ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 23 – 29 ก.ย. 2559

“หัวค่ำของวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2559 ผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว

ยืนนิ่งเงียบสงบอยู่ในความมืด

ทุกคนถือเทียนเล่มเล็กๆ ที่เปลวไฟไหววับแวมตามแรงลม

ตั้งใจระลึกถึงชายผู้กลายมาเป็นรูปปั้นนี้

พวกเขายืนรายล้อมรูปปั้นสูงทะมึนซึ่งตะคุ่มอยู่ในความมืด

รูปปั้นของผู้ชายที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อ 26 ปีก่อน

การจากไปของเขาทำให้คนรู้จักป่าห้วยขาแข้ง ได้รับรู้ถึง

ปัญหาและปัจจัยคุกคามต่างๆ

และรู้ว่าลำพังข้าราชการเล็กๆ คนหนึ่งมีภาระหน้าที่หนักหนาเกินไป หนักหนาเกินกว่าที่เขาและเพื่อนๆ ในป่าจะรับไหว

เมื่อเขาจากไป ไม่เพียงโลกจะรับรู้การมีอยู่ของป่าห้วยขาแข้ง

มีส่วนที่เรียกว่า “สรรพกำลัง” มากมายเข้ามาช่วยเหลือ

กระทั่งถึงวันนี้ แม้สรรพกำลังทั้งหลายจะเบาบางลงไปบ้าง

แต่ก็ไม่ได้จางหายไป”

ข้างต้นคือ ข่าวจากดงลึก

ที่ “เชน” ปริญญากร วรวรรณ ส่งผ่านคอลัมน์ หลังเลนส์ในดงลึก มาถึงผู้อ่าน สำหรับการรำลึกถึง “สืบ นาคะเสถียร” ในปีนี้

พร้อมๆ กับข่าวผ่านอี-เมลดังกล่าว

มี ไฟล์แนบ มาด้วยไฟล์หนึ่ง


สวัสดีครับ มติชน

ก่อนอื่นผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ

ผมเป็นหนึ่งในทีมงานที่ทำงานในป่าร่วมกับพี่เชนครับ

หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของผมคือช่วยพิมพ์ต้นฉบับจากลายมือพี่เชนเป็นไฟล์ และส่งต้นฉบับให้กับมติชน

คือผมมีโอกาสได้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ย้อนหลัง ที่เขียนเกี่ยวกับหมาใน เรื่อง “ซาก” ซึ่งตีพิมพ์ในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

หลังจากที่อ่านจบ

ผมรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับการแก้ไขคำว่า “หมาใน”

ซึ่งผมพิมพ์ในต้นฉบับเป็น สระไอไม้ม้วน

แต่ถูกเปลี่ยนเป็น “หมาไน” ซึ่งใช้สระไอไม้มลาย

ซึ่งผมลองค้นอ่านย้อนหลังอีกหลายๆ ฉบับ ทางมติชนสุดสัปดาห์เองก็ยังเปลี่ยนคำว่าหมาในจากไม้ม้วน เป็นไม้มลาย เช่นฉบับที่อ้างถึง

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา

แต่ในฐานะคนที่ศึกษาเรื่องสัตว์ป่า นอกจากถูกสอนให้รู้จักจำแนกชนิดสัตว์ป่า เรียนรู้ทั้งพฤติกรรม นิเวศวิทยา ชีววิทยาของพวกมันแล้ว

อาจารย์ผู้สอนยังเน้นย้ำเรื่องการใช้และเขียนชื่อของสัตว์ ทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ รวมถึงชื่อท้องถิ่น ให้ถูกต้อง

ซึ่งคำว่า หมาใน เป็นคำเขียนที่ผมได้ถูกสอนมา

หาใช่ “หมาไน” ไม้มลาย อย่างที่มติชนสุดสัปดาห์แก้ไขไม่

ทั้งนี้นั้นผมได้ตรวจสอบจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต

ในพจนานุกรมก็ยังใช้ หมาใน ซึ่งเป็นสระใอไม้ม้วน

ซึ่งได้แนบลิงค์ข้อเขียนซึ่งเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการใช้ศัพท์คำว่า หมาใน ให้ถูกต้อง มาให้ทางมติชนสุดสัปดาห์ได้พิจารณประกอบ

http://www.oknation.net/blog/SecondaryReader/2010/06/06/entry-1

ซึ่งในท้ายที่สุด จะตีพิมพ์คำว่า หมาใน หรือ หมาไน ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางมติชนสุดสัปดาห์

ผมในฐานะเพียงผู้อ่านและแฟนมติชนสุดสัปดาห์ ที่อยากแลกเปลี่ยนและบอกเล่าเท่านั้น

ด้วยความเคารพ

ไม่ลงชื่อ

หมาใน – หมาไน

มีการถกเถียงกันมานาน

ควรจะใช้ “ใ-ไม้ม้วน” หรือ “ไ-ไม้มลาย”

อย่างข้อเขียน อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ในเว็บไซต์ http://www.oknation.net/blog/SecondaryReader/2010/06/06/entry-1 ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ก็ยืนยันว่า ต้อง “ใ-ไม้ม้วน” เท่านั้น

โดยมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นแหล่งอ้างอิง

“มติชนสุดสัปดาห์” ก็รับฟัง

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม “นอก” ราชบัณฑิต

อย่าง พจนานุกรมฉบับมติชน และพจนานุกรมไทย ของ มานิต มานิตเจริญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 22

ยังขออนุญาตใช้ “หมาไน”

ไฉน เป็น ไ-ไม้มลาย

ในส่วน “มติชน” “สุพจน์ แจ้งเร็ว” บรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม หนึ่งในคณะกรรมการพจนานุกรมฉบับมติชน เล่าให้ฟังว่า เมื่อพิจารณามาถึงคำว่า หมาไน

อาจารย์วีระพงศ์ มีสถาน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรม ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้ใช้ ไ-ไม้มลาย แทนที่จะใช้ ใ-ไม้ม้วน

โดยระบุว่าคำคำนี้มาจาก ภาษาทมิฬ

แปลว่า หมาในป่า หรือหมาป่า

มีความหมายตรงกว่า หมาใน ที่แปลว่า หมาข้างใน

และยังมีเหตุผลทางด้านหลักและเสียงภาษาที่อธิบายสั้นๆ ไม่ได้ในพื้นที่อันจำกัดนี้อีก

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ “มติชนสุดสัปดาห์” เลือกใช้ ไม้-มลาย ดังกล่าว

แต่ก็มิได้ต้องการจะผูกขาดความถูกต้องเอาไว้เพียงผู้เดียว

ยังเปิดกว้างให้มีการอภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยน กันได้อย่างเสรี ตาม “พิมพ์นิยม”

โดยไม่ถือว่าขัดคำสั่งข้อใดๆ ทั้งสิ้น-แฮ่ม