ภาพยนตร์ : THE WHITE TIGER ‘เสือโคร่งขาว’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

THE WHITE TIGER

‘เสือโคร่งขาว’

 

กำกับการแสดง

Ramin Bahrani

นำแสดง

Adarsh Gourav

Rajkummar Rao

Priyanka Chopra

 

The White Tiger เป็นหนังอินเดียที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สำหรับสาขาบทดัดแปลงในปีนี้ และออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์มาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว

หนังสือชื่อเดียวกันที่หนังดัดแปลงมา เขียนโดยอารวินด์ อาดิกา ได้รับรางวัล Booker Prize สำหรับนวนิยายเมื่อ ค.ศ.2008 ในปีที่ The Slumdog Millionaire ฝีมือกำกับของแดนนี่ บอยล์ ได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยม

ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้นึกเปรียบเทียบเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นในอินเดีย ที่ก้าวข้ามความยากจนมาสู่ความสำเร็จ ด้วยความมานะบากบั่นและโชคที่พลิกผัน

ในขณะเดียวกันก็ทำให้นึกถึงความไม่เท่าเทียมกันของชนชั้นและความเคียดแค้นของคนจนที่มีต่อชนชั้นอภิสิทธิ์ในหนังเกาหลีเรื่อง Parasite ซึ่งเป็นหนังที่พูดภาษาต่างประเทศที่ชนะรางวัลใหญ่ที่สุดของออสการ์ไป

 

นอกจากตัวละครหลักซึ่งเป็นชื่อเรื่องแล้ว The White Tiger ใช้สัตว์ต่างๆ เป็นอุปมาสำหรับตัวละคร

บัลราม หรือถอดอักษรสันสกฤตเป็นไทยๆ ว่า “พลราม” (อดาร์ช กูราฟ) น่าจะแปลว่า “ทหารเอกของพระราม” ซึ่งหมายถึงหนุมานผู้เก่งกาจและเป็นไอดอลของคนอินเดีย (คนไทยแทบทุกคนที่ไปเที่ยวอินเดียคงรู้แล้วว่าคนอินเดียจะชอบมากถ้าเราเอายาหม่องยี่ห้อลิงถือลูกท้อไปให้)

บัลรามเป็นพระเอกผู้เล่าเรื่องนี้ ด้วยการเขียนอีเมลถึงนายกฯ จีน เหวิน เจีย เป่า ในโอกาสที่ไปเยือนอินเดีย และเล่าความเป็นมาในฐานะสตาร์ตอัพของตัวเองในเมืองบังกาลอร์ เพื่อแนะนำตัวเอง เพื่อเป็นการเปิดทางการค้ากับจีน

ในวัยเด็ก มีผู้ตรวจการจากเมืองหลวงไปตรวจโรงเรียน หนูน้อยบัลรามแสดงความฉลาดเฉลียวให้ประจักษ์ จนผู้ตรวจการเรียกเขาว่า “เสือโคร่งขาว” และบอกว่าเสือโคร่งขาวนี้เป็นสิ่งหายาก ซึ่งจะปรากฏมีให้เห็นเพียงตัวเดียวในชั่วอายุคนเท่านั้น รวมทั้งบอกว่าจะสนับสนุนทุนการศึกษาให้เขาไปเรียนต่อในกรุงเดลลี

การศึกษาเป็นหนทางที่จะพาตัวให้พ้นจากความยากจนได้ ดังที่บัลรามได้เห็นจาก “นักสังคมนิยมผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นผู้หญิงจากวรรณะต่ำผู้ก้าวขึ้นสู่สังเวียนการเมือง ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นคนที่มีผู้นับหน้าถือตา

น่าเสียดายแต่ว่าหนทางแห่งการศึกษานี้ถูกตัดสะบั้นจากอนาคตของบัลราม เนื่องจากพ่อของเขาป่วยเป็นวัณโรค และย่าให้เขาเลิกเรียนกลางคัน เพื่อไปใช้แรงงานในร้านขายน้ำชา

บัลรามหาทางถีบตัวเองให้พ้นจากสภาพอันแร้นแค้นในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อลักษมันคฤห์นี้ด้วยการไปเป็นคนขับรถของลูกชายเศรษฐี

เศรษฐีเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านนี้มีฉายาว่า “นกกระสา” ซึ่งให้ภาพของการเดินย่ำบนน้ำตื้นเพื่อจิกกินปลาเล็กปลาน้อย

 

“นกกระสา” มีลูกชายสองคน คนโตมีฉายาว่า “พังพอน” ซึ่งให้ภาพของสัตว์กินเนื้อที่มีฤทธิ์ขนาดสยบงูเห่าได้

ส่วนลูกชายคนเล็กเพิ่งกลับจากการไปเรียนที่อเมริกาพร้อมด้วยภรรยาคนสวยชาวอเมริกัน-อินเดียที่เป็นหมอจัดกระดูก

ลูกชายคนนี้มีชื่อว่า อโศก (ราชกุมมาร ราว) และไม่มีพิษมีภัยจนได้ฉายาว่า “ลูกแกะ”

บัลรามพาตัวเองเข้าไปเป็นคนขับรถให้อโศกจนสำเร็จดังใจหมาย ด้วยการขอเงินย่าไปเรียนขับรถโดยสัญญาจะทำให้ย่ากลายเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในหมู่บ้าน และแบล๊กเมลคนขับรถเก่าแก่คนเดิมด้วยความลับที่เขาได้ล่วงรู้

และทำงานทุกอย่างตามที่ต้องรับใช้เจ้านาย รวมทั้งการทำความสะอาด การทำอาหารและการนวดเฟ้นเท้าให้เจ้านาย

เขาเปรียบเทียบความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นล่างที่เป็นคนรับใช้ว่าเหมือนไก่ที่อยู่ในกรง มองเห็นเพื่อนไก่ด้วยกันถูกจับเอาไปเชือด แต่ก็ทำอะไรไม่ได้

ได้แต่ยอมรับชะตากรรมที่กำลังจะมาถึงต่อไปโดยไม่ต่อต้านหรือประท้วงแต่อย่างใด

 

และแล้วความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อสภาพจิตใจของบัลรามเกิดขึ้นเมื่อเขาถูกสั่งให้ลงจากที่นั่งคนขับไปนั่งอยู่เบาะหลัง โดยแต่งตัวเต็มยศเป็นมหาราชาในโอกาสวันเกิดของภรรยาเจ้านาย ขณะที่พิงกี้ (ปรียันกา โชปรา) ผู้ดื่มจนเมามายอยู่ในอารมณ์สนุกเบื้องหลังพวงมาลัย

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทครั้งนั้นพลิกชีวิตทั้งชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องไปหมด

บัลรามได้พบความจริงอันแสนปวดร้าว ซึ่งทำให้ทัศนคติและความภักดีเยี่ยงทาสของเขาเปลี่ยนไปหมด

เขาถูกผลักให้กลายเป็นแพะรับบาปที่ต้องขึ้นแท่นสังเวย

และคนที่เขาคิดว่าเป็นเพื่อนก็พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ใช่เพื่อนที่จะฝากผีฝากไข้ได้

จุดเปลี่ยนตรงนี้ทำให้บัลรามปลดตัวเองจากพันธนาการทั้งปวง และมองเห็นตัวเองเป็นเสือโคร่งขาวที่เดินติดจั่นอยู่ในกรง

พูดอีกนัยหนึ่งคือเขาไม่ใช่ไก่ในกรงที่รอชะตากรรมโดยดุษณีอีกแล้ว

 

ตั้งแต่ต้นเรื่อง บัลรามบอกว่าวรรณะในอินเดียนั้นมีนับพันวรรณะ แต่สำหรับเขา มีเพียงสองวรรณะ คือ ด้านมืดกับด้านสว่าง เขาเกิดในด้านมืด แต่เขาได้พาตัวพ้นจากด้านมืดมาสู่ด้านสว่างและกลายเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจสตาร์ตอัพในเมืองที่ก้าวเข้ามาแทนที่ซิลิคอนวัลเลย์ในอเมริกา

และเหตุที่อาชญากรรมครั้งสำคัญของเขาไม่เคยถูกจับได้ ก็เนื่องมาจากว่าเขามีใบหน้าเหมือนกับคนทุกคนในอินเดีย และธุรกิจของเขาปฏิบัติต่อพนักงานในสังกัดเป็น “ลูกจ้าง” ไม่ใช่เป็น “คนรับใช้” เหมือนในความรู้สึกนึกคิดดั้งเดิมของคนอินเดียอีกต่อไป

ในความพยายามติดต่อทางการค้ากับผู้นำของจีน บัลรามประกาศว่า นี่คือศตวรรษของคนผิวสีน้ำตาลกับคนผิวเหลือง ซึ่งจะก้าวผงาดขึ้นมาในโลกที่เคยเป็นของคนผิวขาว

หนังซึ่งแฝงอารมณ์ขันไว้มากมาย มีตอนจบที่ยังหลอนอยู่ในมโนธรรม และยากแก่การทำใจ

นอกเหนือไปจากความสำเร็จที่ได้มาโดยทุจริตและคอร์รัปชั่นที่ดูจะมีอยู่ทั่วไปหมดตั้งแต่ระดับบนจนถึงล่าง

ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่าคนดูทั่วไปจะรับ “สาร” ที่หนังส่งออกมาในทางไหน หรือว่าจะถูก “แปลงสาร” ให้โลกเราผิดเพี้ยนเห็นผิดเป็นชอบไปหมด