ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 2559

เห็นโปสการ์ดของ บรรณกร กลั่นขจร ถี่ยิบ

โปรดอย่าหาว่า มติชนสุดสัปดาห์ ลำเอียงเลย

เพราะว่าที่จริง การรู้จักมักคุ้น ระหว่าง “บรรณกร กลั่นขจร” กับ “มติชนสุดสัปดาห์” ก็ไม่ต่างจากผู้อ่านทั่วไป

เรารู้จักกันผ่านเพียงลายมืองามๆ ที่เขียนบนไปรษณียบัตรและโปสการ์ด ส่งถึงกัน เท่านั้น

มิได้เคยเห็นหน้า หรือ วิสาสะกันทางอื่นแต่อย่างใด

จะแตกต่างจากผู้อ่านท่านอื่นอยู่มากก็คือ บรรณกร กลั่นขจร ขยันส่งผลงานมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” อย่างยิ่ง

บางทีก็มาแบบน้ำหลาก

บางทีก็ไหลริน ดังลำห้วย เมืองเหนือ

ค่าเรื่อง ก็ บ่ ได้

แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ได้อ่านงานของ บรรณกร กลั่นขจร

ขอบคุณ แต๊ๆ


อ่านต้นฉบับ TAKERU ในคอลัมน์ การ์ตูนที่รัก ของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ฉบับนี้

โปสการ์ดปึกใหญ่ ของ บรรณกร กลั่นขจร ยิ้มเผล่มาแต่ไกล

เพราะไม่มีอะไรจะประกอบเรื่องดีเท่าโปสการ์ดของ บรรณกร กลั่นขจร อีกแล้ว

ทาเครุ เป็นนักล่าค่าหัว

มีอาวุธสำคัญ คือ ตัวอักษรที่ซัดออกจากฝ่ามือไปสู่คู่ต่อสู้

ในนาม “วิชาอักษรวิญญาณ”


“วิชาอักษรวิญญาณ” ที่ว่าพิศวงแล้ว

แต่การตีความในเชิงจิตวิทยา จาก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แล้ว กลับยิ่งพิศวงกว่า

“…ตอนที่ทารกเกิดใหม่บนโลก โลกยังไม่มี

ทารกไม่รับรู้ว่าเขาอยู่ในโลก

ไม่รับรู้ว่าข้างกายมีแม่

สำหรับทารกเกิดใหม่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น นอกจากตัวเอง (autistic)

ทารกใช้เวลา 3 เดือนกว่าจะรับรู้ว่ามีชีวิตหนึ่งคอยอุ้มเขา กอดเขา และให้นม แต่ชีวิตนั้นและตัวเขาเองเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ (symbiotic)

ทารกจะใช้เวลาอีก 3 เดือนกว่าจะรับรู้ว่าชีวิตที่หลอมรวมกับเขามาตลอดนั้นคือแม่

และแม่เป็นอีกชีวิตหนึ่งต่างหากที่มีอยู่จริง (exist)…”

“…ขวบปีแรกของทารกเป็นช่วงเวลาที่ทารกสบายที่สุดแล้ว

ชีวิตไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเรียกร้องสิ่งที่ต้องการ

นม ตุ๊กตา ผ้าห่ม อ้อมกอด คนเล่นด้วย

เหล่านี้ลอยมาเองเมื่อเขาร้องขอ หรือแหกปากร้องไห้ เสมือนเนรมิตได้

ทารกคิดว่าเขาเนรมิตได้จริงๆ ด้วย

นี่คือความสามารถที่เรียกว่า omnipotence ดลบันดาลได้สารพัด”

“…เมื่อทารกมีแม่จริงๆ แล้ว เขายังคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (egocentric)

จะหยิบเดือนดาวหรือสุริยันจันทราได้ทั้งนั้น

ดวงดาวและผู้คนล้วนโคจรรอบตัวเขาและเป็นไปตามที่ใจของเขาปรารถนา

ความคิดที่ว่าเขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนี้จะติดตัวเขาไปอีกนานจนถึงที่โรงเรียนอนุบาล

นึกจะหยิบของเล่นที่เพื่อนถืออยู่ก็ไม่รู้จักขอ เพราะเห็นแต่ของเล่น ไม่เห็นเพื่อนในสายตา

แม่เพิ่งจะมีอยู่จริงไม่นานนัก เพื่อนจึงไม่มีอยู่จริงสักเท่าไร

กว่าโลกจะมีมนุษย์คนอื่นจริงๆ ยังต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง”

“…ระหว่าง 2-3 ขวบนี้เองที่ทารกจะเริ่มพัฒนาการทางภาษา ตอนนี้เขาไม่ใช่ทารกอีกแล้ว

แต่เป็นเด็กเล็กที่เดินได้ มือใช้การได้ และพูดได้

อำนาจมากขึ้นในขณะที่ความคิดว่าตนเองเป็นจ้าวจักรวาลยังไม่หมดไป

เด็กเล็กพัฒนาภาษาด้วยการเล่นบทบาทสมมติ (role play)

การเล่นบทบาทสมมติเป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้วิธีที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันคือคำพูด

เล่นเป็นพ่อครัว หมอ ครู ตำรวจ ซามูไร

เด็กเล็กจะได้คำศัพท์งอกเงยมากมายนอกเหนือจากคำพูดที่พ่อแม่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ในช่วงขณะที่เล่นบทบาทสมมติ คำพูดของเด็กเล็กเป็นอาญาสิทธิ์

คำไหนคำนั้น

แม่อ่านหนังสือให้ฟัง นิทานก่อนนอน มีตัวอักษรบนหน้าหนังสือนิทาน มีรูปประกอบ หน้าหนังสือนั้นคือโลก (world)

ตัวอักษรเลื่อนไป รูปเลื่อนตาม เหตุการณ์ในนิทานกระโดดโลดแล่นบนโลกที่เห็นต่อหน้า

อักษรที่เห็นเป็นอาญาสิทธิ์ด้วย

คำไหนคำนั้น”

ปมจิตวิทยาเด็ก นี้ ถูกนำไปสร้างเป็น ทาเครุ

ที่ได้วิชาลึกลับเมื่อครั้งยังเป็นวัยทารกติดตัวมา

คือ สามารถดลบันดาลอะไรก็ได้สารพัด เพียงสะบัดฝ่ามืออักษรวิญญาณออกไป

ที่แท้ วิชาอักษรวิญญาณ ก็คือ วิชาสร้างอำนาจ นั่นเอง

ผู้ใหญ่หลายคน “อยาก” ขุดเอาความสามารถครั้งยังเป็นทารกกลับมา

เพื่อแสวงหาอำนาจ แบบ คำไหนคำนั้น

แต่นั่นไม่อาจจะเป็นจริง เพราะเป็นเพียงโลกของการ์ตูน

ที่สำคัญ หากตระหนักว่า อำนาจ กับความไร้เดียงสา แทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน

ก็อาจทำให้ผู้ใหญ่หลายคนได้สติคืนมา

นี่จึงคือคำตอบ

ว่าไฉน “อำนาจหนอ พอหรือยัง” ของ บรรณกร กลั่นจร

ถึงได้ถูกนำเสนอใน มติชนสุดสัปดาห์ อีกแล้ว