ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 22-28 ธันวาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ

บรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์
ดิฉันส่งบทความเรื่อง
“ประโยคคำสั่งในเครื่องแบบประโยคคำถาม
โวหารท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา”
มาเพื่อการพิจารณาตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์
ขอบคุณค่ะ
เนียง

อีเมลสั้นๆ ของ “เนียง” ถูกส่งมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” อีกครั้ง แม้จะสั้น
แต่บทความที่แนบไฟล์มานั้น ยาว
นับเป็นตัวอักษรก็เกือบ “หมื่นคำ”
แต่ก็เป็นหมื่นคำที่น่าสนใจ
โดยเธอเริ่มต้นด้วยวาทะของ Israelmore Ayivor นักเขียนชาวกานา
“ผู้คนปรากฏตัวราวนางฟ้า
กระทั่งคุณได้ยินสิ่งที่พวกเขาพูด
อย่าด่วนตัดสินใครจากสีเสื้อคลุมของพวกเขา
ให้ตัดสินจากสิ่งที่พวกเขาพูด”

กล่าวถึงการพูด
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งของไทย ที่นอกเหนือจากชื่นชอบการพูดแล้ว
เมื่อเป็นนายกฯ โดยปราศจากฉันทานุมัติจากประชาชน เพราะมาจากการรัฐประหาร ไม่ได้เข้ามาโดยการเลือกตั้ง
พลเอกประยุทธ์ จึงจำเป็นต้องพูด
พูดเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน
ซึ่งที่ผ่านมา คำพูดสาธารณะของพลเอกประยุทธ์ ได้เป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมพูดถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างต่อเนื่องและหนักหน่วง
ทั้งบวก และลบ
“เนียง” จึงได้ศึกษาวิเคราะห์โวหารในคำพูดสาธารณะของพลเอกประยุทธ์ นับแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 จนถึงเดือนมิถุนายน 2560 จำนวน 50 ตัวบท
โดยรวบรวมจากคำพูดของหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และเว็บไซต์ต่างๆ
รวมถึงวิเคราะห์ความหมายที่แทรกอยู่ในโวหารดังกล่าว ทั้งความหมายตรงและความหมายแฝง
ในงานวิจัยชื่อ “โวหารลักษณ์ในคำพูดสาธารณะของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
และนี่เป็นที่มาของบทความเรื่อง
“ประโยคคำสั่งในเครื่องแบบประโยคคำถาม
โวหารท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่นเอง

เนียงอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าสังเกต พลเอกประยุทธ์มักจะใช้คำพูดที่มีโครงสร้างประโยคแบบประโยคคำถาม
มีคำสรรพนามที่ใช้สำหรับสร้างประโยคคำถาม (Interrogative Pronouns) เช่น ใคร อะไร ใด ที่ไหน อย่างไร หรือไม่ ฯลฯ ปรากฏอยู่ในประโยคบ่อยๆ
แต่เมื่อพิจารณาความหมายและบริบทของประโยคดังกล่าวแล้ว
พบว่าผู้ถาม “ไม่ได้ต้องการคำตอบ”
แต่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟังมากกว่า
และใช้โวหารประเภทต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
เพื่อแสดงอารมณ์หรือเพื่อระบายอารมณ์ต่างๆ อาทิ อารมณ์โกรธ อารมณ์ประชดประชัน อารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจ หรือระบายความโมโห
เพื่อตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
และเพื่อแสดงอำนาจให้ผู้ฟังอยู่ภายใต้การควบคุมของตน
จริงหรือไม่ จะตอบได้จากหลังอ่านบทความของ “เนียง” จนครบถ้วนแล้ว

“เนียง” แม้จะมีความหมายไปในทางนุ่มนวล คือ “นาง”
แต่ก็ไม่ใช่นาง ที่สงบเสงี่ยม เรียบร้อย
หากแต่ยืนมั่นคงอยู่บนพื้นฐาน “นักวิชาการ”
พื้นฐานผู้เชี่ยวชาญด้าน “ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร”
รวมถึงยังมีพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติด้วย
“เนียง” จึงมิใช่ “อีนางน้อย” ของใคร
หากแต่แข็งแกร่งและแข็งแรงในงานวิชาการ ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ภูมิใจนำเสนอ
ถือเป็นของขวัญวันคริสต์มาส และต่อเนื่องไปถึงปีใหม่ ที่ใครบางคนอาจไม่ “ยอมรับ” (ฮา)
———————————————————————–
หมายเหตุ : ไปรษณียบัตร “นิรนาม” ที่ถ่ายลงใน “ขอแสดงความนับถือ” ไม่เกี่ยวข้องกับ “เนียง”
ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไหน-ไหน
เป็น “ดรีมทีม” ในโลกจินตนาการ
ไม่สมควรนำไปเทียบเคียงกับใคร-ใคร ในโลกอันแท้จริง ทั้งสิ้น (hi-hi)