จุดยืนของละครช่อง 3 และวิสัยทัศน์ที่นักแสดงต้องรู้!!

“เทคโนโลยีมันก็เป็นความเปลี่ยนแปลง” สมรักษ์ ณรงค์วิชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารสายผลิตรายการ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 พูดถึงความจริงที่ประสบ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบชัดเจน ด้วยคนดูที่เคยเฝ้าหน้าจอรอดูรายการโปรด ได้หันไปพึ่งบริการดูย้อนหลัง จนทำให้ยอดผู้ชมทางโทรทัศน์ลดลง และรายได้จากค่าโฆษณาก็ลดตาม

อย่างไรก็ตาม “ถามว่าคนรู้จักคอนเทนต์เราไหม ดูเราน้อยลงไหม ก็ไม่ เขาดูอยู่ รู้จักอยู่ แต่ดูที่ไหนไม่รู้ แค่นั้นเอง”

สมรักษ์ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการละครโทรทัศน์ราว 40 ปีบอกด้วยว่า ที่เขาค้นพบคือไม่ใช่แค่เพียงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเท่านั้น แต่พฤติกรรมคนดูเองก็เช่นกัน

“อันหนึ่งเท่าที่เห็น คือเขาอยากมีส่วนร่วม อีกอันหนึ่งคือเขาได้ความสบายใจ หมายความว่าอะไรที่เครียดไป อะไรที่หนักหนา เขาก็จะบ่น”

“แต่ก็มันก็ต้องมี”

“เพราะจริงๆ ชีวิตของคนเรานี่ ไม่ได้สบาย ชีวิตจริงๆ ต้องมีอุปสรรค ก็ให้ตัวละครมีอุปสรรคสักนิดนึง แต่คนดูก็จะบอกทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เขามีอารมณ์ของตัวละคร อย่างตัวผู้ร้าย ก็บอกให้ช่วยเก็บไปได้ไหม ไม่ต้องออกได้ไหม พูดถึงทำไม ทำไมไม่พูดถึงพระเอก นางเอก”

สมรักษ์เล่าพลางยิ้ม

ก่อนบอกอีกว่า โดยปกติของการทำงาน ช่องก็พยายามนำเสนอละครหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนชอบเรื่องแรงๆ เรื่องพาฝัน เรื่องสบายๆ ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวไหน สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือล้วนอยู่บนฐานความคิดที่ว่า “เราไม่เสนอพิษภัยอะไรให้กับคนดู”

“นี่คือจุดยืนของเรา”

“เราบอกคนทำงานว่าละครต้องตอบสนอง 3 อย่าง คือ ความสุข อารมณ์ แล้วก็จิตใจ”

“เพราะเราเชื่อว่าละครสามารถยกระดับจิตใจคนให้สูงส่งได้”

กับงานที่ตั้งใจทำทุกเรื่อง แต่ผลลัพธ์กลับแตกต่างนั้น สมรักษ์บอกว่านั่นเป็นเรื่องที่หาคำตอบได้ยาก อย่างไรก็ตาม ถ้าเปลี่ยนคำถามว่าอะไรคือปัจจัยให้ละครประสบความสำเร็จ อันนี้เขาจะพูดได้ชัดเจนว่า “เป็นเรื่องบท เรื่องนักแสดง จริงๆ ผู้จัดก็มีส่วน แต่เรื่องกับบทมาก่อน ผู้จัดกับนักแสดงค่อยตามมา”

ส่วน “เรื่อง” แบบไหนที่ได้ รายละเอียดอย่างไรที่โดน นั่นคงระบุไม่ได้-เขาบอก

ด้วย “จริงๆ ละครมันพูดเรื่องมนุษย์ เรื่องคนทั้งนั้นแหละ แต่กรอบของมัน เปลือกของมัน โครงสร้างจะเป็นยังไงก็ว่ากันไป อยู่ที่ตรงนั้นมากกว่า”

บอกอีกว่าในการทำละครนั้น ก่อนนี้จะมีลักษณะแบบของใครของมัน ของไทย ไทยก็ทำ ของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ทำ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว

“การ์ตูนญี่ปุ่น ไต้หวันเอาไปสร้าง จีนเอาไปสร้าง คลื่นชีวิตของเราจีนขอซื้อบทละครไป เราก็ไปซื้อ “ฮู ยู เคม ฟอร์ม เดอะ สตาร์” จากเกาหลีมา เท่ากับว่าตอนนี้มันข้ามโลก ซึ่งพอเอามาก็จะมีการปรับให้เข้ากับคนดูของแต่ละประเทศ เพราะธีมก็ธีมเดียวกันนั่นแหละ อยู่ที่การแต่งเปลือก ซึ่งถ้านักแสดงเราถ่ายทอดได้ดี ตีความได้แตกต่าง คนก็สนุกอีกแบบหนึ่ง”

“ก็เหมือนการไปฟังออเคสตรา ไปดูบัลเล่ต์ มันก็ซ้ำ แต่ก็ไปดูว่าคนนั้นเก่งไหม ละครที่บอกว่ารีเมก คุณต้องดูว่าคอนเซ็ปต์คืออะไร เขาเล่าเรื่องอะไร แล้วรสชาติมันต่างกันยังไง”

เรื่องเหล่านี้นักแสดงก็เข้าใจ

เช่นเดียวกับที่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนตัวนักแสดง จากคนนี้มาให้คนนั้นเล่น ว่ามันไม่ได้เป็นปัญหา หรือว่าเป็นเรื่องไม่ดีงาม

“บางทีการเขียนข่าวชอบบอกคนนี้ไม่ได้คิว เอาคนนั้นมาแทน แต่ไม่ใช่ ไม่มีใครมาแทนใครได้” เขาว่า

และถ้าจะพูดให้ละเอียด “การแทนของเรามันคือการทำให้สมบูรณ์ในอีกแบบหนึ่ง คุณมีเอกลักษณ์ของคุณอยู่แล้ว และการเอาคุณมา มันทำให้งานตรงนี้ดีขึ้นยังไง นี่คือสิ่งที่เราบอกทุกคน”

ให้ชัดไปกว่านั้นคือ สมมุติว่าละครเรื่องนี้วางตัวให้ณเดชน์ คูกิมิยะ แสดงนำ แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ณเดชน์ไม่สามารถเล่นให้ได้ ก็ต้องมีการเลือกอีกคนรับบท

“ซึ่งเราก็รู้ว่าศักยภาพเขาเป็นอย่างไร แล้วเราจะให้เขาทำอะไร มันจะถูกวางตั้งแต่การเขียนบท จะมีไดเร็กชั่นของจังหวะการแสดง ว่าถ้าเป็นคนนี้ต้องบีตนี้ ถ้าเป็นคนนั้นต้องบีตนั้น”

“คนเขียนบทเขาก็รู้แหละ คนนี้เล่นต้องเขียนอย่างนี้ ถ้าคนนั้นเล่นบทต้องประมาณไหน เขาจะรู้จุดเด่น แล้วดึงจุดเด่นขึ้น เพื่อกลบจุดด้อยของแต่ละคน”

“สมมุติเรารู้ว่าคนนี้ฝีมือเขาอ่อน แต่ไปลงบทเขามาก แล้วเขาไปไม่ถึงก็แย่นะ ก็จะผ่อนบทลงมาหน่อยนึง เพื่อให้มันกำลังดี คือไม่ทำงานมาฆ่ากันน่ะ ใช้คำนี้ดีกว่า”

สําหรับนักแสดงในสังกัด สมรักษ์บอกว่านอกจากจะมีการสอนพื้นฐานการแสดงให้แล้ว ยังจะมีการแลกเปลี่ยนความเห็นวิสัยทัศน์ในเรื่องต่างๆ นานา

อาทิ “บอกเขาว่าการเป็นนักแสดงคือการเป็นมืออาชีพ”

บอกว่า “สิ่งที่คุณจะเล่น ไม่ว่าเรื่องอะไร คุณต้องปลอมตัวเป็นตัวละครตัวนั้นให้คนดูเชื่อ ดาราสมัยก่อน อุ๊ย! เล่นเรื่องนี้ฉันต้องมีลูก ตายแล้วเรื่องนี้ฉันต้องเสียตัว จะคิดกันมาก แต่ตอนนี้เขารู้แล้ว ตัวละครตัวนั้นไม่ใช่ตัวเขา แล้วตอนนี้ผมลบล้างอะไรไปได้เหมือนกัน อย่างเมื่อก่อนมีตัวไม่ดี นางร้าย นางอิจฉา แต่ไม่จริงนะ โลกไม่มีนางร้าย นางอิจฉา ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นคนดีหมด แล้วทำในสิ่งที่เชื่อว่าดี เชื่อว่าฉันทำถูกแล้ว ทุกคนละ ซึ่งอันนี้มันก็ช่วยให้นักแสดงเข้าถึงบทมากขึ้น”

กับนักแสดงบางคนที่หวั่นใจเวลาต้องพลิกบทบาท จากคนดี สวยใส มาร้ายกาจนั้น สมรักษ์ก็ให้คำแนะนำไปว่า อย่าได้กังวล

“สมัยนี้คนเขาดูความสามารถ ไม่ได้นั่งดูว่าคุณเป็นใคร แต่คุณมีความสามารถไหม อันนี้ต่างหาก ถ้าคุณเล่นละครแล้วเล่นอย่างนี้ 30 เรื่อง เป็นแคแร็กเตอร์เดียวกันหมด สักวันคนก็เบื่อ เพราะไม่มีของใหม่มาให้ดู ภาษาผมคือไม่มีอินโนเวชั่น ซึ่งมันจำเป็น เพราะคนสมัยนี้เรียนรู้ ดูโน่นดูนี่ รู้เยอะสารพัด เราทำแค่นั้นไม่พอ”

“เขาเห็นของดีมาเยอะแล้ว เราจึงต้องคิดมากกว่าเขา ต้องทำให้ดีที่สุด”

“นี่คือสิ่งที่ผมบอกทุกคน”