คนมองหนัง : ระลึกถึง ‘กุลวัฒน์ พรหมสถิต’ ‘เสียงดนตรี’ และ ‘ประชาธิปไตย’

คนมองหนัง

 

ระลึกถึง ‘กุลวัฒน์ พรหมสถิต’

‘เสียงดนตรี’ และ ‘ประชาธิปไตย’

 

“บางทีกลางวันช่างดูเนิ่นนาน บางทีกลางคืนผ่านไปดูเหมือนไม่สิ้นสุด บางทีความจริงที่รอพิสูจน์ ไม่มีใครรู้ไปจนวันตาย บางทีในฝันเธอไม่เดียวดาย”

เพลง “Lullaby” คำร้องโดย “วลี” (มณฑวรรณ ศรีวิเชียร)

ทำนอง-เรียบเรียงโดย “กุลวัฒน์ พรหมสถิต”

 

ย้อนไปเมื่อปี 2536 ละครโทรทัศน์เรื่อง “ยามเมื่อลมพัดหวน” ซึ่งผลิตโดยบริษัทเอ็กแซ็กท์ในเครือแกรมมี่และออกอากาศทางช่อง 5 อาจเป็นที่ประทับใจของใครหลายคน จากจุดเด่นนานาประการ

ทั้งเพราะการบินไปถ่ายทำละครกันในทวีปยุโรป, การนำแสดงโดยดาราคู่ขวัญยุคนั้น คือ “เจ-เจตริน วรรธนะสิน” และ “หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส” และคงมีไม่น้อยที่ชื่นชอบเพลงประกอบละครซึ่งใช้ชื่อว่า “ยามเมื่อลมพัดหวน” เช่นกัน

ผมก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนประเภทหลังสุด และเมื่อหาซื้อเทปเพลงประกอบละครมาฟัง พร้อมเปิดอ่านเครดิตต่างๆ บนปกเทปตามไปด้วย จึงได้พบว่าผู้เขียนคำร้องของเพลงดังกล่าว คือ “มณฑวรรณ ศรีวิเชียร” ส่วนผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีมีนามว่า “กุลวัฒน์ พรหมสถิต”

หลังจากนั้น ผมจึงพยายามติดตามผลงานของ “มณฑวรรณ-กุลวัฒน์” อยู่เสมอมา

ผลงานเพลง “ยามเมื่อลมพัดหวน” ถือเป็น “จุดเชื่อมโยงสำคัญ” ซึ่งจะนำพาพวกเราไปทำความรู้จักกับ “กุลวัฒน์” ได้ในหลายแง่มุมหลากช่วงตอน

ด้านหนึ่ง กุลวัฒน์คือคนทำเพลงประกอบละครฝีมือดีในยุคสมัยที่ธุรกิจดนตรีและธุรกิจโทรทัศน์เริ่มเชื่อมร้อยสอดประสานกัน

นอกจาก “ยามเมื่อลมพัดหวน” เขากับมณฑวรรณยังร่วมกันแต่งเพลง “เพื่อเธอ” สำหรับละครทีวีชื่อเดียวกัน และแต่งเพลง “ด้วยมือของเธอ” (เขียนคำร้องโดย “ธนา ชัยวรภัทร์”) ประกอบละครเรื่อง “คือหัตถาครองพิภพ” เป็นต้น

การทำเพลงประกอบละครคงช่วยผลักดันให้กุลวัฒน์มองเห็น “ความเป็นไปได้อื่นๆ” เช่น เมื่อลาออกจาก “แกรมมี่” กุลวัฒน์ได้เปิดโปรดักชั่นเฮาส์อิสระและรับดูแลการผลิตผลงานชุด “เด็กหลังห้อง” ของ “แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง” (ผู้เคยฝากเสียงร้องไว้ในเพลง “เพื่อเธอ”) ซึ่งนับเป็น “มินิอัลบั้มนอกค่ายใหญ่” ที่ขายดีมาก ณ ยุคสมัยหนึ่ง

 

ขณะเดียวกัน การเขียนเพลงละครกลุ่มดังกล่าวก็ล้วนเป็นการปฏิบัติงานภายใต้ชายคา “(จีเอ็มเอ็ม) แกรมมี่”

กุลวัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ว่า อดีตทีมแต่งเพลงประจำรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” เช่นเขา ได้ติดตามยอดนักเขียนคำร้องอย่าง “ประชา พงศ์สุพัฒน์” เข้ามาทำงานกับหนึ่งในสองค่ายเพลงหลักแห่งทศวรรษ 1990

จึงไม่แปลกอะไรที่ “สุรักษ์ สุขเสวี” จะรำลึกว่ากุลวัฒน์เคยทำงานอยู่ในทีมผลิตเพลงของ “กริช ทอมมัส (นายตี่)” ซึ่งมีชื่อเคียงคู่กับ “(นาย) ประชา” อยู่บนเครดิตของหลายๆ ปกเทป

นอกจากนี้ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ยังเคยเล่าให้ผมฟังว่า “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” ผู้บริหารแกรมมี่ยุคนั้น คือคนพากุลวัฒน์เข้ามาทำงานในโปรดักชั่นทีมของเขา ก่อนที่พนเทพจะได้ทราบว่ากุลวัฒน์มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้องของตน

ผลงานเพลงประกอบละครหลายๆ เรื่องก็ดี การมีสถานะเป็นผู้เรียบเรียงดนตรีเพลง “ขีดเส้นใต้” ของ “กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี” ก็ดี ล้วนยืนยันว่ามีช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งกุลวัฒน์ทำงานอยู่ในทีมแต่งเพลงภายใต้การดูแลของ “พนเทพ”

ชีวิตในแกรมมี่ของกุลวัฒน์คงจะโลดโผนพลิกผันพอสมควรตามประสาคนหนุ่มไฟแรง ดังที่เจ้าตัวได้โพสต์สถานะในเฟซบุ๊ก (มากกว่าหนึ่งครั้ง) โดยอ้างอิงถึงคำพูดที่ “เต๋อ เรวัต” เคยกล่าวกับเขาว่า “ไอ้ต้อ มึงหายบ้าแล้วมาหากูนะ”

 

ปี 2540 “กุลวัฒน์ พรหมสถิต” กลายมาเป็น “ศิลปินหน้าใหม่” ที่ออกสตูดิโออัลบั้มชุดแรกและชุดเดียวของตนเองชื่อ “Just a Song” กับสังกัด “โอ! มาย ก็อด” ซึ่งมี “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” เป็นหัวเรือหลักทางด้านดนตรี

นี่เป็นงานที่กุลวัฒน์รับเหมาร้อง-แต่งทำนอง-เรียบเรียง แถมยังเล่นดนตรีบันทึกเสียงเองเกือบทั้งหมด โดยมีนักเขียนคำร้องที่อยู่ใน “ทีมพนเทพ” มาช่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น “เดอะ มัสต์ กฤชยศ เลิศประไพ” “มณฑวรรณ ศรีวิเชียร” และ “ธนา ชัยวรภัทร์”

นอกจากผลงานสุดไพเราะที่เป็น “เพลงฮิตเพลงเดียว” ของเขาอย่าง “ไม่บังเอิญ” (ซึ่งกุลวัฒน์เคยโพสต์เล่าว่าเป็นเพียงเพลงเดียวในอัลบั้มที่ “พนเทพ” เข้ามา “คุมร้อง” ด้วยตัวเองถึงห้องบันทึกเสียง)

อัลบั้มชุดนั้นยังเต็มไปด้วย “เพลงเพราะ-เพลงฟัง” อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงจังหวะกลางๆ สนุกๆ เช่น “มันลำบาก” “หนึ่งในนั้น” และ “ปรากฏการณ์”

เพลงเศร้าที่มีเสียงกีตาร์โซโล่บาดหัวใจอย่าง “เสียใจจริงๆ” (สำหรับผม เพลงนี้มีความคล้ายคลึงและดีเด่นพอๆ กับ “เห็นใจกันหน่อย” ของ “ดิ อินโนเซ้นท์”) เพลงชื่อ “รัก” ที่แฝงอารมณ์หม่นเศร้า ผนวกด้วยเสียงดนตรีสุดเกรี้ยวกราด เพลงชื่อ “เกลียด” ที่แฝงอารมณ์ประชดประชัน แต่มีงานภาคดนตรีที่ฟังดู “สว่างไสว” กว่าเพลง “รัก”

เพลงเนื้อหาคมคายอย่าง “Lullaby” ที่กุลวัฒน์นำมาร้อง-บันทึกเสียงใหม่ หลังจากผลงานในเวอร์ชั่นแรกถูกขับร้องโดย “เดอะ มัสต์”

รวมถึงเพลงบรรเลงสั้นๆ ชื่อ “My Song” ที่มีท่วงทำนองติดหูและเรียบเรียงดนตรีอย่างแพรวพราว แม้กุลวัฒน์เคยออกตัวว่านี่เป็นเพลงสุดท้ายของอัลบั้มที่ถูกผลิตขึ้นอย่างมั่วๆ ลวกๆ ในห้วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายก่อนจะต้องปิดงาน

 

ในวัย 15-16 ปี ผมสามารถนั่งฟังซีดีอัลบั้ม “Just a Song” ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ระหว่างนั่งรถยนต์ทางไกลกินเวลายาวนาน 8-9 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ผมก็ชอบเปิดอ่านปกซีดีของผลงานชุดนี้ ที่นอกจากจะมีเนื้อเพลง-รายชื่อคนทำเพลงเป็นปกติแล้ว กุลวัฒน์ยังเขียนเล่าชีวประวัติของตนเองเอาไว้สั้นๆ เริ่มตั้งแต่ช่วงที่หัดเล่นดนตรีเมื่ออายุ 11 ปี จนถึงช่วงที่เขาลาออกจากการทำงานในสังกัดใหญ่

ข้อเขียนบนปกเทป/ซีดีดังกล่าว ทำให้ผู้ฟังได้มองเห็น “ที่มา” ของคนดนตรีผู้นี้เด่นชัดขึ้น ผ่านสายสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การเคยเป็นนักดนตรีชายคนเดียวในวง “ไมตี้ควีน” (วงดนตรีหญิงล้วนที่มี “วรัชยา พรหมสถิต” พี่สาวของกุลวัฒน์และนักแต่งคำร้องคนสำคัญอีกรายของแกรมมี่ เป็นสมาชิก)

หรือการเคยเข้าไปทำงานเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่บริษัท “บัตเตอร์ฟลาย” ผ่านการชักนำของเพื่อนอย่าง “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” (ปุ้ม วงตาวัน)

 

เมื่อค่าย “โอ! มาย ก็อด” ยุติกิจการ พี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนของกุลวัฒน์ยังคงมีผลงานเบื้องหน้าและ/หรือกลับไปเป็นทีมงานเบื้องหลังในสังกัด “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่”

ขณะที่กุลวัฒน์เลือกเดินบนทางอีกเส้น เขาข้ามฟากไปทำนิตยสารแนวบันเทิงชื่อ “disc@zine” ที่วางจำหน่ายในระยะสั้นๆ ต่อมา เขาก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารที่ดูแลงานด้านการบันทึกเสียงของ “อาร์เอส” อยู่พักใหญ่

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้แฟนเพลงจะเห็นชื่อของกุลวัฒน์ปรากฏอยู่ตรงส่วนงาน “บันทึกเสียง” เป็นหลัก แต่เขาก็ยังมีส่วนร่วมแต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีให้ศิลปินดังๆ จำนวนหนึ่ง เช่น “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” “โบ-สุนิตา ลีติกุล” และ “ดัง-พันกร บุณยะจินดา” เป็นต้น

แม้ชื่อ “กุลวัฒน์ พรหมสถิต” จะค่อยๆ ร้างลาไปจากการรับรู้ของสาธารณชน แต่เขากลับมีส่วนร่วมกับ “ชุมชนออนไลน์” อย่างกระตือรือร้น ตั้งแต่ยุค patid.com (เว็บไซต์/เว็บบอร์ดสำหรับคนที่สนใจงานด้านการบันทึกเสียง) จนถึงยุคเฟซบุ๊ก

ราวห้าปีก่อน ผมมีโอกาสได้เป็น “เพื่อน” กับกุลวัฒน์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งสายสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยให้ผม “รู้จัก” คนดนตรีผู้นี้อย่าง “กว้าง” และ “ลึก” ยิ่งขึ้น

ผมได้อ่านเกร็ดเรื่องราวเบื้องหลังผลงานเพลงต่างๆ ที่กุลวัฒน์มีส่วนร่วมแต่ง รวมถึงประสบการณ์ในช่วงที่เขาออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศกับ “อัสนี-วสันต์” ในบทบาทมือคีย์บอร์ด-โปรแกรมเมอร์-ซาวด์เอ็นจิเนียร์

ผมค้นพบว่าไม่เพียงกุลวัฒน์จะเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชนิด หากเขายังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องวิศวกรรมเสียง รวมถึงการออกแบบ-ก่อสร้างห้องบันทึกเสียง (ซึ่งเป็นงานหลักในช่วงปัจฉิมวัย) ตลอดจน “งานช่าง-งานเทคนิค” แขนงอื่นๆ (ตั้งแต่สร้าง-ซ่อมเครื่องดนตรี ไปถึงการรีโนเวตบ้านเรือน) ที่มากมายมหาศาลจนน่าทึ่ง

โดยเฉพาะหากคำนึงว่ากุลวัฒน์เป็นนักดนตรี-คนเบื้องหลังที่เริ่มต้นทำงานด้านเสียงเพลงมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนไม่ได้ผ่านการศึกษาในระบบ หรือมีดีกรีดุริยางคศาสตร์-วิศวกรรมศาสตร์-สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตติดตัว

เขาจึงเป็นคนกลุ่มที่สั่งสมประสบการณ์-องค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาด้วยความขวนขวายของตนเอง คล้ายๆ กับมิตรสหายร่วมรุ่น เช่น “ชาตรี คงสุวรรณ” และ “พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา”

แต่จากคำบอกเล่าของ “เดอะ มัสต์” สองคนหลังกลับเคยพูดในทำนองเดียวกันว่ากุลวัฒน์นั้นเก่งกว่าพวกเขาเยอะ

กระทั่งได้รับฉายา “แม็กกายเวอร์” จากเหล่าคนใกล้ชิด และถูกยกย่องให้เป็น “อัจฉริยะ” จากพี่เพื่อนน้องร่วมวงการ

 

ที่สำคัญที่สุดคือ กุลวัฒน์ได้แสดงทัศนะทางการเมืองของตนเองอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะในเฟซบุ๊ก

จุดยืนอันชัดเจนของเขา ได้แก่ การเลือกอยู่ข้างระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร และวิจารณ์อำนาจนอกระบบทั้งหลาย

สำหรับแฟนเพลงเช่นผมที่พยายามแบ่งแยก “เพลงที่เราเคยชอบ” หรือ “ศิลปินที่เราเคยยกย่อง” ออกจากจุดยืนทางการเมือง ณ ปัจจุบันของพวกเขา (ซึ่งหลายคนเพิกเฉยต่อหลักการ/สามัญสำนึกบางประการไปอย่างน่าผิดหวัง)

การแสดงจุดยืนทางการเมืองในหน้าเฟซบุ๊กของกุลวัฒน์ (ตลอดจนเพื่อนๆ พี่ๆ ศิลปินอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาสนทนาการเมืองกับเขา) กลับทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นใจว่าเราไม่จำเป็นจะต้องตัดขาด “อดีตอันงดงาม” ออกจาก “ปัจจุบันอันเลวร้าย” เสมอไป

บ่อยครั้ง โพสต์เรื่องการเมืองของกุลวัฒน์นั้นช่วย “ปลุกหวัง” ในใจผม ซึ่งหมายถึงการมี “ความรู้สึกไม่ผิดหวัง” เนื่องจาก “ความทรงจำ” และ “วันวาน” ของเรา มันไม่ได้สูญเปล่า-ไร้ค่าไปเสียทั้งหมด

เพราะยังมีใครบางคนใน “อดีต” ครั้งนั้น ที่ฝันถึง “อนาคต” อย่างสอดคล้องกับเรา

แม้เขาจะด่วนหมดลมหายใจไปก่อน ณ “ปัจจุบัน”