ขอแสดงความนับถือ

หลังพรรคก้าวไกล สร้างปรากฏการณ์ “เมืองไทยสีส้ม”

“อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์” แห่งคอลัมน์โลกทรรศน์ (หน้า 88)

นำเสนอปรากฏการณ์ ผ่าน 3 คลิปที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย

คลิปที่หนึ่ง

เป็นคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ที่อ้างว่ามีขึ้นระหว่างกองทัพกัมพูชาซ้อมรบครั้งใหญ่ ที่จังหวัดพระตะบอง ห่างจากชายแดนไทยเพียง 20 กว่ากิโลเมตร

คลิปภาพและเสียงนั้น ฮุน เซน ประกาศจะทวงคืนดินแดนจากไทยและเวียดนาม โดยอ้างว่าเป็นดินแดนของกัมพูชา

คลิปนั้นยังเชื่อมโยงไปถึงการปราศรัยของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บนเวทีหาเสียงที่จังหวัดกาญจนบุรี 18 มีนาคม

นายพิธากล่าวว่า “ทหารมีไว้ทำไม”

การเชื่อมโยงนั้น ถูกมองว่าเป็นการจงใจให้ต่อต้านข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ของพรรคก้าวไกลหรือไม่

โดยคลิปภาพและเสียงของนายฮุน เซน นั้น อาจารย์อุกฤษฏ์ระบุว่า เป็นเฟกนิวส์ มีการตัดต่อคำพูด

คลิปที่สอง เป็นคลิป เพลงหนักแผ่นดิน ที่บรรเลงโดยวงดุริยางค์กองทัพบก

ถูกปล่อยออกมาช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม

ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ต้องการปลุกใจมวลชนให้หวาดกลัวศัตรูภายในประเทศ ที่ชนชั้นนำไทยเชื่อว่าคือพวกจ้องทำลายชาติและสถาบันหลักของชาติหรือไม่

และคลิปที่สาม เป็นภาพและเสียงของคุณยายคนหนึ่ง ที่รำพึงว่า ทหารหายไปไหน

ทำไมไม่ไปป้องกันประเทศ

ทำไมไม่ไปรบกับศัตรูภายนอก

ภาพในคลิปสร้างความหดหู่ มัวหมองไปทั่วแผ่นดินไทย ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

 

อาจารย์อุกฤษฏ์ตั้งคำถามถึงการผลิตสร้างคลิปเหล่านี้ออกมาว่า

“…พวกเขาจะกลัวอะไร

นอกจากความเปลี่ยนแปลงและกาลเวลาซึ่งเป็นสัจธรรม

เวลานี้ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง การออกมาประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง เป็นภัยคุกคามอะไรต่อสังคมไทย

การเลือกตั้ง การเมืองในรัฐสภาและการเมืองนอกรัฐสภา ที่จะนำประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

มันอันตรายตรงไหนครับ”

เป็นคำถามอย่างรู้เท่าทัน

และเชื่อว่า ปรากฏการณ์หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เตรียมจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ

คงต้องเผชิญกับการถูกสร้างให้เป็น “ปีศาจแห่งการเปลี่ยนแปลง” จากบางฝ่ายต่อไป

เพื่อที่จะปูทางให้เกิดวงจรอุบาทว์เดิมๆ ขึ้นมาอีก

เดิมๆ อย่างที่ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ตั้งข้อสังเกตไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ว่า

“…หลายคนอาจคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น

บ่อนทำลายผลประโยชน์ของกองทัพถึงเพียงนี้

จึงเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพ (และชนชั้นนำ) จะอยู่เฉย

โดยไม่ก่อรัฐประหารเพื่อขัดขวางการเมืองไทยที่กำลังดำเนินไปในทิศทางที่กองทัพ (และชนชั้นนำ) ไม่เห็นชอบด้วย…”

 

การรัฐประหาร ในสายตาของอาจารย์นิธินั้น แม้มีความเป็นไปได้อยู่เสมอ

แต่กระนั้น อาจารย์นิธิก็เตือนว่า

การเลือกตั้งที่ผิดคาดเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะใช้อ้างเป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจเสียแล้ว

“…ไม่มีเจตนาจะทำนายว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในการเมืองไทย

เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารของกองทัพกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพสำหรับคณาธิปไตยไทยเสียแล้ว

แต่เมื่อจำเป็นต้องใช้ ก็ยังใช้ได้อยู่ ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเอาข้างหน้า

(แต่) หวังผลให้เกิดตามความต้องการของตนไม่ได้เสียแล้ว

ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในเมืองไทยทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับพลเมืองที่ ‘ตาสว่าง’ แล้ว

มีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการเมืองมากนัก…”

 

“…ความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ในสังคมไทยก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

และอาจในจังหวะที่เร่งเร้าขึ้นด้วย

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องมาถึงจนได้อย่างหลีกไม่พ้น

ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ก็อาจผ่านหนทางอื่น”

คือคำเตือนของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ที่ส่งไปถึงผู้ที่จะหาญยืนต้าน

“พายุแห่งการเปลี่ยนแปลง” •