รีวิวผลงานหมายเลข 8 ของ Suede ผงาดชาร์ตอังกฤษ

ผลงานชุดที่แปดของ Suede วงจากอังกฤษ ที่ยุบวงไปแล้วกลับมารวมตัวใหม่อีกครั้ง ออกเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาในชื่อ The Blue Hour ขึ้นอันดับ 5 ในชาร์ตอัลบั้มของอังกฤษ

ไลน์อัพของ Suede ปัจจุบัน ประกอบด้วย เบรต แอนเดอร์สัน ร้อง, ริชาร์ดส์ โอกส์ กีตาร์, ไซมอน กิลเบิร์ต กลอง, แมต ออสมัน เบส และนีล คอดลิ่ง ซินธ์/เปียโน

ก่อนหน้าผลงานชุดนี้ Suede ออกอัลบั้ม Night Thoughts และประสบความสำเร็จได้รับการต้อนรับอย่างดี ทางวงได้เริ่มต้นบันทึกเสียงกับโปรดิวเซอร์ อลัน โมลเดอร์ ที่แอสซอลต์ แอนด์ แบตเตอรี่ สตูดิโอในลอนดอน โดยก่อนหน้านี้ นับจากอัลบั้ม A New Morning ทางวงใช้บริการของเอ็ด บุลเลอร์ มาตลอด

ทางวงออกซิงเกิลแรก The Invisibles เมื่อเดือนมิถุนายน ตามมาด้วย Don”t Be Afraid If Nobody Loves You ในเดือนต่อมา และ Life Is Golden ในเดือนสิงหาคม

และซิงเกิลที่สี่ Flytipping ในเดือนกันยายนก่อนหน้าอัลบั้มออกวางแผงไม่กี่วัน

สําหรับตัวอัลบั้ม ในสแตนดาร์ดเอดิชั่น มี 14 เพลง เริ่มต้นด้วย 1.As One 2.Wastelands 3.Mistress 4.Beyond the Outskirts 5.Chalk Circles 6.Cold Hands 7.Life Is Golden 8.Roadkill 9.Tides 10.Don”t Be Afraid If Nobody Loves You 11.Dead Bird 12. All the Wild Places 13.The Invisibles 14.Flytipping

ความยาว 51:36 นาที นำเสนอความลงตัว เสียงร้องและกีตาร์ที่มีเสน่ห์เข้มของป๊อปร็อกแบบอังกฤษเก๋ๆ เจือปนความดิบในบางช่วงบางตอน นักวิจารณ์ชื่นชมและคาดหมายว่า Suede น่าจะได้ “กล่อง” จากงานชุดนี้ นอกเหนือจากการขายตามปกติ

วง Suede สำหรับคอเพลง ไม่ใช่คนแปลกหน้าแน่นอน หลายๆ คนยังสะสมเพลงของวงนี้ และงัดขึ้นมาฟังหรือเสิร์ชหาใน youtube มาฟังกันได้เนืองๆ

และอาจจะต้องเผื่อแผ่ไปฟังโอเอซิส, เบลอ และพัลพ์ ที่ถือว่าเป็นบิ๊กโฟร์ของบริตป๊อปในช่วงทศวรรษแปดสิบ-เก้าสิบ

ที่มาอันฉกาจฉกรรจ์ของวงนี้ ก่อตั้งที่ลอนดอนในปี 1989 ใช้เวลาไม่เท่าไหร่สร้างชื่อ จนได้รับการยกย่องอย่างสูงจากสื่อดนตรีของอังกฤษ อัลบั้มแรกในชื่อ Suede ออกในปี 1993 ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตอังกฤษ โดยไลน์อัพเวลานั้น มีเบอร์นาร์ด บัตเลอร์ เป็นมือกีตาร์ และยังไม่มีคีย์บอร์ด

Suede เป็นอัลบั้มประเดิมที่ทำสถิติขายดีอย่างรวดเร็วในรอบเกือบ 10 ปีของวงการเพลงอังกฤษ แจ้งเกิดวงและสมาชิก ขณะเดียวกันยังปลุกกระแสบริตป๊อปกลับมาอีกครั้ง

ชุดต่อมา Dog Man Star ออกในปี 1994 ถอยจากแนวทางที่เคยประสบความสำเร็จ เกิดปัญหาภายในวง และยุติด้วยการที่เบอร์นาร์ด บัตเลอร์ ออกจากวงไป อัลบั้มออกวางจำหน่าย ได้ริชาร์ด โอกส์ มาแทนบัตเลอร์ ผลิตผลของความยุ่งยากนี้ นักวิจารณ์ยกนิ้วให้เป็นมาสเตอร์พีซ และส่งให้วงกลายเป็น 1 ใน 4 มหาอำนาจของบริตป๊อปไป

ปี 1996 เพิ่มมือคีย์บอร์ด นีล คอดลิ่ง ตามมาด้วยอัลบั้ม Coming Up เข้าอันดับ 1 ในชาร์ตอังกฤษ และมีซิงเกิลที่ติดท็อปเท็นในชาร์ตถึง 5 ชุดด้วยกัน

ทำให้อัลบั้มนี้กลายเป็นผลงานขายมากที่สุดทั่วโลก

แม้จะมีปัญหาภายในวง แต่อัลบั้มที่สี่ Head Music เมื่อปี 1999 เข้าอันดับ 1 ในชาร์ตอังกฤษอีก มีการโปรโมตอย่างหนักหน่วง และเป็นที่กล่าวขานของสื่อดนตรี แต่การตอบรับจากแฟนๆ ลดลงจากชุดก่อนๆ

คอดลิ่งออกจากวงในปี 2001 ด้วยอาการของโรคล้า อเล็กซ์ ลี เข้ามาแทน อัลบั้มที่ 5 ออกในปี 2002 นั่นคือ A New Morning ซึ่งในทางการขายไม่ประสบความสำเร็จ วงยุบตัวเองหลังจากนี้

กลับมารวมตัวอีกครั้งเมื่อ 2010 โดยคอดลิ่งกลับมาร่วมด้วย และสามปีหลังจากนี้ ออกผลงานที่หก Bloodsports เป็นการคัมแบ๊กของวง นักวิจารณ์ให้การต้อนรับ และอัลบั้มไปอยู่ในท็อปเท็นของชาร์ต

ตามมาด้วยผลงานที่เจ็ด Night Thoughts ในปี 2016 ที่สถานการณ์ดีขึ้นกว่าชุดก่อนหน้านี้ แล้วจึงมาเป็น The Blue Hour ที่กำลังพูดถึงกันในวันนี้