ละครโทรทัศน์กับรสนิยมไทยๆ และความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าละครโทรทัศน์ที่ดีต้องมีหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ แต่ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ผู้ควบคุมบทโทรทัศน์และคัดเลือกบทประพันธ์ ช่องวัน 31 บอกเลยว่า ถ้าเริ่มต้นกับ “กู๊ด สตอรี่” ก็เท่ากับ “ชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

ศิริลักษณ์ซึ่งมีหน้าที่เลือกซื้อนิยาย ซื้อพล็อต รวมถึงเขียนบทละครโทรทัศน์มานานนับสิบปี มีผลงานการเขียนบทเรื่อง “ชิงชัง”, “กาหลมหรทึก”, “อีสา รวีช่วงโชติ” ฯลฯ บอกว่า สิ่งที่เธอค้นพบคือละครที่คนดูรู้สึกว่าสนุก จะต้องมีพล็อตที่หวือหวา มีความพลิกแพลงซึ่งคาดเดาไม่ได้

อย่างไรก็ดี บางเนื้อหาที่เข้าลักษณะนี้ ก็อาจมีปัญหาด้านโปรดักชั่น จนไม่สามารถนำมาทำละครได้เช่นกัน

“อย่างนิยายบางเรื่องที่กลวิธีการเขียนคือ 10 บทแรกเล่าจากนางเอก กลางเรื่อง 10 บทต่อมาเล่าจากคนอื่น แล้วตอนจบก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นนิยายคนอ่านประกอบจิ๊กซอว์เข้าใจได้”

แต่ถ้าเป็นละครทีวี มีปัญหาแน่ๆ

เพราะจะมีนักแสดงคนไหนไหม ที่แฮปปี้กับการมีบทเด่นอยู่เพียง 10 ตอน จากนั้นก็หายไป เหมือนไม่มีความสำคัญ

ขณะเดียวกันในส่วนคนดู ที่ “อย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็ติดนักแสดง” และมีพฤติกรรมตามดูละครเพราะชอบคนแสดง

ดังนั้น ถ้าดูอยู่ดีๆ อ้าว หายไปซะแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ได้

อีกเคสหนึ่งซึ่งเธอก็อยากทำมาก คือเรื่องที่เนื้อหาดำเนินต่อเนื่องถึง 4 ช่วงอายุ เริ่มตั้งแต่ตอนพระเอกอายุได้ 12 ปี ไปจนถึงอายุ 91

“แต่ละครไทยเราจะทำได้แค่ 2-3 เจนเท่านั้น” เธอว่า

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้กัปตัน-ภูธเนศ หงษ์มานพ แสดง เขาก็จะรับบทตอนเป็นหนุ่ม จากนั้นก็กลายเป็นพ่อ แล้วก็เป็นปู่

“ให้เขาไปเป็นเด็กอายุ 12 คนดูคงไม่ไหว คุณกัปตันก็คงไม่ไหว”

ครั้นจะใช้วิธีคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถมารับบทก็จะเจอะปัญหาคนไม่ดูอีก

“ถ้าเป็นหนัง เขาทำได้ ก็คุณซื้อตั๋วเข้าไปแล้ว 10 นาที ยังไม่ใช่พระเอก ไม่เป็นไร เพราะยังไงเดี๋ยวก็มา แต่ละคร กว่าพระเอกที่เขาจะรู้จักมา ไม่ไหวนะ”

เนื่องจากสำหรับคนดู “เปิดมาตอนแรก ต้องเจอพระเอก นางเอก ถ้าบอกว่าเดี๋ยวณเดชน์ ญาญ่า จะมาจันทร์หน้า จันทร์-อังคารนี้ช่วยดูเด็กไปก่อน ไม่มีทาง”

ยกเว้นแต่จะมีนักแสดงตัวเด่นๆ คนอื่นมารับบทในรุ่นพ่อ รุ่นแม่ แต่ก็นั่นล่ะ ใช่ว่าจะง่าย

“สมมุติเป็นแท่ง (ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) แหม่ม (คัทลียา แมคอินทอช) มา 2 ตอน พอณเดชน์ ญาญ่า โต แล้วคุณบอกไม่มีอะไรละ แท่งแหม่มยืนเฉยๆ ไป เขาจะเล่นให้คุณหรือ”

ในกรณีอย่างนี้ศิริลักษณ์บอกว่า เท่าที่เธอเคยเห็น หากเป็นของต่างประเทศ อย่างยุโรป อเมริกา ฯลฯ ผู้สร้างมักแคสต์หาเด็กที่แสดงเก่งและหน้าเหมือนมาทำงาน

“โดยส่วนตัวเอง รู้สึกว่าเมืองนอกเขาไม่ได้ดูที่เนม เขาดูองค์รวม โปรดักชั่นควอลิตี้ เล่นเก่งไหม เรื่องสนุกไหม ไม่ได้ติดดารา ไม่ได้มีลักษณะติ่งเหมือนคนเอเชียว่าฉันจะตามดูดาราคนนี้”

ถ้าแยกเป็นประเภท ศิริลักษณ์บอกว่า ในความเห็นของเธอ “คนไทยชอบละครฟูมฟายอารมณ์”

ชอบใช้ใจในการดูละคร

“ชอบรัก โลภ โกรธ หลงไปตามตัวละคร ไม่ชอบคิด ไม่ชอบจำ ไม่ชอบละครที่ทวงถามว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะทำยังไง ชอบสำเร็จรูปมาเลย แล้วจะได้เชียร์ เหมือนเชียร์มวย”

“คนไทยเป็นชนชาติที่ชอบเล่นสนุกกับอารมณ์ ชอบร้ากกกกก โกรธ ตบมัน ใช้อารมณ์ปะทะกับทุกเรื่อง แล้วจะเป็นความปลดปล่อยและผ่อนคลายของเขา”

ด้วยเหตุนี้ละครแนวสืบสวนสอบสวนจึงมักไม่ค่อยโดนใจ

“คนขี้เกียจคิด ขี้เกียจสงสัย บอกเลยได้ไหมว่าใครเลว จะได้ด่าได้ถูก แล้วตามเชียร์คนที่ดี”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เจ้าตัวเห็นได้ในระยะหลังๆ คือ ละครแนวนี้จะเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่

“เรื่องความชอบเป็นรสนิยมของชนชาติ เราเป็นชาติสบายใจ ไม่ชอบโฮลอะไรไว้ในหัว แล้วคนส่วนใหญ่เสพละครเพื่อความผ่อนคลาย แต่คนกลุ่มที่ดูซีรี่ส์เมืองนอก คนกลุ่มใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ พวกนี้ไม่ติดค่าย ไม่ได้เป็นติ่งช่องไหน ซึ่งเจนนี้เริ่มมาแล้วนะ พวกเขาคือเด็ก แต่เดี๋ยวจะโตขึ้น”

“เราเชื่อว่า 4-5 ปีนับจากนี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่น ซึ่งการทำคอนเทนต์จะเป็นเรื่องยากมาก เพราะกลุ่มคนดูเริ่มแตกเป็นหย่อมๆ ของอายุ ที่อายุ 50 กับ 18 แก๊ปต่างกันมาก เด็กเดี๋ยวนี้ดูละครกับแม่ไม่ได้แล้ว ความสนใจต่างกัน การใช้ชีวิตต่างกัน เพราะฉะนั้นคนทำคอนเทนต์ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง”

“แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับ คือละครสนุกสำหรับทุกคนในครอบครัวไม่มีแล้ว หรือถ้ามีก็น้อยมาก ละครที่เอ็นจอยกันตั้งแต่หลานวัยมัธยมไปจนรุ่นคุณปู่ คุณย่า”

“เพราะว่าใจไม่เหมือนกัน ชีวิตคนเดี๋ยวนี้มันหลากหลาย และเขาจะเลือกดูแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ เขาจะไปเจอคนที่ชอบเหมือนเขาในโซเชียล แล้วไปฟอร์มกลุ่ม ฟอร์มกรุ๊ปตามแฮชแท็ก ไม่ดูตามคนที่บ้านอีกต่อไป”

“ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองในการเสพ”