ภาพยนตร์ : THE FATHER ‘ใบไม้ร่วง’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

THE FATHER

‘ใบไม้ร่วง’

 

กำกับการแสดง

Florian Zeller

นำแสดง

Anthony Hopkins

Olivia Colman

Olivia Williams

Rufus Sewell

Imogen Poots

 

นอกจากเรื่องราวชีวิตในวัยไม้ใกล้ฝั่งที่เตือนใจให้นึกถึงสัจธรรมอันเที่ยงแท้ของความไม่เที่ยงของชีวิต ซึ่งทำให้ใครหลายคนต้องมองย้อนมาพิจารณาชีวิตของตัวเองด้วยความสะท้อนสะท้านสะเทือนใจแล้ว The Father ยังโดดเด่นด้วยการมีนักแสดงฝีมือเยี่ยมสองคนมาสวมบทบาทหลักอันแสดงความสัมพันธ์และความผูกพันในครอบครัว

สองนักแสดงฝีมือเก๋าคือ แอนโธนี ฮอปกินส์ และโอลิเวีย คอลแมน ซึ่งต่างก็แสดงฝีมือให้ประจักษ์ชัดมาแล้วด้วยรางวัลยอดเยี่ยมที่เคยได้รับและจะเป็นที่จดจำไปตลอด ฮอปกินส์ในบทไม่รู้ลืมของฮันนิบาล เล็กเตอร์ และคอลแมนในบทของราชินีในหนังเรื่อง The Favorite และในซีรีส์ The Crown

หนังสร้างจากบทละครชื่อเดียวกันของฟลอเรียน เซลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับฯ เอง โดยร่วมเขียนบทหนังเองด้วย และเป็นบทหนังที่ได้รับรางวัลบทยอดเยี่ยมที่ดัดแปลงมาจากสื่ออื่น

อดไม่ได้ที่จะนึกถึงหนังฝรั่งเศสชื่อ Amour ซึ่งโด่งดังในแวดวงนานาชาติเมื่อเก้าปีที่แล้ว ในแง่ที่เป็นเรื่องของคนในวัยไม้ใกล้ฝั่งที่ชีวิตทั้งชีวิตกำลังจะมลายหายและกระจัดกระจายไปไม่เหลือแก่นสาร

เว้นจากประเด็นของการเผชิญหน้ากับโรคที่น่าขยาดของวัยชรานี้แล้ว หนังสองเรื่องก็ไม่มีอะไรเหมือนกันนัก โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์ของตัวละคร

แต่หนังทั้งสองเรื่องก็เป็นเรื่องราวที่กระทบใจพอๆ กัน

ไม่ใช่หนังเศร้าที่บีบหัวใจให้ต้องร้องไห้สะอึกสะอื้นหรือปล่อยโฮๆ นะคะ แต่ก็ทำให้อึ้งไปนานหลังจากหนังจบนั่นแหละ

 

แอนโธนี (แอนโธนี ฮอปกินส์) ในวัยแปดสิบอาศัยอยู่ในแฟลตหรูหราของตัวเองในลอนดอน เขามีลูกสาวชื่อแอนน์ (โอลิเวีย คอลแมน) แวะเวียนมาดูแลและจ้างคนมาช่วยดูแลระหว่างวัน

เมื่อเปิดเรื่อง แอนน์ต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาให้เพราะแอนโธนีเพิ่งไล่ตะเพิดคนดูแลไปโดยหาว่าขโมยนาฬิกาข้อมือของเขาไป แอนน์กำลังจะย้ายตามแฟนใหม่ไปอยู่ปารีสและต้องจัดการเรื่องพ่อซึ่งเริ่มจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ และอารมณ์เสียบ่อยๆ ให้เรียบร้อย

ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่การนำเสนอจากมุมมองของแอนโธนีเป็นส่วนมาก เราจึงสับสนไปตามตัวละครตัวนี้ว่าใครเป็นใคร และอะไรจริงอะไรไม่จริง

อาทิ แอนโธนีเดินไปเจอผู้ชายคนหนึ่ง (มาร์ก กาลิสส์) นั่งอ่านหนังสืออยู่ในบ้านและถามว่าเขาเป็นใคร เขาตอบว่าก็พอลไงล่ะ และเมื่อถามว่าเขามาทำไม เขาก็ตอบว่าเขาอยู่บ้านนี้มาสิบปีแล้ว และนี่เป็นแฟลตของเขา

เมื่อแอนโธนีเริ่มออกอาการคลุ้มคลั่ง ผู้ชายคนนั้นต้องโทรศัพท์ตามตัวแอนน์มาเพื่อยืนยัน และผู้หญิงที่กลับบ้านมา (โอลิเวีย วิลเลียมส์) บอกว่าเธอคือแอนน์ลูกสาวเขา และเธออยู่ในแฟลตนี้ตามลำพัง เนื่องจากหย่าขาดจากสามีมาห้าปีแล้ว

แอนโธนีงุนงงมากขึ้นทุกที เพราะเขาเพิ่งเห็นคนที่บอกว่าชื่อพอลรับถุงไปจากมือคนที่บอกว่าชื่อแอนน์ แล้วเดินเข้าไปในครัว

สิ่งหนึ่งที่แอนโธนีกังวลห่วงหาอยู่ตลอดเวลาคือนาฬิกาข้อมือของเขา ซึ่งเขาคิดว่าถูกขโมยไป ทั้งๆ ที่อันที่จริงเขาเก็บซ่อนไว้ในตู้ใต้อ่างอาบน้ำ

 

ผู้เขียนชอบองค์ประกอบของพล็อตในเรื่องนาฬิกาข้อมือนี้มาก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้นึกไปถึงความหมายที่กว้างไกลเกินกว่านั้น จะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ และเป็นสัญลักษณ์ที่ทำได้อย่างแนบเนียนประสานสนิทอยู่กับเรื่องราว

นาฬิกาเป็นสิ่งบอกเวลา และชีวิตเป็นการเดินทางในเวลา

แอนโธนีวิตกกังวลอยู่เสมอกับการถูกขโมยเวลาหรือการทำเวลาตกหล่นสูญหายหรือหมดไป เขาตระหนักว่าชีวิตเขาขึ้นอยู่กับเวลา ที่จะบอกได้ว่าตอนเช้าหรือตอนเย็น ตอนกินหรือตอนนอน แต่เขาก็สับสนเรื่องเวลาอยู่เสมอ บางครั้งเวลาก็หายไปโดยไม่รู้ตัวจากเช้าเป็นเย็น

ดังนั้น ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนเสื้อจากชุดนอนเป็นชุดกลางวันจึงกลับมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ บางทีเขาก็บอกว่าจะต้องเปลี่ยนกลับไปกลับมาทำไม เพราะเดี๋ยวก็ต้องเข้านอนอีกแล้ว

 

ประเด็นที่ทำให้แอนโธนีสับสนวนเวียนอยู่กับเรื่องเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น นาฬิกาข้อมือหายไปไหน คนแปลกหน้าที่เจอนั้นเป็นใคร ทำไมใครๆ จึงมาอยู่ในแฟลตของเขา ไก่ที่ลูกสาวซื้อมาอบเป็นอาหารเย็น รูปเขียนที่แขวนบนผนังห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นภาพเขียนฝีมือลูกสาวอีกคนชื่อลูซี่ ซึ่งเขาไม่ได้เจอหน้ามานานแล้ว ฯลฯ

แอนโธนีเป็นชายที่น่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้เชื่อมั่นในตัวเองและภูมิใจว่าตัวเองเป็นคนฉลาดหลักแหลมเกินใคร ใครก็มาหลอกเขาไม่ได้ เขาจึงโกรธนักหนาเมื่อรู้สึกว่าโดนหลอก แต่มันสมองของเขากำลังทรยศ เขาสูญเสียอำนาจในการควบคุมชีวิตตัวเอง

สูญเสียความสามารถในการเข้าใจชีวิตว่าอะไรเป็นอะไร จากวิศวกรที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ท้ายที่สุดเขาก็กลับกลายเป็นเด็กน้อยที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ร้องเรียกหาแม่ (ที่คงต้องเสียชีวิตไปนานแล้ว)

พร้อมกับความรู้สึกที่หลุดจากปากตัวเองว่า “ใบไม้ของเขากำลังร่วงไปหมด”

ถึงตรงนี้คงถึงบางอ้อแล้วนะคะ ว่าทำไมถึงได้จั่วหัวเรื่องไว้ว่า “ใบไม้ร่วง”

 

เป็นหนังที่แนะนำให้ดูอย่างยิ่งค่ะ

…เศร้า…แต่ไม่ได้เศร้าสลดรันทดท้อ…

…อึ้ง…แต่ไม่ได้หนักอึ้ง…

ชีวิตตั้งอยู่บนกาลเวลา และนี่คือความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครบงการได้