ขอแสดงความนับถือ

ผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นักการตลาด อย่าง “ประกิต กอบกิจวัฒนา” เจ้าของคอลัมน์ “ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง”

นอกจากตะลึงกับตัวเลขที่นั่ง ส.ส.ของก้าวไกล เพราะคาดไม่ถึงว่าจะได้เกิน 150

ยังตะลึงกับตัวเลขที่นั่ง ส.ส.ของเพื่อไทย เพราะคาดไม่ถึงว่าจะต่ำกว่า 150

ตะลึงประการหลังนี้ ดู “ประกิต กอบกิจวัฒนา” จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ

พิเศษ เพราะเพื่อไทย (ไทยรักไทย พลังประชาชน) ชนะเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ครั้ง (2544, 2548, 2550, 2554, 2562)

แต่เลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อไทยพ่ายแพ้ยับเยิน

เป็นความยับเยินที่ต้องทบทวน

ทบทวนด้วยสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่จะต้อง “ยกเครื่อง” เท่านั้น

แม้แต่ปีกเสรีนิยม อย่างเพื่อไทย ก็ต้องถอดรื้อตนเอง “ครั้งใหญ่”

 

“ประกิต กอบกิจวัฒนา” มองว่า แม้แบรนด์พรรคเพื่อไทยจะติดตลาด

แต่เป็นการติดตลาดที่ทำให้คนเพื่อไทยติดกับดัก กับ “Good Old Day” เสียเองด้วย

ตัวอย่างข้อความม็อตโตที่เคยใช้ได้ผล

ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏเป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย นั่นคือ “หัวใจคือประชาชน”

คำนี้ ไทยรักไทยใช้หาเสียงเมื่อปี 2548

เพื่อไทยเอากลับมาใช้ใหม่ในปี 2562

เท่านั้นไม่พอ เรายังได้ยินข้อความนี้ต่อเนื่องมาถึงแคมเปญหาเสียงปี 2566 ด้วย

“…การหยิบเอาข้อความเดิมมาใช้ซ้ำๆ

ผมว่าก็ส่อลางร้ายแล้วนะ ผมว่า

เพราะสะท้อนถึงการไม่ทำการบ้านอย่างเต็มที่ของพรรค

ยังเชื่อเรื่องเดินย่ำซ้ำรอยเดิม

มั่นใจเหลือเกินว่าคนรักเพื่อไทยยังคงชื่นชม และเชิดชูม็อตโตนี้…”

แต่ผลก็อย่างที่เห็น พังพาบ

นั่นคือสิ่งที่ประกิตชวนตั้งข้อสังเกต

และยังยกกรณีศึกษาอีกหลายเรื่องเป็น “การบ้าน” ให้พรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุน แก้ไข

มีอะไรบ้าง พลิกอ่านที่หน้า 30

ไม่เพียงคอลัมน์ “ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง” เท่านั้นที่ให้การบ้านพรรคเพื่อไทย

คอลัมน์โลกทรรศน์ ของอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ก็ได้ย้ำว่า

“…นี่เป็นความพ่ายแพ้อย่างมากของพรรคเพื่อไทย

ที่ยังคงเน้นการเมืองแบบบ้านเก่า เรื่องนี้แม้แต่ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังยอมรับ

…ยอมรับว่า พรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี

เขาอธิบายว่า…ไม่ใช่ยุคของเพื่อไทย คนแก่ในพรรคต้องถอยแล้ว…”

อาจารย์อุกฤษฏ์มองว่านี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่า พลัง เสน่ห์ มนต์ขลังของทักษิณ ในเศรษฐกิจการเมืองไทย อ่อนตัวลง

บุคลิกส่วนตัว เงินทุน ความคิดใหม่ๆ นโยบายประชานิยม เครือข่ายทางการเมืองทั้งกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ มวลชนในชนบท

เข้ากันไม่ได้กับบริบทและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว

เป็นภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย

ที่นักยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยต้องเข้าใจ และหาทางแก้

 

ซึ่งในกรณีนี้ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ทิ้งท้ายไว้ในข้อเขียน นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ความชอบธรรมที่ล่มสลาย”

ถึงเพื่อไทยว่า

“…ที่พรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภามากกว่าพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

(เพราะ) ในปัจจุบัน คนไทยเห็นว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนแปลงลึกไปถึงระดับโครงสร้างเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุด

…ผมเชื่อว่าคนกลุ่มนี้นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น

ดังนั้น ผมจึงคาดเดาว่า ประเด็นที่การเมืองไทยจะหันมาเล่นในอนาคต น่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้าง ควรทำอะไร, แค่ไหน, อย่างไร, เมื่อไร, โดยใคร

คงเป็นประเด็นปัญหาที่พรรคการเมืองต้องถกเถียงกัน เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน

และในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ก้าวไกลทั้งหมด

ผมเห็นว่าพรรคที่มีศักยภาพจะปรับเปลี่ยนตนเองให้มารองรับนโยบายที่แรงขนาดนี้ได้คือพรรคเพื่อไทย

ถึงเวลาแล้วที่พรรคเพื่อไทยควรวาง ‘จุดยืน’ (position) ของตนใหม่

โดยการผลักดันให้ ‘คนรุ่นใหม่’ (ไม่จำเป็นต้องจำกัดความด้วยอายุเพียงอย่างเดียว) ได้เข้าไปร่วมวางนโยบายและจุดยืนของพรรคมากขึ้น”

 

เพื่อไทย ซึ่งตอนนี้เหนื่อยอยู่กับการแก้เกม

ด้วยถูกหาว่าจะไขว้ขั้วไปตั้งรัฐบาลกับขั้วการเมืองเดิม

จะมีเวลาคิดถึงการถอดรื้อตนเอง “ครั้งใหญ่” หรือไม่

น่าติดตาม! •