ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ปิดเล่มก่อนทราบผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ไม่รู้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

จะฝ่าด่าน “สมาชิกวุฒิสภา” ไปได้หรือไม่

250 เสียง จะเหนือกว่า 25 ล้านเสียง ที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ไหม

นี่เป็นสิ่งที่ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด

 

อย่างที่ทราบกัน ส.ว.ส่วนใหญ่มีแนวคิด “อนุรักษนิยม”

คอลัมน์ “การเมืองวัฒนธรรม” ของเกษียร เตชะพีระ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นำเรื่องฝ่ายอนุรักษนิยมในหนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง Mitte/Rechts : Die internationale Krise des Konservatismus (กลาง/ขวา : วิกฤตสากลของอนุรักษนิยม)

ของโธมัส บีบริคแฮร์ ศาสตราจารย์ด้านความคิดทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมันแห่งมหาวิทยาลัยเกอเธ่ ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์

มาเล่าสู่กันฟัง

 

ศาสตราจารย์โธมัส บีบริคแฮร์ จำแนกกลุ่มก้อนความคิดอนุรักษนิยมทางการเมืองและวัฒนธรรมร่วมสมัยออกเป็น 3 ประเภท

1) พวกมองโลกแง่ร้ายทางวัฒนธรรม (cultural pessimists)

2) พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก (mainstream moderate conservatives)

3) พวกปฏิกิริยาตกขอบ (reactionaries)

แต่ละประเภทเป็นอย่างไร พลิกอ่านรายละเอียดได้ที่หน้า 41

กระนั้น ที่พอจะนำมาเกริ่นนำ ยั่วน้ำลายไว้ก่อน

โดยโฟกัสไปที่อนุรักษนิยม 2 ประเภท

คือ พวกปฏิกิริยาตกขอบ และพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก

พวกปฏิกิริยาตกขอบ จะมองดูโลกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วปลงใจไม่ตกที่จะยอมรับยอมอยู่กับมัน

พวกเขาเห็นสภาพดังที่เป็นอยู่เดิมตอนนี้แล้วรับไม่ได้

พวกเขาอยากทำลายมันลงให้ราบคาบเหี้ยนเตียน

เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นของเก่าของแท้อันดีงามในอดีตตามค่านิยมอนุรักษนิยมแท้จริงขึ้นมาบนซากปรักหักพังนั้น

ส่วนพวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก

เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งหลายแหล่

รวมทั้งสิ่งต่างๆ ซึ่งพวกเขาเองเคยต่อสู้คัดค้านเรื่อยมาด้วยซ้ำไป

ทว่า พอสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ

พวกอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก มีแนวโน้มสูง ที่จะทำใจยอมรับยอมอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สามารถกลับตัวกลับลำ พลิกเปิดหน้าใหม่ แล้วเดินหน้าต่อไปสามารถปรับตัวผ่านพ้นสภาพ cognitive dissonance (ความขัดแย้งในการรู้คิดหรือการรู้คิดที่ไม่กลมกลืน) มาได้

แม้จะไม่เสมอไป

แต่ก็บ่อยครั้งที่พวกเขาสามารถปรับตัวจากการต่อสู้ปัดป่ายบ่ายเบี่ยงบางสิ่งบางอย่างมาสู่ การทำใจปรับตัวยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสภาพดังที่เป็นอยู่เดิมได้

 

อย่างที่บอก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ ปิดเล่มก่อนจะทราบผลโหวตการเลือกนายกฯ

จึงประเมินไม่ได้ ส.ว. จะเลือกเดินทาง ไปในแนวทางไหน

ไปตามแนวอนุรักษนิยมตกขอบ

หรือ แนวอนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก

แม้โดยลึกๆ แล้ว หวังแบบหลายๆ คนหวัง

เป็นความหวังแบบโลกสวย

คืออยากให้ฝ่ายอนุรักษนิยม สามารถสอดประสานไปกับฝ่ายเสรีนิยม ได้อย่างราบรื่น

หมายความว่า อนุรักษนิยมสายกลางกระแสหลัก ในวุฒิสภา ควรจะมีมากกว่าฝ่ายอนุรักษนิยม “ตกขอบ”

และพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลง อย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้ง

ยอมรับการอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พร้อมสามารถปรับตัวผ่านพ้นสภาพความขัดแย้งในการรู้คิดหรือการรู้คิดที่ไม่กลมกลืนไปได้

 

แต่กระนั้นสถานการณ์ก่อน 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่ากระแสจะโน้มเอียงไปทาง “ตกขอบ” มากกว่า

ตกขอบ ที่ไม่อาจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

และยังอยากทำลายการเปลี่ยนแปลงนั้นลงให้ราบคาบเหี้ยนเตียนด้วย

เราจึงได้เห็นอุปสรรคขวากหนามต่างๆ นานา ถูกสมคบคิดสร้างขึ้นมาสกัดฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง

แน่นอน อาจจะสำเร็จ

แต่ถามว่า จะหยุดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

จะดำรงสิ่งเก่าเอาไว้แบบเดิมๆ ได้หรือไม่

หรือจะมีพิธา 1 พิธา 2 พิธา 3… ฯลฯ ขึ้นมาท้าทายเรื่อยๆ

หลัง 13 กรกฎาคม เราคงจะแลเห็นอย่างน่าระทึกใจ •