ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ สัปดาห์นี้

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง ไปคุยกับสุเทพ เทือกสุบรรณ

น่าสังเกตว่า แม้ปี่กลองการเมืองจะดังกระหึ่ม

แต่ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ในวัย 74 ปี ที่ตอนนี้ทุ่มเทอยู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

ไม่อยากคุยเรื่องการเมืองนัก

โดยย้ำว่า ยังรักษาคำพูด จะไม่ลงรับสมัครรับเลือกตั้ง และไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ

 

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เล่นการเมือง

แต่ก็มีความเห็นทางการเมือง

ความเห็นที่มีใจเต็มเปี่ยมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ต้องบอกตรงๆ ว่าผมชอบเขา

…ชอบเพราะเขาซื่อสัตย์สุจริต

เขาจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เขาเป็นนายกฯ มาเจ็ดแปดปี ไม่เคยมีชื่อเสียงเสียหายเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น บ้านเขาไม่รับแขก ไม่เปิดประตูหลังบ้าน อย่างนี้ผมว่าเขาดี…”

“ผมให้ (คะแนน) 99% หรือ 100 เลยก็ได้ เพราะผมเปรียบเทียบกับคนอื่น ถ้ามาเป็นนายกฯ ผมกลัวว่าจะพาความยุ่งยากความวุ่นวายมาให้ประเทศ…เพราะฉะนั้น ผมอาจจะเป็นพวกอนุรักษ์ และเห็นว่าคนเดิมอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ใช้ได้อยู่”

 

แจ่มชัดท่าทีของนายสุเทพ ให้เครดิต พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ “คนดี”

ซึ่งหากพิจารณาผ่านคอลัมน์ “กาลเปลี่ยนแปลง” ของ “ประจักษ์ ก้องกีรติ”

ในเรื่อง “วาทกรรมคนดีในการเมืองไทย”

ท่าทีนายสุเทพ ย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก

อาจารย์ประจักษ์ชี้ว่า การเมืองไทยร่วมสมัย วิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมานั้น

วาทกรรมคนดีถูกปลุกและผลิตซ้ำขึ้นมาอย่างคึกคัก

โดยเฉพาะกับการขับเคลื่อนของ กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่ได้ชูวาทกรรมการต่อสู้แบบสงครามระหว่างพลังฝ่ายธรรมะกับอธรรมเป็นหลัก

นายสุเทพประกาศแนวคิดเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” ว่าตนเองจะสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาและจัดตั้งรัฐบาลของ “คนดี” โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

เน้นย้ำว่ากำลังต่อสู้เพื่อสร้างการเมืองที่คนดีได้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง

และป้องกันไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคนชั่วได้มีอำนาจ

แม้วันนี้ นายสุเทพจะวางบทบาทตนเองในฐานะ “คนนอก”

กระนั้น น่าสังเกตว่า วาทกรรมคนดีและการเลือกคนดีให้ปกครองบ้านเมืองไม่ได้ไปไหน

ยังปรากฏตัวอีกครั้งในเวทีหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ

ด้วยเพราะองค์ประกอบของบุคลากรและพลังทางการเมืองสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีอดีตแกนนำ กปปส. เข้ามามีบทบาทในฐานะแกนกลางและขุมกำลังหลักของพรรคจำนวนมาก

คำปราศรัยเชิดชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “คนดี” จึงยังถูกนำมาใช้เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566

โดยมีความเชื่อ และคาดหวังว่าการสร้างภาพลักษณ์ “คนดี”

น่าจะเป็นจุดขายที่ช่วยตรึงและดึงคะแนนเสียงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ได้

 

แต่กระนั้น อาจารย์ประจักษ์ก็มีข้อสังเกตที่ชวนให้คิด

นั่นคือ บริบทการเมือง พ.ศ.2566 แตกต่างจาก พ.ศ.2557 ไปอย่างมาก

จึงไม่แน่ใจว่า วาทกรรมคนดียังเป็นจุดขายทางการเมืองที่มีพลังหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น นอกจากจะมีคำถามเรื่องขายได้แล้ว

คำปราศรัยของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชูเรื่องคนดีขึ้นมาเกื้อหนุนหนุน พล.อ.ประยุทธ์

ในตอนนี้กลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง

ปัญหาที่ถูกร้องเรียนให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้ามาตรวจสอบ

ดังนั้น การชูความดีที่เป็นนามธรรมเป็นยุทธวิธีทางการเมือง

จึงไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

จนสามารถเอาชนะคู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ได้

จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่

แน่นอนผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้าจะเป็นคำตอบ •