ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 9-15 มีนาคม 2561

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

หากพิจารณา
รายชื่อ “สิงห์ดำ” นิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดีเด่น ประจำปี 2561
อันประกอบด้วย
– สาขาข้าราชการประจำ
ศ.(พิเศษ) เข็มชัย ชุติวงศ์ (รุ่นที่ 25) อัยการสูงสุด
นายวิบูลย์ คูสกุล (รุ่นที่ 27) อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐมองโกเลีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ (รุ่นที่ 31) อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
นายฐานิศร์ ณ สงขลา (รุ่นที่ 32) เอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ (รุ่นที่ 36) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
– สาขาข้าราชการการเมือง หรือนักการเมือง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย (รุ่นที่ 20) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายสุธี มากบุญ (รุ่นที่ 22) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
– สาขานักวิชาการ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข (รุ่นที่ 26) อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
– สาขาธุรกิจเอกชน หรือวิชาชีพอิสระ หรือองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์
น.ส.ลานทิพย์ ทวาทศิน (รุ่นที่ 21) ผู้จัดการโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
– สาขาองค์กรอิสระของรัฐ และองค์การมหาชน
นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ (รุ่นที่ 23) ผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายปิยะ ปะตังทา (รุ่นที่ 24) ประธานศาลปกครองสูงสุด
นายวัส ติงสมิตร (รุ่นที่ 24) ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
– กรณีเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษ
นายกฤตบุญ (ปิยะ) รณรื่น (รุ่นที่ 22) ผู้ประพันธ์เพลง “จามจุรีประดับใจ”
นายประวิทย์ ด่านกิตติกุล (รุ่นที่ 26) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดี.เค.โคโคส จำกัด

พิจารณาจากรายชื่อ
นามของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ดูจะผิดพวกผิดพ้องอยู่ตามสมควร
ผิดอย่างไร
คงต้องพลิกไปอ่าน “ยุทธบทความ” ของนิสิตเก่าดีเด่นสิงห์ดำ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้
ที่ว่าด้วย
“พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน!
ถอยพลาดก็แพ้ ถอยผิดก็ยิ่งแพ้”

อาจารย์สุรชาติชี้ว่า สภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาลปัจจุบัน
เป็นสิ่งที่ท้าทายความเป็นผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารเป็นอย่างยิ่ง
จะกำหนด “ยุทธศาสตร์” อย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะ “การถอยทางยุทธศาสตร์”

สิ่งที่เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงของผู้นำรัฐประหารก็คือการยึดอำนาจสำเร็จคือชัยชนะ
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชัยชนะทางยุทธวิธีเท่านั้นเอง
แม้การจัดตั้งรัฐบาลทหารจะเป็นดังการ “พลิกเกม” และเข้าควบคุมการเมืองได้
แต่ในโลกสมัยใหม่ รัฐบาลทหารคือจุดเริ่มต้นที่อ่อนแอที่สุด
ไม่ว่าจะมองจากบริบทของความชอบธรรมทางการเมือง
ไม่ว่าจะมองในมุมของอำนาจทางศีลธรรม
ไม่ว่าจะมองจากกรอบของกระแสโลก
หรือไม่ว่าจะมองจากขีดความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในการบริหารรัฐ
ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รัฐบาลทหารจะถูกต่อต้านตั้งแต่วันแรก
และที่สำคัญ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลทหารปัจจุบันจะสามารถเข้าควบคุมระบบการเมืองได้จริง
ระบบการเมืองไทยในโลกสมัยใหม่ซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของผู้นำทหาร

การเตรียม “ถอย” ของรัฐบาลทหารที่วันนี้ไม่ได้อยู่ใน “กระแสสูง”
จึงจำเป็น
ส่วนจะถอยอย่างไร
“ทหาร” คงต้องเปิดใจกว้างพิจารณา “ยุทธบทความ” ของอาจารย์สุรชาติ อย่างมีโยนิโสมนสิการ
และตรงนี้เอง
ทำให้อาจารย์สุรชาติแตกต่างจาก “นิสิตเก่าสิงห์ดำดีเด่น ปี 2561” เกือบทั้งหมด
ทำไมแตกต่าง คงไม่ยากที่จะหาคำตอบ
และต้องขอบคุณคณะกรรมการนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่อุตส่าห์ให้ “สุรชาติ บำรุงสุข” มีที่แสดงจุดยืน