันดี การควบคุมมวลชนไม่ใช่เรื่องง่าย การยั่วยุอารมณ์นำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ดังนั้น เหตุการณ์ของการชุมนุม “อย่างสงบ” จึงรุนแรงถึงขั้นจลาจลและการปราบปรามถึงขั้นที่เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อกันทั้งด้านฝ่ายตำรวจและฝ่ายผู้ชุมนุม

 

หลังจากดูหนังประเภทที่บอกว่าสร้างจากเรื่องจริง ผู้เขียนก็นึกอยากไปค้นดูข้อมูลเพื่อให้ได้รู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงแทบทุกเรื่อง เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมีตัวละครที่เป็นบุคคลจริงหลายคน ซี่งเคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาบ้าง ก็เลยต้องเข้าไปอ่านเป็นการเช็กข้อมูลดู เพื่อไม่ให้เชื่อคล้อยไปตามเรื่องราวในหนังด้านเดียว

ในฐานะนักดูหนังและอยู่ในวงการละครมานาน ผู้เขียนรู้ดีว่าเรื่องราวในหนังหรือละครนั้นจะเป็นเรื่องที่ติดตรึงอยู่ในความจำมากกว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์

และเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอทัศนะหรือมุมมองที่เลือกข้างแล้ว

จะยังไงก็เถอะ นี่ก็เป็นหนังดีที่ควรดูนะคะ

 

ผู้เขียนได้ดูหนังเรื่องนี้ทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อต้นปี ในช่วงที่กำลังเกิดจลาจลจากการที่กลุ่มสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ผู้แพ้การเลือกตั้งแล้วประกาศไม่ยอมแพ้ บุกเข้าคุกคามรัฐสภาอเมริกัน สร้างความตะลึงพรึงเพริด ตระหนกตกใจให้แก่ชาวโลก

ที่ตะลึงพรึงเพริด ก็เพราะได้เห็นจะแจ้งประจักษ์เป็นรูปธรรมในสำนวนโบราณที่ว่า “ขี้แพ้ชวนตี” ก็ครั้งนี้เอง

นั่นคงเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนไม่นึกอยากรีวิวหนังเรื่องนี้ในตอนนั้น เพราะรู้สึกว่าการนำหนังออกฉายในช่วงเวลานั้นดูเหมือนมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ความที่ไม่อยากเป็นส่วนอยู่ในกระแสความเคลื่อนไหวหรือคลื่นใต้น้ำที่ตัวเองก็ยังไม่เข้าใจชัด และคงบวกด้วยเหตุผลอีกหลายประการของการมีหนังเรื่องอื่นๆ ให้เขียนถึงอยู่แล้ว ก็เลยปล่อยผ่านไป

จนมาถึงช่วงการประกาศรางวัลออสการ์นี่แหละ ถึงมานึกได้ว่ายังไม่ได้เขียนถึงหนังเข้าชิงเรื่องนี้เลย เลยกลับไปดูอีกครั้ง

และได้สนุกกับรายละเอียดเพิ่มเติมจากการดูหนแรก

 

การพิจารณาคดีครั้งนี้เป็นการท้าทายคติพจน์ที่ยึดถือกันอยู่ในแวดวงนิติศาสตร์ ที่ว่า “ความยุติธรรมนั้นตาบอด” (Justice is blind) ซึ่งหมายความว่าศาลสถิตยุติธรรมต้องดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมและเที่ยงตรง และพิจารณาข้อเท็จจริงโดยไร้อคติ

เหตุการณ์จลาจลเกิดในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1968 มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าก่อการจลาจลหลายคน แต่อัยการเวลานั้นคือ แรมซีย์ คลาร์ก (ไมเคิล คีตัน) ตัดสินใจไม่ฟ้อง จนครั้นปีต่อมา ภายใต้รัฐบาลของริชาร์ด นิกสัน อัยการคนใหม่ก็มอบหมายให้ริชาร์ด ชุลต์ซ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) ยื่นฟ้องบุคคลแปดคนในคดีก่อจลาจลครั้งนี้

ช่วงแรกสื่อมวลชนเรียกคดีนี้ว่า การพิจารณาคดีของ the Chicago 8 เนื่องจากบ็อบบี้ ซีล (ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่สอง) ผู้นำของกลุ่มแบล็กแพนเธอร์ส ถูกฟ้องพ่วงเข้ามาด้วย และเป็นจำเลยผิวดำเพียงคนเดียวในกลุ่ม

แต่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ระหว่างการดำเนินคดี และการทำให้ศาลกลายเป็นจำอวดจนต้องสั่งให้มีการ “ปิดปากมัดตราสัง” จำเลย ซึ่งนำไปสู่การที่ศาลถูกเรียกว่า “ห้องทรมานยุคกลาง” (medieval torture chamber) บ็อบบี้ ซีล จึงถูกยกฟ้องในคดีร่วมนี้ ทำให้จำเลยเหลือเพียงเจ็ดคน และถูกขนานนามใหม่ว่า the Chicago 7

หนังพราวพรายไปด้วยนักแสดงชั้นนำมากหน้าหลายตา และทำให้บทบาทของซาชา บารอน โคเฮน เป็นที่ต้องตาใครๆ แม้แต่ไมเคิล คีตัน ซึ่งมีบทไม่มาก แต่ก็ยากที่จะลืมเลือน

ผู้เขียนชอบมาร์ก ไรแลนซ์ มาตั้งแต่เขาเล่นเป็นจารชนโซเวียตใน Bridge of Spies ร่วมกับทอม แฮงส์ ในหนังเรื่องนี้ก็ชอบอีกนั่นแหละ

อ้อ ขอออกนอกเรื่องหน่อยว่าหนึ่งในชิคาโกเซเว่นคือ ทอม เฮย์เดน ในชีวิตจริง เป็นหนึ่งในอดีตสามีของเจน ฟอนดา ผู้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนกัน เขาลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา และเล่นหนังอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน

หนังให้น้ำหนักแก่เหตุการณ์จริงอยู่มาก โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในศาล อคติของผู้พิพากษาและความพยายามสร้างความวุ่นวายหรือ “แหย่หนวดเสือ” ท้าทายอำนาจศาล

กระนั้นโดยรวมแล้วหนังก็ไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของทัศนะ “ตาบอด” ตามคติพจน์ของความเที่ยงธรรมเสียทีเดียว

เห็นได้ว่าตาชั่งของผู้เขียนบทหนัง ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ ด้วยคือ อารอน ซอร์กิน เอนเอียงอยู่ด้านไหน

อย่างไรเสียก็เป็นหนังที่น่าดูมากค่ะ