คนมองหนัง | “ฮักบี้ บ้านบาก” สายใย “บิณฑ์” กับ “อุบลฯ” ปฏิสัมพันธ์ “อีสาน” กับ “ส่วนกลาง”

คนมองหนัง

“บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ไม่ได้เริ่มต้นสายสัมพันธ์ระหว่างเขากับชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่เหตุการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน 2562

ทว่าก่อนหน้านั้น บิณฑ์ได้สร้างหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงของทีมรักบี้ “โรงเรียนบ้านบาก” อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเคยเข้ามาคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศรักบี้ 7 คน ชิงแชมป์ประเทศไทย รุ่นอายุไม่เกิน 13 ปี ระดับดิวิชั่นสอง อย่างพลิกความคาดหมาย

หนังเรื่องดังกล่าวคือ “ฮักบี้ บ้านบาก” ซึ่งเข้าฉายก่อนหน้าเหตุน้ำท่วมใหญ่อุบลฯ ไม่นาน

แม้หนังจะทำรายได้ไม่ดีนัก แต่ก็มีคุณภาพน่าพอใจ ซ่อนประเด็นชวนขบคิด ทั้งยังอาจเป็นเหตุผลลึกๆ ที่ผลักดันให้บิณฑ์ทุ่มเทกายใจช่วยเหลือพี่น้องชาวอุบลฯ ชนิดเต็มกำลังความสามารถ

เราสามารถพูดได้ค่อนข้างเต็มปากว่า “ฮักบี้ บ้านบาก” คือ “หนังบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” เพราะเขาทำหน้าที่ตั้งแต่อำนวยการสร้าง เขียนบท ร่วมถ่ายภาพ และน่าจะร่วมกำกับการแสดงโดยพฤตินัย

อย่างไรก็ดี “ปื๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล” ซึ่งมีเครดิตเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ (ในทางนิตินัย) ย่อมมีบทบาทสำคัญต่อตัวหนังอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“ฮักบี้ บ้านบาก” ทำให้ผมนึกถึง “สวัสดีบ้านนอก” ผลงานเมื่อปี 2542 ของ “ปื๊ด ธนิตย์”

น่าสนใจว่า “สวัสดีบ้านนอก” และ “ฮักบี้ บ้านบาก” มีความพ้องกันหลายประการ เช่น การเป็นหนังสเกลเล็กๆ ที่มีท้องเรื่องอยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนเรื่องราวขาดๆ พร่องๆ ล้นๆ เกินๆ ของหนังก็ถูกถ่ายทอดผ่านการแสดง-การเล่าเรื่องที่จริงใจและไม่ทะเยอทะยานเกินขีดจำกัดของตัวเอง

ขณะที่หนังตลกซึ่งแลดูเช้ยเชย เหมือนย้อนยุคไปถึงทศวรรษ 2520 (แม้จะถูกผลิตขึ้นในต้นทศวรรษ 2540 อันเป็นยุคปฏิวัติภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง) อย่าง “สวัสดีบ้านนอก” เล่าถึงการปรับประสานต่อรองระหว่างรัฐส่วนกลางกับชนบท

ผ่านสายสัมพันธ์ของข้าราชการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต. (ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเมืองในยุคสมัยนั้น) โดยมีแกนกลางความสัมพันธ์เป็นพล็อต “พ่อตาลูกเขย” และแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”

“ฮักบี้ บ้านบาก” กลับเล่าถึงสายสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการครู (ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นคนท้องถิ่น) กับเด็กๆ ลูกชาวบ้าน โดยมีสื่อกลางเป็นกีฬา “รักบี้” รวมถึงทุน/สินค้าอื่นๆ อาทิ “สุกี้เอ็มเค”

ผมรู้สึกพอใจกับ “ความเป็นหนังกีฬา” ของ “ฮักบี้ บ้านบาก” ซึ่งสามารถถ่ายทอดภาพจำลองการแข่งขันรักบี้ออกมาได้อย่างสนุก รู้เรื่อง และไม่ค่อยมั่ว

แม้จะติดใจตรงขนาดของทัวร์นาเมนต์ซึ่งแลดูเล็ก และจำนวนทีมที่เข้าร่วมแข่งขันซึ่งแลดูน้อยไปหน่อย (ตามงบประมาณการสร้างภาพยนตร์)

ถ้าเปรียบเทียบกับ “หนังกีฬา” ของไทยเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่า “ฮักบี้ บ้านบาก” อยู่ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับ “สตรีเหล็ก” (2543)

ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกทึ่งกึ่งขำพอสมควร ที่ทีมงานผู้สร้างสามารถจับเอาหลายสิ่งหลายอย่างยัดใส่เข้ามาในหนังกีฬาเรื่องนี้

ไม่ว่าจะเป็นมุขล้อเลียนพระสงฆ์, มุขผู้หญิงนมโต ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึง “ความถูกต้องทางการเมือง” ใดๆ, การปรากฏตัวของบรรดานักแสดงตลกในยุคซบเซาของ “ตลกคาเฟ่” และรายการทีวีแนว “ก่อนบ่ายฯ” เรื่อยไปถึงการพากย์กีฬาของ “ปิยะ ตระกูลราษฎร์”

องค์ประกอบที่ค่อนข้างเละเทะเหล่านี้ ย้ำเตือนให้เราตระหนักว่าภาพเคลื่อนไหวที่กำลังโลดแล่นอยู่ในจอภาพยนตร์นั้นคือ “หนังแบบบิณฑ์” หรือ “หนังตลกไซซ์เล็กสไตล์ปื๊ด”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอะไรต่อมิอะไรใน “ฮักบี้ บ้านบาก” จะเลอะเทอะไปเสียทั้งหมด เพราะเรายังได้พบเห็นพลวัตต่างๆ ในพื้นที่ชนบทของหนังเรื่องนี้

แม้สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในจักรวาลต่างจังหวัดของหนัง จะยังเป็น “ร้านขายของชำ-ตู้เติมน้ำมันรถเครื่อง” เหมือน “สวัสดีบ้านนอก” เมื่อสองทศวรรษก่อนไม่ผิดเพี้ยน

แต่ชนบทอีสานใน “ฮักบี้ บ้านบาก” ก็มีสถานที่ใหม่ๆ พื้นที่ใหม่ๆ และรสนิยมใหม่ๆ ปรากฏขึ้น ตั้งแต่ร้าน “เอ็มเคสุกี้”, สวนยางพารา ไปจนถึงกีฬารักบี้ อันเป็นแก่นกลางสำคัญของเรื่อง

การดำรงอยู่ของตัวละคร LGBT ในหนังนั้นชวนฉุกคิดไม่แพ้กัน

เพราะด้านหนึ่ง ตัวละครกลุ่มนี้ก็ถูกครู/พ่อ/เพื่อน ประเมินว่ามีความแตกต่างจากคนทั่วไป แต่อีกด้าน สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน/โรงเรียน/ทีมรักบี้ ก็ยอมรับอัตลักษณ์ตัวตนที่ผิดแผกเหล่านั้น กระทั่งเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน/โรงเรียน/ทีม อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

การฉายภาพเกย์อีสานวัยประถมปลายสองราย ผู้มีรูปร่างบอบบางแต่ตัวสูงที่สุดในทีม ทั้งยังสามารถเล่นรักบี้ได้เก่งและปราศจากกิริยาตุ้งติ้งในสนามแข่ง (เช่นเดียวกับหัวหน้าทีมซึ่งกลายเป็นเด็กชายร่างเล็กจิ๋วที่สุด) ส่งผลให้ทีม “ฮักบี้ บ้านบาก” เป็นแหล่งรวมนักสู้อันเดอร์ด็อกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย

และไม่ตรงตามปทัสถาน-ภาพเหมารวมของสังคม

แม้ขนาดของทัวร์นาเมนต์รักบี้ระดับชาติในหนังจะแลดูกระป๋องกระแป๋งไปสักหน่อย ทว่านัยยะของชื่อทีมที่ลงแข่ง (ในระบบการแข่งขันจริงๆ ไม่ได้ใช้ชื่อเสียงเรียงนามเช่นนี้) นั้นมีนัยยะอันมิอาจมองข้ามซ่อนแฝงอยู่

ทีมฮักบี้ “บ้านบาก” เป็นเพียงทีมเดียวที่ใช้ชื่อโรงเรียน/หมู่บ้านลงแข่ง ขณะที่ทีมคู่แข่งมีทั้งทีม “กาฬสินธุ์” และ “ร้อยเอ็ด” ซึ่งอ้างอิงชื่อจังหวัด ตลอดจน “พระนคร” ที่ฟังดูเรโทรกว่า “กรุงเทพฯ” และ “สยาม” ที่ดั้งเดิมกว่า “ไทย”

ดังนั้น ชุมชนเล็กๆ อย่าง “บ้านบาก” จึงมีความสัมพันธ์กับส่วนกลางอย่าง “พระนคร/กรุงเทพฯ” และรัฐชาติอย่าง “สยาม/ไทย” ผ่านการแข่งขันกีฬารักบี้

จะเห็นได้ว่า “ฮักบี้ บ้านบาก” มิใช่หนังอีสานที่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลาง หรือไม่ได้ต่อต้านชุมชนจินตกรรมในนามของความเป็นชาติ

แต่ตัวละครเด็กๆ และครูจาก “บ้านบาก” มีความกระตือรือร้นและความใฝ่ฝันที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม/ปฏิสัมพันธ์กับศูนย์กลางและรัฐชาติอย่างแข็งขัน

นี่คือการมีส่วนร่วมที่ทั้งเดินหน้าและถอยหลังไปบนเส้นทางอันสุดแสนขรุขระระหกระเหิน ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกครั้งคราว

เช่น ครูผู้ทำหน้าที่โค้ชทีม “บ้านบาก” ซึ่งเคยมีชีวิตรุ่งเรืองถึงขั้นเป็นนักฮอกกี้ทีมชาติไทย แต่สุดท้ายเขาก็ต้องกลับถิ่นเกิดมาฝึกสอนกีฬาที่ไม่ถนัดคุ้นเคย อย่างกระเบียดกระเสียรกระทบกระเทือนกระเป๋าเงินของตนเองและเพื่อนร่วมชุมชน

ส่วนเด็กๆ ทีม “บ้านบาก” ก็ลงแข่งรักบี้กับทีมร่วมภูมิภาค ทีมจากเมืองหลวง และทีมที่ใช้ชื่อเดียวกับชาติ อย่างแพ้บ้าง ชนะบ้าง โดยไม่เคยผงาดขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ทว่า วนเวียนอยู่แถวๆ ดิวิชั่น 2 แค่นั้น

อย่างไรก็ดี ครูและนักเรียนจากทีม “บ้านบาก” ต่างพยายามเข้าไปต่อสู้ต่อรองกับ “อำนาจรัฐ/ทุน” อย่างคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี ทั้งการยืนหยัดไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในสนามแข่ง เรื่อยไปถึงการเลือกรับประทาน “สุกี้เอ็มเค”

แม้นอกจอภาพยนตร์ สุกี้เจ้าดังอาจมีสถานะเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนหนัง “ฮักบี้ บ้านบาก” แต่ในจอภาพยนตร์ ต่อให้เด็กๆ จะอยากกิน “สุกี้เอ็มเค” สักเพียงใด พวกเขาและคุณครูก็มิได้เดินเข้าไปขอรับการอุปถัมภ์ตามแนวทางสังคมสงเคราะห์หรือ “ขอกินฟรี”

ตรงกันข้าม เหล่าสมาชิกทีม “ฮักบี้ บ้านบาก” ต้องอดทนฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ จนพวกตนมีสถานะเป็นรองแชมป์ดิวิชั่น 2 ระดับประเทศเสียก่อน ทั้งหมดจึงค่อยเดินเข้าร้าน “เอ็มเค” ในฐานะลูกค้า/ผู้บริโภคที่สุดแสนกระตือรือร้น

นี่เป็นสปิริตของนักสู้ ผู้พร้อมจะยืนหยัดไล่ตามความฝันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วง ด้วยน้ำมือตนเอง

ซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่ในหนังและทีมรักบี้เท่านั้น

“ฮักบี้ บ้านบาก” กำลังจะกลับมาเข้าฉายอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์ “ลิโด้ คอนเน็คท์” ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะมีการฉายหนังรอบการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเวลา 20.00 น. ของวันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม