ขอแสดงความนับถือ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

มีเรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มาให้อ่าน

ฮาร์วาร์ด

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ แห่งคอลัมน์ “The Gratitude Diary ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย”

เล่าถึง Rehan Stanton

เป็นนักศึกษาที่ Harvard Law School

วันหนึ่ง กำลังเดินไปเรียนหนังสือที่คณะ เขาเห็นภารโรงกำลังทำความสะอาดอยู่ จึงกล่าวทักทาย

“สวัสดีครับ คุณเป็นไงบ้าง”

“คุณทักฉันเหรอคะ?” ภารโรงคนนั้นหันมาด้วยความประหลาดใจ

“ขอโทษค่ะ ฉันไม่รู้เลยว่าคุณพูดกับฉัน” แล้วเธอก็เงียบไป

“ปกติแล้วเวลานักศึกษาเดินมาเห็นฉัน พวกเขาจะมองไปที่กำแพง มากกว่าจะพูดคุยกับฉันน่ะค่ะ”

 

Rehan รู้ดีว่าเธอรู้สึกอย่างไร

เพราะก่อนที่จะมาเป็นนักศึกษากฎหมายในสถาบันอันทรงเกียรติ

เขาก็เคยทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดมาก่อน

และชาวพนักงานทำความสะอาดนั่นแหละที่สนับสนุนให้เขาเรียนต่อมหาวิทยาลัยให้ได้

ทุกครั้งที่เขาเห็นภารโรง คนที่ไม่มีใครเคยมองเห็น

เขาจึงมองเห็นตัวเขาเองด้วย

เพราะเขาก็เคยเป็นคนที่ไม่มีใครมองเห็นมาก่อนเหมือนกัน

 

ก่อนที่จะเข้า Harvard Law of School ได้ Rehan ทำงานเป็นพนักงานเก็บขยะหาเงินเลี้ยงชีพและเรียนไปด้วยพร้อมกัน

เขาต้องเก็บขยะในตอนเช้าแล้วรีบมาเรียนให้ทัน

วันไหนที่ไปเก็บขยะแล้วกลับไปอาบน้ำไม่ทัน

เขาจะไปนั่งอยู่แถวหลังสุดของห้องเรียน

เพื่อหลบเร้นจากสายตาของเพื่อนร่วมชั้นที่มองมาที่เขาด้วยความรังเกียจ

ครอบครัวของ Rehan ก็เป็นพนักงานทำความสะอาดเหมือนกัน

เขาจึงเข้าใจดีว่างานประเภทนี้ต้องเผชิญความยากลำบากอะไรบ้าง ทั้งการทนอยู่กับความไม่สะอาดที่ไม่มีใครอยากอยู่ รายได้ที่ไม่เพียงพอ ฯลฯ

และเข้าใจว่าทำไมนักศึกษาและคนในสังคม จึงมองเห็นแต่กำแพง

ไม่ทะลุผ่านมองไปเห็นภารโรง คนทำความสะอาด คนเก็บขยะอย่างพวกเขา

Rehan จึงลุกขึ้นมาเพื่อเจาะทะลุกำแพง

เพื่อให้เพื่อนนักศึกษาอันทรงเกียรติและคนอื่นๆ มองเห็นคนที่ต่ำต้อยกว่า

Rehan ทำอย่างไร โปรดพลิกอ่านที่หน้า 30

ด้าน กาแฟดำ-สุทธิชัย หยุ่น เล่าให้ฟังถึงการไปคุยกับ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ”

ซึ่งเป็นลูกชายอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

เป็นผู้ที่เรียนจบปริญญาโท การเมืองระหว่างประเทศ จาก Harvard Kenney School of Government

เป็นวิทยาลัยในสังกัดของมหาวิทยาลัย Harvard ที่เจาะจงเรื่องนโยบายสาธารณะ

โดยมีโจทย์สำคัญคือ

“จะเอาทฤษฎีทั้งหลายว่าด้วยนโยบายสาธารณะนั้นไปใช้ในทางปฏิบัติหรือโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร…”

ทั้งนี้ ต้องสืบเสาะให้ได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ค้นพบและค้นคว้ามานั้นมันตอบโจทย์ของสังคมอย่างไร

นั่นคือ จะต้องไม่ใช่แค่ฟังเล็กเชอร์จากอาจารย์คนดัง จดบันทึกตามที่สอน และสอบเอาคะแนนเพื่อได้ปริญญาเท่านั้น

หากแต่ต้องเป็นการถกแถลงกันอย่างดุเดือดร้อนแรง

เพื่อนำเอาความรู้และทฤษฎีออกไปใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงให้ได้ด้วย

 

วันนี้ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ สวมหมวกเป็นหนึ่งในผู้ช่วยระดมความคิดของ “พรรคก้าวไกล” ว่าด้วยการปรับหรือ reset นโยบายต่างประเทศของไทยสำหรับโลกยุคใหม่

ที่ตอนนี้ ยังอยู่ในกระแสแห่งความไม่แน่นอน

ไม่แน่นอน ว่าจะได้ร่วมเป็นทีมเดียวกับพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศหรือไม่

อย่างที่ทราบ พิธาและพรรคก้าวไกล กำลังถูกสกัดทุกด้าน และในนานาเรื่อง

เพื่อไม่ให้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล

หนึ่งในนานาดราม่า ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาดิสเครดิตพิธา ก็คือ

พิธาจบ “ฮาร์ดวาร์ด” จริงหรือไม่

 

แน่นอนคำถามนี้ สุทธิชัย หยุ่น นำไปตั้งคำถามกับฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ด้วย

และยังจี้ถามอีกว่า หากพิธาไปเรียนที่ Kenney School จริง

เขาจะได้รับรู้ถึงประเด็นร้อนๆ ที่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก และการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างเข้มข้นหรือไม่

และจะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากบรรยากาศการเรียนการสอนและการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนมากน้อยเพียงใด

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มีคำตอบ และมีคำอธิบาย

รายละเอียดเป็นอย่างไร

มติชนสุดสัปดาห์ พร้อมเสิร์ฟร่วมกับกาแฟดำแล้ว ที่หน้า 89 •