ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 9-15 มีนาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ

9มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันเกิด “ป๋วย อึ๊งภากรณ์”
หากมีชีวิตอยู่
จะมีอายุครบ 102 ปี เพราะเกิด 9 มีนาคม 2459
อย่างที่ทราบกัน วาระดังกล่าว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
โดย ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
หัวข้อ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย”

อาจารย์เสกสรรค์กล่าวในตอนต้นของปาฐกถาว่า
“วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นบรรพชนท่านหนึ่งในทางความคิดและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนั้น จึงต้องถือเป็นวันสำคัญของพวกเรา
…ผมเองก็เคารพนับถืออาจารย์ป๋วย
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องชวนปีติที่จะได้คารวะท่านด้วยความคิดเรื่องบ้านเมือง”
ความคิดเรื่องบ้านเมือง ที่อาจารย์เสกสรรค์หยิบมาคารวะอาจารย์ป๋วยคือ
“คนดี”
ซึ่งว่าไปแล้ว เมื่อพูดถึงความดี และคนดี น่าจะเป็นเรื่องดี
แต่ไฉน ความดี-คนดี กลับเป็นวาทกรรม และเงื่อนไข ก่อวิกฤตให้ชาติอย่างร้าวลึกในปัจจุบัน
ซึ่งอาจารย์เสกสรรค์นำมากล่าวในการปาฐกถาครั้งนี้อย่างน่าสนใจ
คนไทยซึ่งถูกระบุว่าใช้โซเชียลมีเดียกันมากมาย
ควรใช้โซเชียลมีเดียนั้น เข้าถึงปาฐกถานี้กันให้กว้างขวาง
เพื่อจะได้แง่คิดดีๆ จากความดีและคนดี ดังกล่าว

กล่าวถึงคนดีและความดีแล้ว
แน่นอน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในคนดีเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม “จอน อึ๊งภากรณ์” หนึ่งในทายาท
เคยเตือนไว้ เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 99 ปี “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ว่า
“ไม่อยากให้สังคมไทยยกย่องพ่อในฐานะปูชนียบุคคล ที่ต้องสรรเสริญ”
“เพราะอยากให้พ่อเป็นคนธรรมดา ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้”
“ผมไม่อยากให้สังคมไทยเอาพ่อผมไปบูชา ยกย่อง สรรเสริญ”
“เพราะนั่นเป็นการทำลายพ่อ บิดเบือนพ่อ หากินจากชื่อพ่อ”
“ผมอยากให้สังคมเอาคุณพ่อผมมาศึกษา เรียนรู้ วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง”
“นั่นทำให้พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ยั่งยืน เป็นคนในสามมิติ ไม่ใช่สองมิติ”
“พ่อผมไม่ใช่ปูชนียบุคคล แต่เป็นคนธรรมดาที่มีความสามารถ อุดมการณ์ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความขยันและอดทน” (จากสภากาแฟ.net)

พิจารณาจากมุมมองของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
มุมของ “จอน อึ๊งภากรณ์”
มุมของ “จ้อ นินจา” และ “คำ ผกา” (หน้า 96-97) ที่ยกกรณีเสือดำขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
ส่องคนดี คนไม่ดี คนธรรมดา คนใจดำ
ล้วนมีมุมมองให้เราคิด วิเคราะห์ ที่เปิดกว้างอย่างยิ่ง
เรียกร้องให้ก้าวข้ามความคับแคบ หรือนำไปลดทอนคุณค่าของคนอื่น ด้วยการชูตัวเองว่า “ดีหรือดีกว่า”