คนมองหนัง : ’10 หนังไทยเรื่องเด่น’ ต้นทศวรรษ 2540 (1)

คนมองหนัง

 

’10 หนังไทยเรื่องเด่น’ ต้นทศวรรษ 2540 (1)

 

สัปดาห์ก่อน มีโอกาสรับฟังบทสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น “คลับเฮาส์” ซึ่ง “คุณภาณุ อารี” และ “คุณชาญชนะ หอมทรัพย์” ชวน 4 คนทำหนังไทยรายสำคัญ ได้แก่ “นนทรีย์ นิมิบุตร” “ยงยุทธ ทองกองทุน” “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” และ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทยในยุค 2540

เป็นที่ทราบกันดีว่าวงการหนังไทยหลังปี 2540 หรือยุค “โพสต์ต้มยำกุ้ง” นั้นคือหมุดหมายใหม่ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากพลวัตความเปลี่ยนแปลงภายใน ที่ค่อยๆ ผลักดันให้ภาพยนตร์ของบ้านเราออกไปมีที่ทางสำคัญในระดับนานาชาติอยู่ ณ ห้วงเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อบทสนทนาของผู้กำกับฯ ทั้งสี่ราย วางพื้นฐานอยู่บนมุมมองของคนทำหนังเป็นหลัก

ผู้เขียนบทความชิ้นนี้จึงอยากจะย้อนรำลึกถึงวงการหนังไทยในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านทัศนะของคนดู ด้วยการไล่เรียงผลงานภาพยนตร์ไทยเรื่องเด่นๆ ระหว่างปี 2540-2543

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

“2499 อันธพาลครองเมือง”

(นนทรีย์ นิมิบุตร-2540)

นี่เป็นผลงานที่บุกเบิกกระแส “ไทยเวฟ” ปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อ “นนทรีย์ นิมิบุตร” และผองเพื่อนที่สั่งสมประสบการณ์-องค์ความรู้จากอุตสาหกรรมโฆษณา ได้เข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ผ่านการยกระดับคุณภาพในด้านโปรดักชั่น

พร้อมๆ กับความสำเร็จในการโกยรายได้ถึง 75 ล้านบาท “2499ฯ” ต้องเผชิญกระแสต่อต้าน อันเนื่องมาจากการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลที่ (เคย) มีตัวตนอยู่จริงๆ ในเชิงวิพากษ์ และพรมแดนระหว่าง “เรื่องจริง” กับ “เรื่องแต่ง” ที่ยังถูกแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดชัดเจนในสังคมไทยยุคนั้น (กระทั่งถึงยุคนี้?)

หากพิจารณาในแง่วัฒนธรรมดารา-ดาราศึกษา “เจษฎาภรณ์ ผลดี” ผู้แจ้งเกิดจากบท “แดง ไบเล่ย์” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็สามารถยืนระยะการเป็น “พระเอก” ได้อย่างยาวนานจนน่าทึ่ง

 

“ฝัน บ้า คาราโอเกะ”

(เป็นเอก รัตนเรือง-2540)

“เป็นเอก รัตนเรือง” คืออีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่เข้ามาปฎิรูปเปลี่ยนแปลงวงการหนังไทย ณ ปี 2540

ด้วยความเป็นนักเรียนนอก ภาพยนตร์ของเป็นเอกจึงมีลักษณะเป็นปัญญาชน-สะท้อนปมปัญหาของคนเมืองสมัยใหม่ และใช้ไวยากรณ์ในการเล่าเรื่องที่แปลกแหวกแนวกว่าผลงานของนนทรีย์

“ฝัน บ้า คาราโอเกะ” เป็นอาหารจานที่รวบรวมวัตถุดิบรสชาติแปร่งปร่าเอาไว้อย่างหลากหลาย (แม้อาจไม่กลมกล่อมลงตัวนัก) ซึ่งถูกเสิร์ฟออกมาท่ามกลางสภาวะ “ฝันร้ายทางเศรษฐกิจ” พร้อมเสียงเพลงไพเราะทว่าแปลกแยกของ “อารักษ์ อาภากาศ” และ “โยคีเพลย์บอย”

หนังยาวเรื่องแรกของเป็นเอกยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจ นั่นคือการเลือก “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” มาเป็นนักแสดงหลัก (รับบทคุณพ่อนักเที่ยวผู้เหลวไหล) ในยุคที่พี่ปั่นเริ่มไม่ได้มีสถานะเป็น “ศิลปินสมัยนิยม” ของวงการเพลงไทย

ในฐานะคนที่ดูหนังเรื่องนี้ตอนอายุประมาณ 16 ปี ผมจึงจดจำ “ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ในบทบาท “นักแสดง” มากกว่า “นักร้อง” อยู่เสมอมา กระทั่งบทบาทหลังของเขามาถูกรื้อฟื้นขึ้นอย่างเต็มภาคภูมิโดยวงดนตรี “ดึกดำบรรพ์ Boy Band”

 

“นางนาก”

(นนทรีย์ นิมิบุตร-2542)

หนังไทยรายได้ 150 ล้านเรื่องนี้ คือบทพิสูจน์ว่านนทรีย์และเพื่อนๆ ของเขา (“เอก เอี่ยมชื่น” กับ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง”) ร่วมด้วย “ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์” (โดย “วิสูตร พูลวรลักษณ์”) คือกลุ่มคนทำหนังแนวพาณิชยศิลป์มือวางอันดับหนึ่ง ณ ต้นทศวรรษ 2540

“นางนาก” ฉบับนนทรีย์โดดเด่นด้วยการพยายามหาที่ทางใน “ประวัติศาสตร์” ให้แก่ “ตำนาน” หรือการทำ “เรื่องเล่า/เรื่องผี” ให้กลายเป็น “เรื่องสมจริง” พร้อมมาตรฐานงานสร้างที่สูงส่งเช่นเคย

ผลงานที่ทำเงินสูงสุดของนนทรีย์ยังส่งให้ “ทราย เจริญปุระ” และ “วินัย ไกรบุตร” กลายสภาพเป็นพระ-นางร้อยล้าน

ทั้งๆ ที่ทั้งคู่มิใช่ “ดาราระดับแม่เหล็ก” ในวงการบันเทิงไทยยุคนั้น

 

“คนจร ฯลฯ”

(อรรถพร ไทยหิรัญ-2542)

“อรรถพร ไทยหิรัญ” (เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2555) เป็นลูกหลานคนบันเทิง ที่คลุกคลีอยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์ไทยมาตั้งแต่เล็ก

“คนจร ฯลฯ” คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขา ซึ่งเล่าเรื่องราวอันข้องแวะกับปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ รวมถึงคนไร้บ้าน ผ่านบรรยากาศที่ทั้งสมจริงและเหนือจริงระคนกันไป

แม้จะใช้บริการบรรดาดารามืออาชีพชื่อดัง ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยของผู้กำกับฯ

แต่หากพิจารณาถึงองค์ประกอบโดยรวมอื่นๆ แล้ว ก็สามารถกล่าวได้ว่า “คนจร ฯลฯ” คือ “หนังอินดี้ไทย” (ทั้งในแง่วิธีการนำเสนอ ทุนสร้าง และรอบฉายในโรงภาพยนตร์) เรื่องแรกๆ ของยุคสมัยนั้น

 

“เรื่องตลก 69”

(เป็นเอก รัตนเรือง-2542)

ถ้า “นางนาก” ตอกย้ำว่า “นนทรีย์ นิมิบุตร” เป็นคนทำหนังฟอร์มใหญ่ ย้อนยุค และมีท่าทีเคร่งขรึมจริงจัง “เรื่องตลก 69” ก็ช่วยย้ำเตือนให้ผู้ชมตระหนักว่า “เป็นเอก รัตนเรือง” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ชอบเล่าเรื่องราวของคนเมืองตัวเล็กๆ ในบริบทร่วมสมัย อย่างเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันเชิงตลกร้าย

ในหนังยาวลำดับที่สองของตนเอง เป็นเอกนำเอานางเอกดัง “หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส” มาปะทะฝีมือกับนักแสดงกึ่งอาชีพ-สมัครเล่นจำนวนมาก (ที่ทั้งเล่นหนังได้ดีจนน่าเหลือเชื่อและเล่นหนังแบบแปลกๆ เคอะเขินนิดๆ) จนเกิดเป็นมหรสพที่เพลิดเพลินทว่าไม่จำเจ

“เรื่องตลก 69” คือภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ ที่ถูกคละเคล้าผสมผสานกับเพลงลูกทุ่งย้อนยุค

และสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก-ความคาดหวังของผู้คนในยุคหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้อย่างน่าสนใจ