คนมองหนัง l ‘เอหิปัสสิโก’ : ‘ธรรมกาย’ นอกและในจอภาพยนตร์

คนมองหนัง

 

‘เอหิปัสสิโก’

: ‘ธรรมกาย’ นอกและในจอภาพยนตร์

 

“เอหิปัสสิโก” (กำกับฯ โดย “ณฐพล บุญประกอบ”) ภาพยนตร์สารคดีที่มุ่งสำรวจประเด็นว่าด้วยการดำรงอยู่ของ “วัดพระธรรมกาย” ในสังคมไทย ผ่านมุมมองของนักวิชาการ, สาวก-ผู้ศรัทธา และฝ่ายต่อต้าน โดยมีไคลแมกซ์สุดท้ายอยู่ที่การบุกปิดล้อมตรวจค้นวัดดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อ พ.ศ.2560

กลายเป็นหนังสารคดีอิสระไทยที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมจำนวนมากและถูกถกเถียงพูดถึงในวงกว้าง เกินกว่ามาตรฐานของ “หนังสารคดีทั่วไป” กระทั่ง “หนังไทยส่วนใหญ่” ในระยะหลัง (โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดหลายระลอกของโควิด-19)

เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ผมกลับคิดถึงเรื่องราวอื่นๆ นอกโรงภาพยนตร์ มากพอๆ หรืออาจมากกว่าเหตุการณ์-กระแสความคิดประสบการณ์ทั้งหลายที่ดำเนินไปในจอหนัง

 

รูปธรรมประการแรกที่ผมพลันนึกถึงขึ้นทันทีหลังเดินออกจากโรงภาพยนตร์ ก็คือ “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” พระพุทธรูปขนาดมหึมาที่กำลังได้รับการก่อสร้าง ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของฝั่งธนบุรีตั้งแต่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

เพราะนี่คือประจักษ์พยานสำคัญที่บ่งชี้พิสูจน์ว่าจากปี 2560 จนถึง 2564 รัฐไทยยังไม่สามารถทุบทำลาย “วัดพระธรรมกายและเครือข่ายสายวัดปากน้ำ” ลงได้อย่างเด็ดขาด

เนื่องจากแม้จะโดนรัฐไทย “ตัดขาด-ถอยห่าง-ผลักไส” ผ่านการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นวัด การถอดสมณศักดิ์พระผู้ใหญ่ของวัดพระธรรมกาย และการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจการปกครองคณะสงฆ์ กระทั่งความเป็นศูนย์กลางอำนาจหลุดลอยออกจากวัดปากน้ำ

ทว่า “เครือข่ายธรรมกาย-วัดปากน้ำ” กลับมีศักยภาพในการเป็น “สังฆะ” หรือ “ชุมชนทางศาสนา-ความเชื่อ” ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ผ่านคำประกาศในเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า ต่อให้จุดเชื่อมโยง-พึ่งพิงที่ “วัด” เคยถักสานเอาไว้กับ “อำนาจรัฐไทย” ถูกตัดขาดลง แต่ “วัด” และเหล่าผู้ศรัทธาก็ยังคงตั้งมั่นรวมพลังกันอย่างกล้าแกร่ง เฉกเช่น “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” ที่ยังถูกสร้างเสริมเติมต่อขยายใหญ่ออกไปได้เรื่อยๆ มิหยุดหย่อน

ภาพจาก Facebook คุณ Sila Piyatammarat https://web.facebook.com/babyboy2528

อีกแง่หนึ่ง พระพุทธรูปอันดึงดูดสายตามวลชน ณ วัดปากน้ำ และ “มหาธรรมกายเจดีย์” ที่วัดพระธรรมกาย ก็อาจมีสถานภาพเป็น “รูปธรรมขนาดมหึมา” ซึ่งเน้นย้ำถึง “ความเป็นสถาบัน” ที่มั่นคง (และหวังว่าจะสถาวร) ของ “เครือข่ายธรรมกาย-วัดปากน้ำ”

น่าตั้งคำถามว่า “ความเป็นสถาบัน” และ/หรือ “ความมุ่งมาดปรารถนาจะดำรงตนเป็นสถาบัน” เช่นนี้ ก่อกำเนิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยใดบ้าง?

แม้ด้านหนึ่ง ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา “เครือข่ายวัด” กลุ่มนี้จะสามารถพิสูจน์ว่าพวกตนยังสามารถดำรง “ความเป็นชุมชนทางศาสนา” อยู่ได้ แม้ปราศจาก “อำนาจรัฐ” ค้ำจุน

แต่หากพิจารณาอีกด้าน “ความเป็นสถาบัน” ของเครือข่าย ก็อาจเกิดสืบเนื่องมาจากความพยายามที่เคยจะยึดโยงตัวเองเข้ากับสถาบันจารีตและประสานผนึกแน่นกับอำนาจรัฐ (จากมหาเถรสมาคมไปจนถึงการระดมจัดตั้งผู้คน-เยาวชนผ่านกลไกของสถาบันการศึกษา) เมื่อครั้งอดีต

ตลอดจนการมีลักษณะ “พันลึก” ยึดโยงกับบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ เช่น เป็นที่ทราบกันดีว่า “ศิษย์เอกธรรมกาย” นั้นมีทั้งที่เป็นมหาเศรษฐีเสื้อแดงและมหาเศรษฐีเป่านกหวีด ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามีบุคลากรภาครัฐระดับสูงจำนวนไม่น้อยที่ยัง (แอบ) เป็นศิษย์ธรรมกายอยู่

หรือในยุคสมัยหนึ่ง ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบหนึ่ง “เครือข่ายวัดพระธรรมกาย” ก็มีพลังมากพอจะหนุนส่งคนเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้แบบสบายๆ

ดังนั้น แม้โครงข่ายความสัมพันธ์กับสถาบันทางสังคม-การเมืองอื่นๆ จะหดหายไปพอสมควรในระยะไม่กี่ปีหลัง ทว่า “ต้นทุนความเป็นสถาบัน” ที่ “เครือข่ายธรรมกาย-วัดปากน้ำ” สั่งสมมาในอดีต ก็มีมากเพียงพอจะทำให้ “สถาบันศาสนาทางเลือก” กลุ่มนี้สามารถยืนหยัดประคับประคองตัวเองต่อไปได้

พูดอีกอย่าง คือ “เครือข่ายพุทธศาสนาทางเลือก” ชนิดนี้ มิได้ดำรงตนอยู่อย่างแข็งแรงด้วยพลังหรือจิตวิญญาณแห่งการ “ต่อต้าน-ท้าทายอำนาจรัฐ” แต่เป็นเพราะมันวางรากฐานอยู่บน “ความเป็นสถาบัน” และ “โครงข่ายอำนาจอันสลับซับซ้อน” ที่ตัวเองบ่มเพาะเอาไว้มายาวนาน

 

จุดเด่นหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “เอหิปัสสิโก” โดย “ณฐพล บุญประกอบ” อยู่ที่การตามสัมภาษณ์เจาะลึกบรรดา “สาวก/ศิษย์ธรรมกาย” ซึ่งเป็นสามัญชนคนธรรมดา ถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และความผูกพันที่พวกเขา/เธอมีต่อวัด

รวมถึงการจับภาพพิธีกรรมและสถานการณ์ร่วมใจสู้ท่ามกลางภาวะตึงเครียดต่างๆ ที่รายล้อม “วัดพระธรรมกาย” ในช่วงปี 2560

นี่คือชุดเหตุผลซึ่งช่วยฉายภาพให้เรามองเห็นคำตอบเบื้องต้นต่อคำถามที่ว่า ทำไม “ชุมชนวัดพระธรรมกาย” จึงไม่พังทลายลงเพราะแรงกดดันของรัฐ?

เท่ากับว่าคนดูจะได้สัมผัสกับ “ชีวิตอันเปี่ยมพลวัตครึ่งหนึ่ง” ของ “เครือข่ายธรรมกายฯ”

แต่ขณะเดียวกัน คงต้องยอมรับว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ยังมิได้นำพาสาธารณชนไปสืบค้น-ทำความเข้าใจถึง “ความเป็นสถาบัน” หรือ “กลไกอำนาจ” ข้างใน “วัดพระธรรมกาย”

ตัวอย่างชัดเจนที่ปรากฏในหนัง คือการที่ผู้กำกับฯ สามารถตามสัมภาษณ์วิศวกรอาวุโสผู้นับถือ “วัดพระธรรมกาย” ไปได้ระดับหนึ่ง ก่อนที่กระบวนการพูดคุยส่วนนี้จะยุติลง เมื่อบุคคลผู้นั้นตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุของวัดดังกล่าว

นี่อาจนำมาสู่ “รอยโหว่ในการแสวงหาความรู้” จุดหนึ่งของหนัง (และของสื่อมวลชนไทยทั้งหมด) นั่นคือจนบัดนี้ยังไม่มีใครสามารถตอบคำถามแบบชัดๆ ได้ว่า ตกลง “พระธัมมชโย” หายตัวไปไหน? และหลบหนีการจับกุมไปได้อย่างไร?

(คนดูภาพยนตร์จะได้ยินเรื่องราวแง่ลบและแง่บวกของ “พระธัมมชโย” จากปากคำของ “มโน เลาหวณิช” และ “พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส” เป็นหลัก)

ดังนั้น แม้หนังสารคดีของณฐพลจะพาผู้ชมลัดเลาะไปซึมซับกับมิติทางด้าน “อุดมการณ์” ของคนเล็กคนน้อยที่นับถือศรัทธาใน “วัดพระธรรมกาย” ได้ละเอียดลออ แต่กลับยังเข้าไม่ค่อยถึงมิติ “ความเป็นสถาบัน” ที่มีส่วนสำคัญในการค้ำยันเครือข่ายวัดแห่งนี้เอาไว้

 

อย่างไรก็ดี คุณประโยชน์ข้อหนึ่งของ “เอหิปัสสิโก” คือการช่วยย้ำเตือนให้คนดูระลึกว่าการพยายามจัดการ “กรณีธรรมกายและเครือข่าย” ถือเป็นภารกิจสำคัญในกิจการด้านศาสนาลำดับแรกๆ ของกลุ่มผู้ถือครองอำนาจรัฐไทยหลังรัฐประหาร 2557 และการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย

ที่สำคัญ นี่ดันเป็น “ภารกิจที่ไม่สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์” เสียด้วย กระทั่งหนึ่งในมือโค่นธรรมกาย-ปฏิรูปพุทธศาสนายุคนั้น อย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ได้ถูกจดจำจากสาธารณชนในปัจจุบัน ด้วยภาพลักษณ์ (ไม่บวก) ด้านอื่นๆ เสียแล้ว

“กรณีธรรมกาย” จึงกลายเป็น “งานใหญ่งานยาก” เกินกว่าจะถูกเคลียร์ให้ราบคาบได้อย่างราบรื่นปลอดโปร่งตั้งแต่คราวแรก

ณ ปี 2564 “พระพุทธธรรมกายเทพมงคล” และ “มหาธรรมกายเจดีย์” จึงยังตั้งตระหง่านอยู่อย่างยิ่งใหญ่ ส่วนมวลชนผู้ศรัทธาต่อ “เครือข่ายธรรมกาย-วัดปากน้ำ” และองค์กรผู้มีอำนาจจัดการเครือข่าย ก็ยังสามารถสืบทอด “ความเป็นชุมชน-ความเป็นสถาบัน” ต่อไปได้ไม่สิ้นสุด โดยไม่ต้องข้องเกี่ยวใกล้ชิดกับ “อำนาจรัฐไทย”

ขณะที่ “คณะสงฆ์กระแสหลัก” ของภาครัฐเอง ก็ดำรงอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองและระบบเกียรติยศอันพลิกผันแปรเปลี่ยนไป โดยพยายามแยกขาดหรือวางตัวให้เหินห่างมากที่สุดจาก “วัดพระธรรมกายและเครือข่าย” รวมทั้ง “ความเชื่อแบบพุทธนอกกระแสแขนงอื่นๆ” ที่สำแดงผ่านปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่างๆ เช่น กรณีพระสงฆ์ใช้กิโยตินตัดหัวตนเองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

นี่คือภาวะต่างคน (กลุ่ม) ต่างอยู่ จนไม่อาจร่วมกันตอบคำถามสามัญที่ “อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์” ตั้งเอาไว้ในหนังสารคดีเรื่องนี้ได้ว่า “พุทธศาสนา” มี “หน้าที่” อะไรในสังคมสมัยใหม่?