เบิ้ล ปทุมราช กับแสงสว่างในทุ่งลาเวนเดอร์ และการอมยิ้มดูความสำเร็จของผู้อื่น

“เป็นคนที่สมองไม่ค่อยหลับเท่าไหร่ครับ” คือสิ่งที่เบิ้ล ปทุมราช-อาทิตย์ สมน้อย บอกกับมติชนสุดสัปดาห์ พลางชี้ให้ดูหลักฐาน คือรอยคล้ำรอบดวงตา

“ตาง่วง แต่สมองตื่น” คืออาการประจำตัวที่นักร้องคนดังเล่าพลางยิ้ม

จากนั้นก็ว่า ห้วงเวลาที่สมองตื่น เขามักคิดถึงเรื่องงาน เหตุเพราะ “ผมอยากประสบความสำเร็จเร็ว” เพื่อว่าวันหนึ่ง “จะได้ทำอะไรที่เราชอบ แล้วไม่ต้องเดือดร้อนกับโลกแห่งความจริงเท่าไหร่”

เบิ้ลซึ่งเดินตามความฝัน ด้วยการแต่งเพลงและร้องเพลงเผยแพร่ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก่อนส่งคลิปเข้าร่วมประกวดในการแข่งขันรายการหนึ่ง แล้วลงท้ายด้วยการได้เป็นนักร้องในสังกัดอาร์สยาม จนทุกวันนี้มีแฟนเพลงมากมาย ขณะเดียวกันก็ยังได้เป็นนักแสดง รวมถึงยังเปิดบริษัทแลนด์ ออฟ สไมล์ เพื่อทำเพลงและทำหนัง

“ผมมีเป้าหมายหลายเรื่องอยู่” หนุ่มวัย 24 ปี เผยความคิด

“สิ่งแรกคือ เราเป็นนักร้องได้แล้ว ก็อยากจะปั้นนักร้องให้ดัง อย่างที่สองเป็นนักแสดงได้แล้ว ก็อยากจะสร้างหนังให้ปัง” ซึ่งอย่างหลังนี้จะว่าไปก็ทำได้แล้ว จากผลงานชิ้นแรกคือ “ออนซอนเด” ส่วนเรื่องที่สอง “ฮักเถิดเทิง” ก็กำลังรอการพิสูจน์อยู่ในโรงภาพยนตร์ ขณะที่งานเพลงของค่ายยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ เบิ้ลบอกว่า อันที่จริงเขาไม่ได้คิดที่จะทำ “โน่น นี่ นั่น เป็นร้อยอย่าง” เพราะที่คิดคืออาจจะเลือกทำสักแค่ 10 แล้วเก็บที่ทำได้ดีจริงๆ ไว้สัก 5

“จากนั้นก็อยู่กับตัวเองให้มากขึ้น ทำงานให้น้อยลง”

เพื่อจะได้มีเวลา “ใช้ชีวิต” อย่างที่ต้องการ

แผนต่างๆ ที่เล่ามา เบิ้ลบอกว่า เริ่มคิดตั้งแต่อายุราว 20-21 ปี ตอนที่จับได้ใบแดงตอนเกณฑ์ทหาร

เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน

“ช่วงนั้นเป็นนักร้องที่มีงานข้ามปี ก็ต้องยุติการทำงานเพลง เปลี่ยนจากจับไมค์ไปจับปืน”

แผนชีวิตที่ไม่เคยคิดไว้ จึงสอนให้ต้องรู้จักเตรียมการ

เบิ้ลที่เข้าวงการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถ้าแยกเวลาของการเป็นทหารออก 2 ปี ก็เท่ากับเขาเป็นนักร้อง-นักแสดงจริงๆ ราวๆ เพียงแค่ 4 ปี แต่กระนั้นในความคิดตัวเอง “ผมก็เป็นเบื้องหน้ามาพอสมควร”

อีกทั้งแม้ “แสงสว่างในทุ่งลาเวนเดอร์จะหอมหวาน”

“แต่การนั่งอมยิ้ม ดูความสำเร็จของใครสักคน มันมีความสุขกว่าการที่เราสำเร็จด้วยตัวเอง เด่นด้วยตัวเองคนเดียว”

“ถ้าเราทำให้คนอื่นเขาต่อยอดในแง่ความมั่นคงได้ ต่อๆๆ ไป มันมีความสุขมากกว่า”

และด้วยแนวคิดนี้แหละ ที่ทำให้เขาประกาศชัดว่า ความสำเร็จของงานในบริษัทเขา ไม่ได้วัดจากรายได้เป็นหลัก

“อย่างหนัง สิ่งแรกคือให้คนจำบริษัท จำชื่อผู้กำกับฯ จำชื่อนักแสดงได้ สามารถสร้างนักแสดงจากในหนังให้ออกไปมีงานทำ มันสำเร็จกว่าการที่ให้หนังได้เงินอย่างเดียว เพราะจะเหมือนการเอาตัวรอดคนเดียว ทิ้งเพื่อนไว้บนเรือ”

ซึ่งไม่โอเค

ต่างๆ นานาเหล่านี้ เบิ้ลบอกว่า เป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากการได้อ่านหนังสือ 2 เล่มใหญ่ในชีวิตคือพ่อกับแม่ ซึ่งเป็นคนติดดิน มุ่งมั่น ขยันทำงาน แล้วก็มีคุณธรรมสูง

“ทุกวันนี้เขาก็ยังทำงาน เลี้ยงวัว เผาถ่าน ตามปกติ ผมยังทำให้เขาเลิกไม่ได้ ถึงจะมี 100 ล้านก็ทำไม่ได้ ผมไม่สามารถซื้อความสุขของคนแก่ 2 คนที่เขาชอบทำ มาเป็นของผมได้”

“ซึ่งบางครั้งผมก็อิจฉาเขานะ” เบิ้ลสารภาพ

“อิจฉาที่เขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ” บอกพลางยิ้ม

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงรายละเอียดของสิ่งที่เขาเฝ้ามองจากพ่อกับแม่ที่ “สอนผ่านการกระทำ” เบิ้ลบอกทันทีว่ามีหลายอย่าง อาทิ ไม่เอาเปรียบใคร แล้วห้ามให้ใครเอาเปรียบ, อย่าทำให้ใครไม่สบายใจ, เขาเจ็บไม่เท่าเราเจ็บ เขาทุกข์ไม่เท่าเราทุกข์, ทำตัวใหญ่ ยิ่งดูเล็ก ทำตัวเล็ก ยิ่งดูใหญ่ ฯลฯ

รวมไปถึง “วันหนึ่งถ้าเจออุปสรรค มีปืนจ่อหัว การจะลุกขึ้นมาสู้กับการไหว้ขอชีวิต ไหว้ดีกว่า เพราะถ้าตาย เราก็ไม่มีโอกาสกลับมาสู้ แต่ถ้าไหว้ ขอโอกาส อาจจะโดนดูถูกว่าอ่อนแอ”

“แต่ก็ต้องเอาตรงนี้ไว้”

เหล่านี้คือสิ่งที่เขาจำจนขึ้นใจ

สำคัญที่การเคารพ และให้เกียรติ

“แต่ก่อนผมคิดนะ ว่าต้องจบปริญญาตรีใช่ไหม ต้องเป็นด๊อกเตอร์ใช่ไหม ถึงจะเป็นบุคลากรที่สำคัญ ถึงจะทำให้คนเคารพ หรือให้เกียรติ”

“สมัยก่อนเราอยู่อีสาน เวลาพ่อไปงานแต่ง แต่งตัวเก่าก็ถูกมองแบบเหยียด ว่าใครวะ ใส่เสื้อลายสก๊อต รองเท้าดาวเทียมเข้าไป คือต้องแต่งชุดสีกากีใช่ไหม ต้องใส่แว่นตาอยู่ในบอร์ดบริหารใช่ไหม ถึงจะถูกมองว่าเป็นเจ้านาย”

“แต่พอมาเป็นนักร้อง อายุ 24 เรียนจบ กศน. ลูกน้องระดับด๊อกเตอร์เราก็มี ลูกน้องปริญญาตรีเราก็มี เลยรู้ว่าจริงๆ ไม่เกี่ยวกับอายุหรือการศึกษาหรอก มันเกี่ยวกับอุดมการณ์การใช้ชีวิต การให้เกียรติคน การวางแผน การคิดอะไรที่มันแตกต่าง แต่ไม่แตกแยกกับผู้อื่น”

“ผมเชื่อว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราได้ มากกว่าการจะไปสอบด๊อกเตอร์เพื่อเป็นเจ้านายคน”

“จบ กศน.ก็เป็นเจ้านายคนได้ ถ้าเราทำให้คนเคารพ แล้วให้เกียรติเขา เขาก็จะให้เกียรติเราคืน”

อย่างที่เขาเองทำอยู่