เปิดสมรภูมิรบของละคร และ เทคนิค-เบื้องหลังความสำเร็จ “ละครช่องวัน”

จากเรตติ้งคนดูละครของช่องวันที่ต่ำเตี้ยระดับ 0.5 เมื่อครั้งเริ่มต้นออกอากาศเมื่อปี 2544 ถึงวันนี้ไม่เพียงแค่จะดีวันดีคืน แต่ต้องยอมรับว่าตลอดปีที่ผ่านมา ละครยังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “เมีย 2018”, “ล่า”, “บาปรัก”, “พรหมไม่ได้ลิขิต”

ที่เป็นอย่างนี้ ป้อน-นิพนธ์ ผิวเณร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตละคร บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด บอกเลย ไม่ใช่เรื่องฟลุก “เพราะเราคิดไว้แล้วว่าจะทำสิ่งนี้”

นั่นคือการทำงานภายใต้แนวคิดของการคอนเทนต์เพื่อคนรุ่นใหม่ อันไม่ได้วัดที่อายุ หากดูจากไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต คอนเทนต์ที่มี “ความร่วมสมัย”

“แปลว่ามันต้องทำงานกับคนปัจจุบัน ไม่ใช่คนในอดีต”

“เพราะความสำเร็จของเมื่อวาน ไม่ใช่ความสำเร็จของวันนี้ กุญแจของมันมีแค่นี้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำละครอะไรก็แล้วแต่ จะรีเมก ทำใหม่ ดัดแปลง หรือเขียนเอง ตัวละครของคุณ คนปัจจุบันต้องจับต้องได้ ไม่ใช่ตัวละครแบบนิยายโบราณเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว”

“สังคมเปลี่ยนไป คนทุกวันนี้สตรองขึ้น ปากกัดตีนถีบมากขึ้น สปีกเอาต์มากขึ้น ไม่ใช่เงียบๆ เรียบร้อย ใครแกล้งก็น้ำตารื้น ดูอย่างคลิปขับรถปาดหน้ากัน ทุกคนยังอยากถ่ายภาพฟ้องตำรวจ ทุกคนรักษาสิทธิตัวเอง แสดงออกถึงความไม่แฟร์ที่เกิดขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่สูง ดังนั้น คอนเทนต์อะไรก็แล้วแต่ ทั้งละคร ข่าว วาไรตี้ ทุกรายการเลยต้องคิดถึงสิ่งนี้”

อีกทั้งในฐานะของคนทำสื่อเพื่อส่งสาร “ถ้าเราหลับตาแล้วมองไม่เห็นหน้าคนที่เราจะสื่อสารด้วย ยังไงก็เจ๊ง”

พลังของผู้หญิง

จากอดีตที่สิทธิของผู้หญิงกับผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน ในปัจจุบันเขาว่านอกจากจะเสมอภาคแล้ว บางบ้านผู้หญิงอาจแซงหน้าเป็นผู้นำ ออกไปทำงานหาเงิน ขณะฝ่ายชายอยู่บ้านดูแลลูก ด้วยเหตุนี้ในฐานะสื่อ ก็ต้องปรับตัว

“หยุดปรับตัวไม่ได้ กฎ กติกา มารยาทของมีเดียมีอยู่แค่นี้แหละ”

และจากการสำรวจผู้ชม หรือที่เจ้าตัวเรียกว่าการท่องไปในจักรวาลของทีวี ก็พบว่ากลุ่มคนที่ดูทีวีมากที่สุดคือผู้หญิง ทุกสิ่งอย่างที่สถานีผลิตจึงอยู่ภายใต้แนวคิดของการทำให้ผู้หญิงดูเป็นหลัก

“เราจึงไม่ค่อยมีมวย”

และถ้าจะมี “มวยเราต้องมีนักมวยหล่อๆ เพราะผู้หญิงเป็นเจ้าของตลาด”

เลิกทำละครครบรส-หมดยุคเหวี่ยงแห

หนึ่งในแผนของช่องวันปีหน้า คือการขยายเวลาออกอากาศละครให้มากขึ้น จาก 25 เรื่องต่อปี กลายเป็น 28 หรืออาจถึง 30 และทุกเรื่องจะเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าเดิม

แต่ “เราจะไม่มีละครครบรส”

“เมื่อก่อนที่ทำเพราะชาวบ้านมีเวลาดูวันเดียว เรื่องเดียว เวลาเดียว เลยต้องทั้งบู๊ เศร้า ตลก แต่เดี๋ยวนี้ไม่เวิร์กแล้ว คนดูเลือกชัดเจนว่าแบบไหนที่อยากดู ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่เลือก แล้วถีบทิ้ง”

“ดูในโทรศัพท์สิ ยังไม่เหมือนกันเลย แอพพ์ที่เราเลือกเป็นคำตอบว่าโลกทุกวันนี้ความชอบของคนชัดขึ้นในทุกพื้นที่”

“ดังนั้น ในหนึ่งคอนเท้นต์จะเอาทุกคนเลย เป็นไปไม่ได้ ต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน สื่อสารกับใคร อายุเท่าไหร่ หมดยุคเหวี่ยงแห ต้องเลือกจับ”

การจองนิยาย ช้อนซื้อไว้ตั้งแต่เริ่มเขียนก็เชยแล้ว

เขาเล่าด้วยว่า ในการหาเรื่องมาทำละครของช่องวันจะมาจาก 2 ทาง หนึ่งคือผู้จัดหรือคนเขียนบทเสนอ และสองทีมครีเอทีฟของช่องคิดขึ้น ซึ่งทุกเดือนจะมีการระดมไอเดียกัน ถ้าชอบเรื่องไหนของใครค่อยไปขอซื้อ

“เมื่อก่อนเขาจะแย่งกันซื้อนิยาย ช้อนซื้อไว้เลยตั้งแต่อยู่ในหัว เดี๋ยวนี้เชยแล้วครับ เพราะคนเขียนนิยายก็แก่ขึ้นทุกวัน แล้วคนอายุมาก เขาไม่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว อายุ 60 ไม่มีการปรับตัวใดๆ แล้ว คือนักประพันธ์ก็มีช่วงยุคทองของเขา บางคนคือตอนที่เป็นสาว บางคนอยู่ในวัยกลางคน แต่ทุกคนจะไม่เขียนนิยายพีกๆ อีกแล้วในตอนแก่ เพราะไม่มีไฟท้าทาย นั่นคือปัญหาของนิยายคลาสสิค”

ขณะนักเขียนใหม่ๆ ก็มักเจอพวกที่มีไอเดียดี แต่เรื่องข้างในตรงกันข้าม “มีแต่หน้าหนังและชื่อเรื่อง ความแม่นประเด็นหรือแก่นแกนสู้นักเขียนคลาสสิคไม่ได้”

“มันไม่ลงตัวแบบนี้ ฉะนั้น การทำบทจากนิยายก็จะยาก”

หากถ้าจะให้หยิบนิยายคลาสสิคขึ้นชื่อในอดีตมาทำ ก็ต้องดูอีกละว่าจะเข้ากับปัจจุบันได้ไหม

“ถ้าแคแร็กเตอร์เรื่องเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบันไม่ได้ ก็ไม่ทำ แปลว่ามันไม่เข้ายุคสมัย ไปขึ้นหิ้ง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกได้ เพราะมันไม่สามารถมีแบบนั้นได้อีกแล้ว”

สมรภูมิรบของละคร

ดูจากสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลที่ต่างฝ่ายต่างพยายามทำให้สถานีของตัวติดอันดับท็อปเท็นเพื่อความอยู่รอด แล้วเขาก็ฟันธงเลยว่าปีหน้าแนวรบด้านละครจะดุเดือดยิ่ง ด้วยเท่าที่ได้ยินมาหลายช่องก็จะเริ่มทำ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการดึงตัวผู้ผลิต ผู้กำกับฯ นักแสดง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ย้ายค่าย

แต่ไม่เป็นไร นั่นเป็นเรื่องปกติ

เช่นเดียวกับการมุ่งหน้าพากันทำละคร

เพราะเทียบกันแล้ว เงินที่ใช้ทำรายการประเภทอื่น ค่าใช้จ่ายตอนต่อตอนอาจถูกกว่า แต่ถ้าทำไปหลายๆ ตอนแล้วไม่โดน สู้เอาเงินก้อนนั้นไปทำละครน่าจะเห็นผลกว่า

“ใน 1 ชั่วโมงจ่าย 5 แสน แต่ 50 อีพีต่อปี ทำละครได้เรื่องหนึ่งแล้ว ทำไมไม่ทำละครไปเลยให้ได้เรตติ้ง”

“การมีเรตติ้งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่ได้ ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ช่องก็จะอยู่ในอันดับต่ำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็จะตาย ดังนั้น การมีไม้ยืนต้นอย่างละครทีวีเป็นเกมที่ถูกต้องที่สุด”

“ทุกช่องที่มีเงินก็ต้องทำละคร เพราะมันได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่า เป็นคอนเทนต์ที่คนดูเยอะที่สุดในช่วงไพรม์ไทม์ ช่วงที่ทำมาค้าขาย”

ว่าด้วยสูตรสำเร็จ

ถ้าจะพูดเรื่องนี้ อันดับแรกเขาบอกต้องแยกให้ชัด ระหว่างถึง “สูตรวิธีคิด” หรือ “สูตรวิธีทำ”

ถ้าเป็นวิธีคิด นั่นเป็นเรื่องที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือ “ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเปิดดู”

แต่ถ้าเป็นวิธีทำ “ผมจะบอกว่ามันไม่มี”

เพราะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเสมอ

“เหมือนกับดูละครเดิมๆ พอเดาได้ เขาก็ไม่อยากดูต่อ เขาเป็นมืออาชีพในการดูละคร เขาอธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไร แต่มันไม่รู้อ่ะ เวลาถามว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร แล้วเขาบอกไม่รู้อ่ะ แปลว่าเรื่องนั้นไม่ได้ อธิบายไม่ถูกแปลว่าเรื่องนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเขาชอบ เขาจะอธิบายเป็นฉากๆ”

“สิ่งที่สตีฟ จ๊อบส์ ทำกับโลกจึงไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่เปลี่ยนไปถึงการใช้ชีวิตของคน คอนเทนต์อะไรก็ตามแต่ จะดู ไม่ดู นี่เรื่องของคนดูเลยนะ ไม่ใช่ว่านั่งเท่แล้วบอก เราแจ๋ว มาดูเราสิ หมดยุคแล้ว มันต้องทำให้เขาอยากมาดูจริงๆ”

“ถ้าคุณไม่ปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ คุณจะตาย”

แต่เป้าหมายของช่องวันคือ “ต้องรอด”