คนมองหนัง : ‘บ่มีวันจาก’ : ‘วังวน’ ของ ‘เวลา’

คนมองหนัง

 

‘บ่มีวันจาก’

: ‘วังวน’ ของ ‘เวลา’

 

มักมีคนชอบบอกว่า “เวลา” ของสังคมการเมืองในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นมีลักษณะเป็น “วังวน”

โดยที่ “วังวน” ดังกล่าว อาจเคลื่อนตัวเป็น “วงกลม” “ก้นหอย” หรือ “ขดสปริง” แล้วแต่การวิเคราะห์พิจารณาและมุมมองอันแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีนวนิยาย ภาพยนตร์ ตลอดจนเรื่องเล่าร่วมสมัยประเภทอื่นๆ ของภูมิภาคนี้จำนวนไม่มากนัก ซึ่งสามารถฉายให้เห็นสภาวะเวียนวนไร้ทางออกที่ว่า ได้อย่างซับซ้อน ลุ่มลึก ชวนฉุกคิด

ภาพยนตร์จากประเทศลาวเรื่อง “บ่มีวันจาก” คือเรื่องเล่าอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งถ่ายทอด “วงจรเวลา” ข้างต้น ออกมาได้น่าสนใจและมีองค์ประกอบ-บริบทบางอย่างที่แปลกใหม่ดี

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับฯ ของ “แมตตี้ โด” สตรีนักทำหนังชาวลาว (ผู้เกิดและเติบโตที่สหรัฐอเมริกา) ซึ่งหนังของเธอมักมีที่ทางในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

ดังที่ “บ่มีวันจาก” ได้เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ประเทศอิตาลี รวมถึงได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2019

มองจากหน้าฉาก ผลงานล่าสุดของแมตตี้ยังคงเป็นหนังในตระกูล “ผี-สยองขวัญ” เช่นเดียวกับ “จันทะลี” และ “น้องฮัก” ภาพยนตร์ขนาดยาวสองเรื่องแรกของเธอ

แต่หากใครได้นั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (ซึ่งเพิ่งเข้าฉายที่เมืองไทย) ก็จะพบว่า “บ่มีวันจาก” นั้นมีองค์ประกอบของความเป็น “หนังไซไฟ” และ “เรื่องเล่าแบบสัจนิยมมหัศจรรย์” แทรกเข้ามาด้วยอย่างกลมกล่อมลงตัว

โดยทั้งสององค์ประกอบอันแปลกตาล้วนมีหน้าที่หนุนเสริมเส้นเรื่องหลักซึ่งโคจรคล้าย “วงเวียน”

ราวกับผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบทกำลังพยายามสื่อสารมายังผู้ชมว่า แม้โลกจะรุดหน้าไปไกลด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค (เช่น อากาศยานแปลกตาบนท้องฟ้า และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกฝังอยู่ภายในร่างกายมนุษย์) สักเพียงใด

แต่ชีวิตของผู้คนในหลายๆ สังคม กลับยังต้องเผชิญหน้าชะตากรรม-ปัญหา-บาดแผลเดิมๆ มิรู้จบ

 

“บ่มีวันจาก” ได้รับการขับเคลื่อนผ่านพล็อตว่าด้วย “เด็กชาย” และ “ชายชรา” คู่หนึ่ง ในมิติเวลาที่ต่างกัน ซึ่งมองเห็น “วิญญาณ” และพยายามใช้ทักษะพิเศษของตนเองเพื่อช่วยเหลือวิญญาณเหล่านั้นและมนุษย์ผู้หญิงทั้งหลาย ที่โดดเดี่ยว-เหว่ว้า-ถูกกระทำ

มีวัตถุ/กลุ่มคน/คำสำคัญจำนวนหนึ่งที่ผุดขึ้นในหัวผมระหว่างนั่งดูหนังลาวเรื่องนี้ นั่นคือ “โครงการพัฒนา” “โซลาร์เซลล์” “หลอดไฟนีออน” “บ้าน” “ศาลเพียงตา” และ “ผู้หญิง”

ภาพยนตร์ลาวร่วมสมัยหลายต่อหลายเรื่อง มักมุ่งวิพากษ์วิจารณ์โครงการช่วยเหลือ-พัฒนาจากต่างชาติ เช่น หนังเรื่อง “บั้งไฟ” หรือ “บุญติดจรวด” เมื่อปี 2013 ที่ได้ “เทพ โพธิ์งาม” ไปแสดงนำ

อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกว่าการวิพากษ์ “โครงการพัฒนาของต่างชาติ” ในประเทศลาว ผ่านภาพตัวแทนที่เป็นวัตถุ เช่น “โซลาร์เซลล์” และ “หลอดไฟนีออน” ก่อนจะเทียบเคียง “โปรเจ็กต์พัฒนา” “ไฟฟ้า” และ “แสงสว่าง” ดังกล่าว เข้ากับบทบาท “การช่วยเหลือผี-ผู้หญิง” ของตัวละครนำชายใน “บ่มีวันจาก” นั้น

ถือเป็นอุปมาอันคมคาย ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในจอภาพยนตร์

ทั้งหมดขมวดเข้าสู่คำถามชุดสำคัญ อาทิ นิยามของคำว่า “ความช่วยเหลือ” นั้นมีเพียงหนึ่งเดียวจริงหรือไม่? เมื่อโลกทัศน์-ชีวทัศน์-ประสบการณ์ระหว่าง “ผู้ให้” กับ “ผู้รับ” ช่างผิดแผกแตกต่างกันเหลือเกิน

“ผู้รับ” ต้องการ “ความช่วยเหลือ” ที่ “ผู้ให้” หยิบยื่นมาจริงหรือเปล่า?

และสรุปแล้ว สายสัมพันธ์ในนาม “ความช่วยเหลือ” ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์คุณประโยชน์ร่วมกันหรือการที่ฝ่ายหนึ่งทำลายล้างอีกฝ่ายผ่าน “ความปรารถนาดี” กันแน่?

ตลอดทั้งเรื่อง เราในฐานะคนดูจะได้พบเห็นตัวละคร “ชายชรา” และ “เด็กชาย” เดินทางออกจากบ้าน แล้วเดินเท้าไปมาบนถนนลูกรังเส้นหนึ่งอยู่เกือบตลอดเวลา

ภารกิจของชายทั้งคู่คือการหา “บ้าน” ให้แก่สตรี ตลอดจนวิญญาณของหญิงเร่ร่อน ผู้น่าสงสาร

มองแง่นี้ “บ่มีวันจาก” จึงคล้ายจะตอกย้ำโครงสร้างของเรื่องเล่าแบบมาตรฐานชนิดหนึ่ง ซึ่งมักกำหนดให้ “ตัวละครผู้ชาย” ต้องรับหน้าที่ “ออกเดินทาง” สู่โลกภายนอก และมักวางบทบาท “ตัวละครผู้หญิง” ให้ต้องถูกทิ้งค้างเอาไว้ในบ้านเรือนและท้องถิ่น (รวมทั้ง “ศาลเพียงตา”) เข้าทำนอง “อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน”

อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเรื่องเล่าแบบมาตรฐานประเภทนั้นได้ถูกพังทลายหรือขยับเขยื้อนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยตัวละคร “ผีผู้หญิง” ที่ออกเดินเท้าเวียนไปวนมาเคียงคู่กับ “ผู้ชาย” สองวัยอยู่เกือบตลอด แถมเธอยังมีอำนาจพิเศษดลบันดาลให้ชายทั้งคู่สามารถก้าวข้ามมิติเวลามาพบกันได้สำเร็จ

นอกจากนั้น โครงสร้างเรื่องเล่าใน “บ่มีวันจาก” ก็เลื่อนไถลออกนอกลู่ทางยิ่งขึ้น ด้วยตัวละคร “หญิงสาวผู้ตามหาวิญญาณแม่” ซึ่งเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวในหนัง ซึ่งออกเดินทางเข้าไปทำงานถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ซ้ำยังประสบชะตากรรมผิดแผกจากสตรีคนอื่นๆ ที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือของตัวละคร “ชายชรา”

ตัวละครผู้หญิงเหล่านี้ผลักดันให้เส้นเรื่องแบบ “วังวน” ในภาพยนตร์ลำดับที่สามของ “แมตตี้ โด” มิได้มีลักษณะเป็น “วงกลม” อย่างหมดจด

ทว่า “เวลา” ของ “บ่มีวันจาก” กลับดำเนินไปในลักษณะ “ก้นหอย” หรือ “ขดสปริง” ซึ่งทุกๆ การเวียนวนจะนำพาทุกผู้คนไปสู่ “จุดเปลี่ยนใหม่ๆ” มิใช่ “จุดเดิม”

ไม่ว่า “จุดเปลี่ยน” ดังกล่าว จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจย้อนกลับไปแก้ไขอดีตบางประการของมนุษย์ผู้หนึ่ง, ความผิดพลาด (โดยบังเอิญ) ทางประวัติศาสตร์ หรือความขัดแย้งกันระหว่างปัจเจกบุคคลหลายๆ คน ณ ห้วงเวลาเฉพาะหนึ่งๆ ก็ตาม

ดังนั้น “บ้าน” ที่ “ชายชรา” ย้อนกลับมาในทุกๆ ค่ำคืน จึงอาจมิใช่ “บ้านหลังเดิม” ที่เขาคุ้นเคย

ถ้าจะมี “วังวน” เพียงประเภทเดียวในหนังเรื่องนี้ (และในโลกนอกโรงภาพยนตร์) ที่เดินทางเป็นเส้น “วงกลม” อย่างสมบูรณ์แบบ

นั่นก็เห็นจะเป็นอนิจลักษณะแห่งการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ที่มนุษย์ทุกรายย่อมหลีกหนีไปไม่พ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า