ภาพยนตร์ : MA RAINEY’S BLACK BOTTOM ‘จากละครเวที’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

MA RAINEY’S BLACK BOTTOM

‘จากละครเวที’

 

กำกับการแสดง

George C. Wolfe

นำแสดง

Viola Davis

Chadwick Boseman

Colman Domingo

Glynn Turman

Michael Potts

Jeremy Shamos

 

Ma Rainey’s Black Bottom สร้างจากละครเวทีที่เขียนโดยออกัสต์ วิลสัน เมื่อ ค.ศ.1984 และเป็นละครที่ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งได้รางวัลนักวิจารณ์ของนิวยอร์ก (New York Critics’ Circle) และเข้าชิงรางวัลโทนี่ (Tony) สำหรับละครยอดเยี่ยมในปีนั้น

นอกจากนั้น เดนเซล วอชิงตัน ยังมีชื่อเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ พร้อมทั้งประกาศว่าจะทำหนังจากบทละครของออกัสต์ วิลสัน ให้ครบทั้งสิบเรื่อง

โดยเริ่มไปแล้วด้วยเรื่อง Fences (2017) ซึ่งเขาทั้งกำกับฯ และแสดงเอง และเป็นหนังที่ทำให้ไวโอลา เดวิส ได้รับรางวัลนักแสดงหญิงสมทบมาแล้ว

สำหรับหนังที่ฟังชื่อเสียงเรียงนามดูประหลาดเหมือนจะเป็นการเหยียดผิวที่ “ไม่ถูกต้องทางการเมือง” เรื่องนี้ ไวโอลา เดวิส ก็แสดงในบทหลักเหมือนกัน อีกทั้งยังมีนักแสดงหนุ่มชื่อดังอีกคนที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคร้ายไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาร่วมแสดงในบทนำอยู่ด้วย

ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็น “เพลงหงส์” (swansong) สำหรับดาราผู้โด่งดังคนนั้น

 

แชดวิก โบสแมน เป็นหนุ่มผิวดำรูปหล่อเช้ะ ดูเหมือนจะเข้ามาเป็นตัวแทนของเดนเซล วอชิงตัน ที่อยู่ในวงการมานานจนเลื่อนไปเล่นบทหนุ่มใหญ่วัยกลางคนจนถึงสูงวัยไปแล้ว

แชดวิกเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในบทของ “แบล็ก แพนเธอร์” หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาลของมาร์เวล ซึ่งร่วมอยู่ในทีมอเวนเจอร์ส แต่เมื่อ Black Panther เป็นหนังเดี่ยวของตัวเอง ก็กลายเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่สร้างจากการ์ตูนคอมิกเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุดและในสาขาสำคัญอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเสียด้วย

น่าเสียดายที่แชดวิก โบสแมน ต้องจากไปในวัยหนุ่มแน่นด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยที่เขารู้ตัวแล้วด้วยในตอนเล่นหนังเรื่องนี้ ซึ่งทำให้บทบาทเข้มข้นที่เขาแสดงดูน่าจับตาเป็นพิเศษ

ตามสำนวน “เพลงหงส์” ซึ่งมีที่มาจากตำนานที่ว่าหงส์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่ส่งเสียงเลยตลอดทั้งชีวิต จะเปล่งเสียงครวญเพลงแสนไพเราะเสนาะหูเมื่อยามใกล้ตาย

หนังเรื่องนี้เป็น swansong ของแชดวิก โบสแมน หงส์ที่รู้ตัวว่ากำลังจะต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับคืน

 

Ma Rainey’s Black Bottom เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอัดเสียงอัลบั้มเพลงบลูส์ของนักร้องผิวดำชื่อดัง มา เรนีย์ ในชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นในชิคาโกเมื่อ ค.ศ.1927

ด้วยเสียงร้องอันทุ้มลึกและแผดกร้าวเกรี้ยวกราดเร้าใจของเธอ มา เรนีย์ ได้ฉายาว่าเป็น “แม่” หรือ “มารดาของเพลงบลูส์” ที่โด่งดังอยู่ในภาคใต้ของอเมริกาในยุคนั้น ส่วนคำว่า Black Bottom เป็นชื่อของการเต้นรำแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมในทศวรรษที่เรียกว่า The Roaring Twenties และคำว่า Black Bottom ก็ได้มาจากชื่อย่านหนึ่งในเมืองดีทรอยต์

เรื่องราวเริ่มขึ้นในตึกที่แปรสภาพเป็นสตูดิโออัดเสียงลงแผ่นตามแบบแผ่นเสียงโบราณ โดยโปรดิวเซอร์ซึ่งเป็นคนผิวขาว สเตอร์ดีวานต์ (จอนนี่ คอย์น) กับผู้จัดการส่วนตัวผิวขาว (เจเรมี่ ชามอส) ของนักร้องผิวดำผู้กำลังโด่งดัง (ไวโอลา เดวิส)

นักดนตรีในวงที่บรรเลงในโชว์ของ “มา” มารอพร้อมกันอยู่แล้ว โดยมีคัตเลอร์ (โคลแมน โดมิงโก) นักเป่าทรอมโบน, โทเลโด (กลินน์ เทอร์แมน) นักเปียโน, สโลว์แดรก (ไมเคิล พอตส์) นักเล่นเครื่องแบสส์ และเลวี (แชดวิก โบสแมน) นักเป่าทรัมเป็ต

เลวีเป็นหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ทางดนตรี ทระนงในความสามารถของตัวเอง และทะเยอทะยานที่จะก้าวไปข้างหน้าและพิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็น

เขาแต่งเพลงใหม่ๆ ไว้หลายเพลง และเรียบเรียงเสียงใหม่ให้แก่อัลบั้มเพลงที่กำลังจะอัดเสียง

โดยได้รับความเห็นชอบจากโปรดิวเซอร์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเพื่อนร่วมวงที่ว่า “มา” เคยร้องเพลงที่เรียบเรียงในแบบเก่า

เลวียืนยันจะซ้อมเพลงในแบบที่เขาเรียบเรียงใหม่ ในขณะที่ผู้ร่วมวงซึ่งมีคัตเลอร์เป็นหัวหน้าวง คัดค้านว่านี่ไม่ใช่เพลงตามแบบที่ “มา” จะร้อง

ข้อพิพาทที่โต้กันไปโต้กันมาสักพักใหญ่เรื่องนี้ได้รับการตัดสินโครมเดียว เมื่อ “มา” มาถึง และบอกว่าไม่มีทางที่เธอจะร้องในแบบอื่นที่ไม่เคยร้องโชว์มาก่อน

 

ระหว่างการรอให้ “มา” เดินทางมาถึงเพื่อจะได้เริ่มอัดเสียง นักดนตรีในวงก็พูดคุยขัดคอและเล่าประสบการณ์ในชีวิตของตัวเองสู่กันฟัง ทำให้เราได้รู้จักภูมิหลังและทัศนคติของพวกเขาแต่ละคน ในหัวข้อต่างๆ เช่น เชื้อชาติ ศิลปะ และศาสนา

ตัวละครสำคัญคือเลวี หนุ่มเลือดร้อน เคียดแค้นต่อสังคมและมีบาดแผลฉกรรจ์จากเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เขาเกิดมาในครอบครัวที่ตกเป็นเบี้ยล่างของสังคมมาตลอด

เลวีต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว ถีบตัวขึ้นจากความต่ำต้อย ให้มีหน้ามีตาทัดเทียมใครๆ และเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถทางดนตรีพอที่จะทำอย่างนั้นได้

เมื่อเริ่มเรื่อง เรารู้ว่าเขาใช้เงินเก็บและเงินล่วงหน้าไปซื้อรองเท้าคู่สวยสีเหลืองมาสวมใส่อย่างโก้หรู ท่ามกลางเสียงค่อนขอดของเพื่อนนักดนตรีคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างกระเหม็ดกระแหม่และระมัดระวัง

และรองเท้าคู่นี้จะกลายเป็นตัวปัญหาสำหรับอนาคตของเลวีในที่สุด

 

“มา” มาถึงในรถยนต์ส่วนตัวพร้อมสาวสวยที่เป็นสมบัติที่ใครจะมาแตะต้องไม่ได้ และเรียกร้องต่างๆ นานา ด้วย “อำนาจ” ที่เธอมีชั่วขณะเหนือคนผิวขาวที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเธอ

ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับตำรวจในเรื่องปัญหารถชนกัน การเรียกร้องให้หลานชายที่พูดติดอ่างของเธอมีบทบาทในการพูดแนะนำศิลปินในตอนเริ่มอัดเสียง และการเรียกร้องจะดื่มโค้กเย็นๆ สักขวดก่อนจะลงมือทำงาน ฯลฯ

ทุกข้อเรียกร้อง “มา” ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ โดยไม่ยอมประนีประนอม ด้วยความตระหนักว่าสถานะของผู้เรียกร้องจะพลิกกลับไปทันทีเมื่อเธอหมดประโยชน์สำหรับพวกเขาแล้ว

ในธุรกิจที่นักร้องผิวดำเสียงดีเป็นที่ต้องการของตลาด ดูเหมือนว่าคนผิวดำจะมีอำนาจเหนือคนผิวขาว แต่การเอารัดเอาเปรียบก็ยังขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ในวงการนี้

อาทิว่า นักแต่งเพลงผิวดำต้องถูกบังคับให้ขายสิทธิ์ในเพลงของตัวเองในราคาที่ไม่ยุติธรรม โอกาสของความเท่าเทียมกันมีอยู่น้อยมาก

และยิ่งหมดไปเลยจากการกระทำที่ไม่คิดหน้าคิดหลังเยี่ยงคนสิ้นคิด…

คนดูที่ไม่คุ้นกับการนำเสนอของละครเวทีอาจรู้สึกว่าหนังเดินเรื่องแปลกๆ แต่ถ้าเข้าใจว่านี่เป็นหนังที่ทำมาจากละครเวทีก็จะเข้าใจความเป็นมาของพล็อตรวมทั้งการนำเสนอตัวละคร

แน่นอนว่าในเครดิตตอนจบ หนังอุทิศความทรงจำให้แก่แชดวิก โบสแมน เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย…