ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ผ่านขั้นตอนสำคัญ มาอีกขั้น

นั่นคือเปิดรับสมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ผู้สมัคร-พรรค ได้รับหมายเลขไปเรียบร้อยแล้ว

จากนี้ ผู้สมัครและพรรค คงต้องไปคิดหาวิธีการที่จะทำให้ชาวบ้านจำหมายเลขของตนเองให้ได้

ซึ่งคงสับสนอลหม่านไม่น้อย

 

อย่างที่เราทราบ การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นระบบบัตรสองใบ

ใบหนึ่งเลือก ส.ส.ระบบเขต

ใบหนึ่งเลือกพรรค หรือปาร์ตี้ลิสต์

ทั้ง 2 แบบ มีหมายเลขไม่ตรงกัน ต้องจำกันดีๆ

ยิ่งกว่านั้น บัตรสำหรับเลือก ส.ส.เขต มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัคร

ไม่มีสัญลักษณ์พรรค หรือชื่อของผู้สมัคร

เป็นภาระที่ชาวบ้านจะต้องจำเพิ่มขึ้นไปอีก

ไม่เช่นนั้นอาจลืม หรือสับสน ระหว่างเบอร์พรรคกับเบอร์บุคคล

อาจนำไปสู่บัตรเสีย หรือกาเบอร์ผิดจำนวนมากได้

นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต.ว่าไร้ประสิทธิภาพ

อย่างกรณีการออกแบบบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ซึ่ง กกต.เรียกว่า “บัตรโหล” นั้น

กกต.เลือกวิธีการง่ายๆ คือมีแต่หมายเลข

มากกว่าจะคิดหาวิธีการว่าจะช่วยหรือทำให้ชาวบ้านเลือกตั้งอย่างไรให้สะดวก ถูกต้อง มากที่สุด

 

ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่แตกต่างกับการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ที่ดำเนินไปในลักษณะเดียวกัน

คือมุ่งอำนวยความสะดวกให้ “เจ้าหน้าที่” ซึ่งหมายถึง กกต.และกระทรวงการต่างประเทศ มากกว่าที่จะคำนึงถึง “ประชาชน”

หลายประเทศเลิกการให้ใช้สิทธิผ่านไปรษณีย์

ประชาชนต้องเดินทางไปใช้สิทธิที่สถานทูต ซึ่งมีระยะทางไกลมาก

และแถมยังกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันทำงาน

ต้องลาหรือขาดงาน ถึงจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิ

ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ “อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์” (อับดุลสุโก ดินอะ)

ได้ยกการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มาเลเซีย มาเป็นตัวอย่างให้เราได้รับรู้ผ่านรายงานพิเศษ “เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มาเลเซีย : ปัญหาและทางออก”

ทั้งนี้ อุปทูตไทยในมาเลเซียได้กำหนดให้จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในเวลา 09.00 น. ถึง 20.00 น. วันที่ 27-28 เมษายน 2566 ตรงกับวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันทำงาน

และต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งตามที่สถานที่กำหนด ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่ง

ส่วนการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์และส่งบัตรเลือกตั้งถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ยกเลิกไป

ทำให้คนไทยนับแสนคนทั้งนักศึกษา รวมทั้งคนที่มาทำงานบริษัท ทำงานตามร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย ทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ มีโอกาสเสียสิทธิเลือกตั้งสูงมาก

เพราะไม่สามารถเดินทางมาลงคะแนนตามที่จัดไว้ได้

นี่คือตัวอย่างของความยากลำบาก ที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิของตนเอง

เราจะแก้ไขอย่างไร

นี่เป็นคำถามที่คงหาคำตอบได้ยากจาก กกต.

 

นอกเหนือจากปัญหาบัตรเลือกตั้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว

การตัดสินใจว่าจะเลือกใครและพรรคใด ก็เป็นหัวใจสำคัญของการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

หลายคนอาจตัดสินใจไม่ถูก และยังไม่รู้ว่าจะให้น้ำหนักในประเด็นใดมากกว่ากัน

ลองพลิกไปอ่านคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ของธงทอง จันทรางศุ

ที่นำเสนอ “เกณฑ์และหลักคิด ‘ของผม’ /วิธีเลือก ส.ส. ‘เขต-ปาร์ตี้ลิสต์'”

ซึ่งก็น่าสนใจ และอาจจะปรับมาใช้ได้

ส่วนจะเห็นสอดคล้องหรือแตกต่าง

แน่นอน ที่สุดแล้วย่อมขึ้นกับเราว่าจะตัดสินใจอย่างไร

 

ทั้งนี้ อาจารย์ธงทองเตือนให้คิดว่า

การใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีในคูหาเลือกตั้ง

ไม่ควรเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า

หากแต่ควรเป็นการประมวลผลข้อมูลที่เราได้เก็บงำไว้ในสมองของเรามาช้านาน

แล้วกลั่นออกมาเป็นคำตอบสุดท้าย

เป็นโอกาสที่เราจะแสดงตัวตนของเราให้ปรากฏว่าเราประสงค์จะเลือกอนาคตของเราอย่างไร

ไม่ใช่อนาคตของเราโดยลำพังด้วย

แต่เป็นอนาคตของประเทศ

อนาคตของลูกหลานในวันข้างหน้า

การใช้สิทธิวันที่ 14 พฤษภาคม จึงสำคัญนัก! •