คนมองหนัง : ‘พลอย-ใจจำลอง’ 2 หนังไทยในเทศกาลเบอร์ลิน 2021

คนมองหนัง

‘พลอย-ใจจำลอง’

2 หนังไทยในเทศกาลเบอร์ลิน 2021

 

หลังจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “One for the Road” ของ “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” และ “พญาโศกพิโยคค่ำ” ของ “ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์” เพิ่งได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเทศกาลภาพยนตร์ร็อตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ล่าสุด ก็มีข่าวดีว่าภาพยนตร์ไทยอีกสองเรื่องได้รับคัดเลือกเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

หนึ่งในเทศกาลระดับแกรนด์สแลมของโลกภาพยนตร์

 

หนังเรื่องแรก คือ “พลอย” ผลงานการกำกับฯ-เขียนเรื่อง-ถ่ายภาพโดย “ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์” และโปรดิวซ์โดย “ไกรวุฒิ จุลพงศธร” ที่ได้เข้าฉายในสาย “Forum Expanded”

ภาพยนตร์สารคดีทดลองความยาว 51 นาทีเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ “คนไกลบ้าน” ซึ่งมี “พัฒนา กิติอาษา” (นักมานุษยวิทยาลูกอีสานผู้ล่วงลับ ที่สนใจศึกษาวิถีชีวิตของแรงงานชาวไทยในประเทศสิงคโปร์) เป็นบรรณาธิการ

“พลอย” ได้ตามรอยไดอารี่ของแรงงานต่างด้าวในสิงคโปร์ โดยร้อยเรียงปมประเด็นทางสังคมและศิลปะมากมายเข้าไว้ด้วยกัน

ทั้งชีวิตของผู้ค้าบริการทางเพศชื่อ “พลอย” ซึ่งเคยทำงานใน “ซ่องกลางป่า” ที่ประเทศแห่งนั้น, เรื่องราวของแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆ ในประเทศสิงคโปร์, การสำรวจพื้นที่ป่าและสวนสาธารณะในสิงคโปร์ ตลอดจนกระบวนการที่ศิลปินคนทำหนังคนหนึ่งได้เยี่ยมเยือนแกะรอยตามการเดินทางของ “พลอย”

“พลอย” จึงเป็นทั้งตัวละครและการปะติดปะต่อของรูปแบบทางทัศนศิลป์ อันประกอบด้วย ภาพวาด, ภาพถ่าย, นิยายภาพ, การฉายสไลด์, จดหมาย หรือแม้กระทั่งการจดบันทึกพันธุ์พืช

“ประพัทธ์” เป็นศิลปินทัศนศิลป์และผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งพยายามมุ่งสำรวจประเด็นทางด้านประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และการเมือง ผ่านการใช้สื่ออันหลากหลาย โดยเฉพาะภาพถ่าย ภาพสไลด์ และภาพยนตร์

หลายปีที่ผ่านมา เขาได้สร้างสรรค์ผลงานหลายชิ้นที่มีเนื้อหาว่าด้วยการเดินทางและแรงงานต่างด้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

หนังไทยเรื่องต่อมาที่ได้รับคัดเลือกเข้าฉายในสาย “Forum” ของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินประจำปีนี้เช่นกัน ก็คือ “ใจจำลอง” ผลงานล่าสุดของ “อโนชา สุวิชากรพงศ์”

นี่คือภาพยนตร์ใหม่ของอโนชา หลังจากก่อนหน้านี้ เธอเคยกำกับหนังยาวเรื่อง “เจ้านกกระจอก” “ดาวคะนอง” และ “กระบี่ 2562” (เรื่องหลังสุด กำกับฯ ร่วมกับ “เบน ริเวอร์ส”)

จากข้อมูลที่ยังเผยแพร่ออกมาไม่มากนัก หนังเรื่องนี้จะมี “สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข” เป็นหนึ่งในนักแสดงนำ

โดยเว็บไซต์ของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินระบุว่า “ใจจำลอง” ถือเป็นความมุ่งมั่นอันสืบเนื่องมาจากหนังเรื่องอื่นๆ ของอโนชา ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การผสมผสานเรื่องเล่าเข้ากับมุมมองทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดได้อย่างแหลมคม

 

ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินประจำปีนี้จะแบ่งช่วงเวลาจัดฉายภาพยนตร์ออกเป็นสองช่วง ได้แก่ การฉายหนังทางออนไลน์ให้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมตลาดภาพยนตร์รับชมในเดือนมีนาคม ก่อนจะจัดฉายหนังในโรงภาพยนตร์ปกติตอนเดือนมิถุนายน

สำหรับสาย “Forum” และ “Forum Expanded” คือโปรแกรมฉายหนังอันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ-เลือกสรรผลงานโดยสถาบันภาพยนตร์ “อาร์เซนอล” ซึ่งมุ่งจะขยับขยายนิยามความหมายและอาณาบริเวณใหม่ๆ ให้แก่ “ภาพยนตร์”

ผลงานที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่โปรแกรมภาพยนตร์ทั้งสองสายจึงหลากหลาย มีทั้งประเด็นร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ เป็นทั้งหนังฟิล์มและหนังดิจิตอล รวมถึงเปิดกว้างต่อศิลปะจัดวาง ศิลปะการแสดง และดนตรี

สาย “Forum” จะประกอบด้วยภาพยนตร์ราว 40 เรื่อง โดยมักเป็นหนังนานาชาติที่ท้าทายบรรทัดฐานทางภาพยนตร์แบบดั้งเดิม เช่น การเล่นกับความกำกวมระหว่างบันเทิงคดีกับสารคดี

ส่วนสาย “Forum Expanded” จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่งานทัศนศิลป์แขนงต่างๆ ละครเวที ศิลปะการแสดง กิจกรรมดนตรี และสื่อร่วมสมัยอื่นๆ ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยด้านการเมืองและสังคม