คนมองหนัง | “ดิว ไปด้วยกันนะ” : ระหว่าง “คุณค่าสากล” กับ “อารมณ์แห่งยุคสมัย”

คนมองหนัง

(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

“ดิว ไปด้วยกันนะ” คือภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดของ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ซึ่งเคยสร้างชื่อขึ้นไปถึงจุดพีกสุดในวิชาชีพการทำหนัง เมื่อครั้งกำกับภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม”

หนังใหม่ของ “มะเดี่ยว” รีเมกจากภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “Bungee Jumping of Their Own”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้เขียนไม่เคยชมผลงานต้นฉบับมาก่อน

จึงขออนุญาตเขียนถึง “ดิว ไปด้วยกันนะ” ในฐานะเรื่องเล่าชิ้นหนึ่งที่มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง

หนังเรื่องนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองครึ่ง

ครึ่งแรกที่อาจชวนให้หลายคนนึกถึง “รักแห่งสยาม” บอกเล่าเหตุการณ์ระหว่างปี 2539-40 ว่าด้วยสายสัมพันธ์ของเด็กหนุ่ม ม.ปลายคู่หนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนสมมุติชื่อ “ปางน้อย” อันมีระยะห่างแต่ก็ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เสียทีเดียว

เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “ดิว” เป็นลูกของข้าราชการแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งต้องย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ คนดูล้วนสัมผัสได้แต่แรกว่าเขามีท่าทีรักชอบเพื่อนผู้ชายอีกราย

เด็กหนุ่มรายหลังชื่อ “ภพ” ลูกคนเล็กของครอบครัว “จีน (ฮ่อ?)” ซึ่งมีพ่อเป็นผู้ครอบครองอำนาจเด็ดขาดในครัวเรือน (พ่อปกครองลูก) หนังค่อยๆ ฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของเด็กหนุ่มผู้นี้ จากวัยรุ่นชายทั่วไป สู่ชายหนุ่มที่มีใจให้เพื่อนรักคู่ซี้

ความรักของเด็กหนุ่มสองคนขัดแย้งกับบรรทัดฐานทางสังคม เมื่อโรงเรียนมีนโยบายจับ “เด็กที่เบี่ยงเบน” ไปฝึกวินัยในค่ายทหาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์

ความรักดังกล่าวยังก่อให้เกิดรอยแผลลึกระหว่างปัจเจกบุคคลกับครอบครัวของพวกตน

กราฟความรักความสัมพันธ์ของ “ดิว” กับ “ภพ” พุ่งขึ้นถึงขีดสุด เมื่อทั้งคู่เดินทางมาเรียนพิเศษและเช่าหอพักอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ในช่วงปิดเทอม

ความรักที่เอ่อล้นนำไปสู่ความสับสน ความไม่แน่ใจ และการพยายามหลบหนีของ “ภพ”

ก่อนที่ทุกอย่างจะแหลกสลายลง เมื่อ “ภพ” ตัดสินใจเดินทางออกไปแสวงหาโลกที่ดีกว่านอกบ้านเกิด

ขณะที่ “ดิว” เกิดอาการละล้าละลัง

และสุดท้ายก็ลาจากอีกฝ่ายไปอย่างนิรันดร์ โดยมิได้ตั้งใจ

ครึ่งหลังของหนังมีท้องเรื่องอยู่ในยุคปัจจุบัน เมื่อ “ภพ” ซึ่งล้มเหลวกับการประกอบธุรกิจที่กรุงเทพฯ หวนกลับมาใช้ชีวิตที่ “ปางน้อย” พร้อมภรรยาของเขา

อาชีพใหม่ของ “ภพ” คือการเป็นครูในโรงเรียนแห่งเดิม ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะความรัก/มิตรภาพ/บาดแผลเมื่อครั้งอดีต

ครูหน้าใหม่ได้รับมอบหมายให้คอยดูแลประคับประคอง “หลิว” นักเรียนหญิง ม.4 จอมเฮี้ยว

ทว่า ยิ่งมีปฏิสัมพันธ์กัน “ครูภพ” ก็ยิ่งรู้สึกว่า “หลิว” มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ “ดิว” มากขึ้นเรื่อยๆ

ท้ายสุด ทั้ง “ภพ” และตัว “หลิว” เอง ต่างก็มั่นใจว่าเธอคือ “ดิว” ซึ่งยังดำรงคงอยู่ในเรือนร่างและเพศสภาพใหม่

รักเก่าในบริบทใหม่ระหว่างครูหนุ่มกับนักเรียนสาว จึงกลายเป็นสิ่งที่ขัดขืนปทัสถานทางสังคมอีกคราหนึ่ง

ก่อนที่ทั้งสองคนจะนำพาตนเองไปสู่ “จุดจบ” ที่อาจมิได้หมายถึง “จุดสิ้นสุด”

ตามความเห็นส่วนตัว ประเด็นน่าสนใจที่แฝงอยู่ภายใต้พล็อตเรื่องราวเกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิด/การระลึกชาติเชิงปาฏิหาริย์ ใน “ดิว ไปด้วยกันนะ” ก็คือ ปัญหาว่าด้วยการสืบทอดภารกิจ การส่งมอบคุณค่าบางประการ และการดำรงอยู่ของความมุ่งมั่นใฝ่ฝัน/อุปสรรคบางอย่าง ท่ามกลางภาวะเปลี่ยนผันของวันเวลา

อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความทรงจำเกี่ยวกับ “ดิว” ยังคงอยู่ในตัวตนของ “ภพ” คนเดิม

ขณะเดียวกัน อารมณ์ความรู้สึก ความรัก ความทรงจำ เกี่ยวกับ “ดิว” และ “ภพ” ก็ถูกส่งมอบสืบต่อมาถึง “หลิว”

วัตถุพยานความรักและความใฝ่ฝันส่วนบุคคลของเด็กหนุ่มสองคนเมื่อกว่าสองทศวรรษก่อน ที่ปรากฏผ่านเพลง “…ก่อน” และกิจกรรม “บันจี้จัมพ์” ยังคงไหลเลื่อนแทรกซึมเข้าสู่สายสัมพันธ์แหวกจารีตระหว่างครูกับศิษย์ ณ ต้นทศวรรษ 2560

บรรทัดฐานทางสังคมต่างชุด จากกรณี “รักร่วมเพศ” ระหว่างเพื่อน สู่คดี “การล่วงละเมิดทางเพศ” ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก คืออุปสรรคกีดกั้นที่คอยขัดขวางความรักบริสุทธิ์ของปัจเจกบุคคลสองรายในทุกยุคสมัย

คล้ายคลึงกับที่ “แม่ดิว” และ “เมียภพ” พยายามทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือ การแสดงออกซึ่งความรักในนามของครอบครัว เพื่อเหนี่ยวรั้ง “ลูกและสามี” ไม่ให้จากไป ทว่าล้มเหลว

ณฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง “ครูรัชนี” ซึ่งเป็นตัวละครคนหนึ่งที่มีบทบาทในทั้งสองช่วงเวลา และรู้จัก “ดิว-ภพ-หลิว” ดี ได้ให้โอวาทแก่ “ครูภพ” หลังกระทำเรื่องพลาดพลั้งซ้ำสองว่า เขาควรจะต้องปล่อยวางอดีตเสียบ้าง อย่าไปยึดติดกับมัน

นี่เป็นคล้าย “สัจธรรม” ที่ฟังดูสมเหตุสมผล และมักเป็นบทสรุปที่หนัง/ละคร/นิยายซึ่งเล่าเรื่องราวผ่านธีมการรำลึกความหลัง มักเลือกจะลงเอย

“สัจธรรม” เช่นนั้นคืออุปสรรคลำดับที่สาม สำหรับ “ภพ” และ “ดิวในร่างหลิว”

อย่างไรก็ดี “ภพ” กับ “หลิว/ดิว” กลับยึดติด ไม่ปล่อยวาง และเลือกจะดิ่งจมลงสู่ห้วงความสัมพันธ์ที่หลายคนพิพากษาว่าเป็นไปไม่ได้ เพื่อสืบสานภารกิจที่พวกตนเคยประสบความล้มเหลว

ด้านหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาพยายามสานต่อ อาจเป็น “คุณค่าสากล” (เช่น รักแท้หรือรักบริสุทธิ์) ที่ปักหลักมั่นคงท้าทายกาลเวลา

อีกด้านหนึ่ง นี่อาจเป็น “จิตวิญญาณ/อารมณ์ความรู้สึกแห่งยุคสมัยหนึ่ง” (จิตวิญญาณขบถ-อารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นปลายทศวรรษ 2530) ซึ่งพุ่งทะลุผ่านมิติเวลา โดยมีบางคนเท่านั้นที่พร้อมจะอินและเข้าอกเข้าใจมัน

นี่คือคุณลักษณ์สองด้านที่สอดประสาน-ช่วยผลักดันให้ความใฝ่ฝันและสายสัมพันธ์บางประเภทของผู้คนบางคู่บางกลุ่ม ดำเนินต่อเนื่องไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด