คนมองหนัง : ‘6 ดาวเด่นเอเชีย’ บนเวที ‘ออสการ์’

คนมองหนัง

 

‘6 ดาวเด่นเอเชีย’

บนเวที ‘ออสการ์’

 

ภายหลังความสำเร็จครั้งสำคัญของภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “Parasite” เมื่อปีก่อน การประกาศรางวัลออสการ์ในเดือนเมษายน อาจเป็นการช่วยยืนยันถึง “ยุคทอง” ของ “(คนทำ) หนังเอเชีย” ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอีกหนหนึ่ง

เมื่อภาพยนตร์เอเชีย, คนทำหนังเอเชีย และนักแสดงเอเชีย ต่างมีที่ทางน่าจับตา ในงานประกาศรางวัลตุ๊กตาทองสหรัฐประจำปีนี้

และนี่คือ “บุคลากรชาวเอเชีย” จำนวน 6 ราย ที่กำลังฉายแสงบนเวทีออสการ์ 2021

 

“ยุนยอจอง”

นี่คือนักแสดงหญิงวัย 73 ปี ชาวเกาหลีใต้ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการแสดงมากว่าครึ่งศตวรรษ

ในภาพยนตร์ว่าด้วยครอบครัวผู้อพยพเกาหลีที่ไปใช้ชีวิต ณ ชนบทของสหรัฐอเมริกาเรื่อง “Minari” ยุนคือหนึ่งในนักแสดงที่โดดเด่น ซึ่งสามารถขโมยซีนและแบกรับภาระทางด้านอารมณ์ของหนังเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

กระทั่งเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นับเป็นนักแสดงเกาหลีรายแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองอเมริกัน (แม้แต่ทีมนักแสดงฝีมือดีจาก “Parasite” เมื่อปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้)

 

 

“สตีเฟน ยอน”

นักแสดงหนุ่มเชื้อสายเกาหลี-อเมริกัน (เกิดที่เกาหลีใต้แต่ไปเติบโตที่สหรัฐ) ซึ่งหลายคนเริ่มรู้จักเขาจากผลงานการแสดงในซีรีส์ “The Walking Dead”

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ยอนได้กลับไปร่วมงานกับผู้กำกับฯ ฝีมือดีชาวเกาหลี เช่น การร่วมแสดงในหนังเรื่อง “Okja” ของ “บงจุนโฮ” และ “Burning” ของ “อีชางดง”

ก่อนที่การรับบทบาทนำในหนังเรื่อง “Minari” จะผลักดันให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

 

“อี ไอแซค ชอง”

คนทำหนังเชื้อสายเกาหลี-อเมริกัน ที่เริ่มต้นทำหนังยาวตั้งแต่ปี 2007 ผลงานเรื่องแรกของเขา คือ “Munyurangabo” ได้รับเสียงชื่นชมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ แต่ผลงานเรื่องต่อๆ มา กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

กระทั่งอีได้ลงมือทำหนังเรื่อง “Minari” ที่นำเค้าโครงเนื้อหามาจากประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กของเขาในฟาร์มแถบรัฐอาร์คันซอ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จึงก่อตัวขึ้น เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสำคัญจากเทศกาลซันแดนซ์ และคว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ

และล่าสุด หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และการได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ “ลี ไอแซค ชอง”

โดยเขานับเป็นผู้กำกับฯ เอเชียน-อเมริกันรายที่สอง และคนทำหนังผู้ชายเชื้อสายเอเชียรายที่สี่ ซึ่งได้รับโอกาสเช่นนี้

 

“โคลอี เจา”

คนทำหนังสตรีผู้เกิดที่ปักกิ่ง แต่มาเรียนภาพยนตร์และปักหลักทำหนังที่สหรัฐอเมริกา

เจาถือเป็นผู้กำกับฯ อินดี้ ที่ได้รับการจับตามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 ก่อนจะมาประสบความสำเร็จสูงสุดกับ “Nomadland” หนังอีกหนึ่งเรื่องที่ฉายภาพการใช้ชีวิตในชนบทสหรัฐ ซึ่งคว้ารางวัลสิงโตทองคำที่เวนิส แล้วได้รับรางวัลภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานลูกโลกทองคำ

ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ขณะที่ “โคลอี เจา” ก็กลายเป็นสตรีเอเชียคนแรกที่มีโอกาสคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของอคาเดมี อวอร์ดส์

 

“ริซ อาห์เหม็ด”

ย้อนไปเมื่อปี 2017 เขาคือนักแสดงชายเชื้อสายมุสลิมและเอเชียรายแรกที่คว้ารางวัลบนเวทีเอมมี อวอร์ดส์ จากผลงานในซีรีส์เรื่อง “The Night Of”

นอกจากนั้น “ริซ อาห์เหม็ด” ยังเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เช่น “Nightcrawler” “Jason Bourne” และ “Rogue One”

ล่าสุด นักแสดงเชื้อสายบริติช-ปากีสถานผู้นี้ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเป็นคนมุสลิมรายแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง “Sound of Metal”

 

“ดีเร็ก เจิ้ง”

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง “Minari” และ “Nomadland” เป็นผลงานของคนทำหนังเชื้อสายเกาหลีและคนทำหนังชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานในสหรัฐอเมริกา

“ดีเร็ก เจิ้ง” และภาพยนตร์เรื่อง “Better Days” ของเขา ที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์นานาชาติ (ภาษาต่างประเทศ) ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีนี้ กลับเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมบันเทิงฮ่องกง

ดีเร็กเป็นลูกชายของ “เจิ้งจื้อเหว่ย” นักแสดง-ดาวตลกชื่อดัง (“พี่เป้า” แห่ง “เถียนมีมี่ 3,650 วันรักเธอคนเดียว”) ซึ่งเริ่มทำหนังมาตั้งแต่ปี 2003

“Better Days” ภาพยนตร์รักวัยรุ่นที่ตีแผ่ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนและปัญหาชนชั้นที่ซึมแทรกอยู่ในโครงสร้างทางการศึกษาจีน คือผลงานเรื่องเยี่ยมของ “ดีเร็ก เจิ้ง” ที่กวาดรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ไปถึง 8 สาขา

และกวาดรายได้ไปกว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐ (รวมการฉายในจีนแผ่นดินใหญ่)

 

เหล่านี้คือ “คลื่นระลอกที่สอง” ของกระแสนิยมเอเชียบนเวทีออสการ์

ซึ่งอาจเป็นบทสนทนาโต้ตอบที่มีต่อพฤติกรรมการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียในสังคมอเมริกันร่วมสมัยก็เป็นได้