คนมองหนัง l “Shadow” : รอยโหว่ของ “ตาข่ายฟ้า” และฤทธาของ “สายฝน”

คนมองหนัง

“Shadow” คือผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “จางอี้โหมว” หนึ่งในผู้กำกับฯ “รุ่นห้า” ที่ยิ่งยงของจีนแผ่นดินใหญ่

ในแง่โปรดักชั่น หนังมีงานสร้างที่อลังการ มีการถ่ายภาพที่โดดเด่น โดยพยายามควบคุมโทนให้สีหลักของภาพยนตร์เป็น “สีขาว-ดำ” อันส่องสะท้อนถึงภาวะ “หยิน-หยาง” หรือการปะทะสังสรรค์ระหว่าง “คู่ตรงข้าม” ต่างๆ ซึ่งเป็นแก่นหลักของเนื้อเรื่อง

ในแง่เนื้อหา นี่เป็นหนังจีนย้อนยุคกึ่งกำลังภายในอีกเรื่องที่กล่าวถึงการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนัก เป็นการเดินตามจารีตการผลิตงานยุคหลังของ “จางอี้โหมว” ซึ่งมักอธิบายโลกจากมุมมองแบบ “ชนชั้นนำ” มากกว่า “คนเล็กคนน้อย” เช่นผลงานยุคแรกๆ

แม้ “Shadow” จะเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ รอบฉายหลักถูกเทไปอยู่ช่วง 11 โมงเช้าเกือบหมด แต่หนังก็ได้ “กล่อง” มากพอสมควร เช่น การเพิ่งคว้าสี่รางวัลม้าทองคำที่ไต้หวัน รวมถึงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ดังที่บอกไปแล้วว่าเนื้อหาเรื่องราวการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำของ “Shadow” มิใช่สิ่งแปลกใหม่น่าตื่นเต้น

อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดวางตัวละครนั้นมีความน่าสนใจชวนขบคิดไม่น้อย

สถานภาพอันพร่าเลือนระหว่าง “ผู้มีอำนาจตัวจริง” กับ “เงา” ที่เป็นเพียงหุ่นเชิดและตัวตายตัวแทนของเขา ขอบเขตอำนาจอันพร่าเลือนระหว่าง “เจ้าผู้ครองแคว้น” ในฐานะโอรสสวรรค์ กับ “ขุนศึก” ผู้คุมเกมการเมืองในอาณาจักรอย่างแท้จริง ก่อให้เกิดผลลัพธ์ท้าทายพอสมควร

กล่าวคือ หนังจีนในลักษณะเดียวกันกับ “Shadow” ส่วนใหญ่ มักวาดภาพให้รัฐโบราณมีศักยภาพในการสอดส่องพฤติกรรม-กำจัดผู้คน (ตั้งแต่เครือข่ายชนชั้นนำไปจนถึงชาวบ้านคนเล็กคนน้อย) อย่างครอบคลุม แน่นหนา ยากหลุดรอด

ประหนึ่ง “ตาข่ายฟ้า” ไร้รูรั่ว

ทว่าอำนาจสัมบูรณ์ที่สำแดงตนผ่าน “ตาข่ายฟ้า” กลับพลันมีช่องโหว่รอยแหว่งปรากฏขึ้นมา เมื่ออำนาจทางการเมืองระหว่าง “เจ้าผู้ครองแคว้น” กับ “ขุนศึก” และระหว่าง “ขุนศึกตัวจริง” กับ “ขุนศึกเงา” นั้นต้องถูกแบ่งสันปันส่วน ตามจำนวนผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเพิ่มมากขึ้น

แต่รูโหว่ที่บังเกิดบน “ตาข่ายฟ้า” ไม่ได้นำไปสู่ระบอบการเมืองแบบใหม่ หากเป็นเพียงช่องว่างซึ่งเปิดโอกาสให้ตัวละครหน้าใหม่เข้ามายึดครองตำแหน่งแห่งที่ของตัวละครหน้าเดิม ภายใต้ระบอบเดิม

ช่วงท้ายภาพยนตร์ เกิดเหตุฆาตกรรมทางการเมืองที่ซับซ้อนยอกย้อนไปมาหลายระลอก

แต่จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากที่สุด กลับอยู่ตรงชะตากรรมของตัวละครระดับรองๆ สองราย รายแรกคือ อำมาตย์จอมกะล่อน ซึ่งสามารถพลิกแพลงจุดยืนของตัวเองได้ตลอด กับรองแม่ทัพที่แลดูซื่อตรง ต่อรองพูดคุยได้ยากกว่า

ถ้าหนังกำหนดให้ตัวละครสมทบรายแรกยังมีชีวิตอยู่ แล้วเข่นฆ่าตัวละครรายหลังให้สิ้นชีวิต สภาพการเมืองยุคไร้หัว ณ ตอนท้าย ก็มีโอกาสสูงที่จะแปรเปลี่ยนไปสู่ระบอบระเบียบชนิดอื่น ล้อไปกับบุคลิกลักษณะของอำมาตย์ที่สอพลอลื่นไหลได้เรื่อยๆ

แต่พอหนังกำหนดให้อำมาตย์ต้องตาย ส่วนรองแม่ทัพดันรอด

การดำรงอยู่ของ “ขุนศึกระดับรอง” ที่เข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังต่างๆ ของกลไกอำนาจเป็นอย่างดี แถมเคยเป็นหมากสำคัญตัวหนึ่งบนกระดานการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองมาแล้ว และรู้กระจ่างชัดว่าใครคือ “แม่ทัพจริง” และ “แม่ทัพเงา” ก็คือเครื่องค้ำประกันซึ่งช่วยยืนยันว่าระบอบการเมืองในอาณาจักรนี้จะยังคงสภาพเดิม หรือฝังตรึงอยู่บนหมากกระดานเดิมต่อไป

เกมการเมืองระหว่าง “ชนชั้นนำ” ใน “Shadow” มีความคล้ายคลึงกับเกมการเมืองประเภทเดียวกันในหนัง-นิยายอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ตลอดจนหมากกระดานอำนาจในอีกหลายสังคมการเมืองที่เป็นจริง

หลายครั้ง เรามักประทับตราให้ตัวละครทางการเมืองจำนวนมากมีสถานะเป็นเพียง “เงา-หุ่นเชิด-ตัวแทน” ของตัวละครอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า และแอบซุ่มชักใยอยู่เบื้องหลัง

แต่ในความเป็นจริง ถ้าลองให้ “เงา-หุ่นเชิด-ตัวแทน” มาสัมผัสหรือมีส่วนร่วมกับเกมอำนาจแล้ว บุคคลเหล่านั้นก็ย่อมจะมีชีวิต จิตใจ และเจตจำนงของตนเอง โดยไม่ยอมเป็นแค่ “เงา-หุ่นเชิด-ตัวแทน” อีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงตรงจุดนี้ส่งผลให้ดุลอำนาจขยับ แม้ระบอบการเมืองจะไม่เขยื้อนก็ตาม

เขียนมายืดยาว องค์ประกอบที่ผมชื่นชอบมากที่สุดในหนัง “Shadow” กลับไม่ใช่เนื้อหาข้างต้น

แต่คือ “ฝน” ที่กลายเป็นตัวละครหลักสำคัญเพราะเทกระหน่ำลงมาทั่วทั้งเรื่อง

นอกจากบรรดาฉากประลองยุทธ์ระหว่าง “ง้าว” (แข็ง) กับ “ร่ม” (อ่อน) และการสู้รบกลางพระพิรุณที่ประทับใจผู้ชมหลายราย

ผมยังลุ่มหลงฉากท้องพระโรงริมน้ำซึ่งมีสายฝนโปรยปรายด้านนอกอยู่ตลอดเวลา

กระทั่งอดคิดไม่ได้ว่า นอกจาก “นาฏรัฐ” ที่อลังการจะถูกกร่อนเซาะด้วยการแย่งชิงอำนาจภายในและศึกสงครามภายนอกแล้ว มันยังเปื่อยยุ่ย เปียกแฉะ และค่อยๆ อ่อนแอลงด้วย “ฤทธิ์ฝน”

นอกจากนี้ หลังดู “Shadow” จบ ผมยังแอบนึกถึงบรรดาหนังละครแนว “ไทยรบพม่า” ของบ้านเรา

แทบทุกคนล้วนทราบกันดีว่าฤดูฝนและภาวะน้ำหลากน้ำท่วมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเดินทัพ-ตั้งทัพของศึกสงครามเหล่านั้นเสมอ

แต่เราแทบไม่เคยเห็น “ฝน” และ “น้ำท่วม” ในหนังละครอิงประวัติศาสตร์แนว “ไทยรบพม่า” แบบไทยๆ เลย

เข้าใจแหละว่าฉากเหล่านี้นั้นถ่ายทำกันยากเย็นขนาดไหน ไม่ว่าจะโดยเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์ น้ำพักน้ำแรงของแรงงานคนจำนวนมหาศาล และปรากฏการณ์ธรรมชาติ