ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

24 กุมภาพันธ์ 2566

ครบรอบ 1 ปี สงครามยูเครน-รัสเซีย

ไทยแม้จะอยู่ไกลจากสนามรบนั้น

แต่เราก็คงเฉกเช่นประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้

ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนั้นโดยถ้วนหน้า

เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสากรรจ์

สงครามยูเครน-รัสเซีย จึงมิใช่เรื่องไกลตัว

จำต้องติดตามสถานการณ์ให้เท่าทัน

ด้วยสงครามนั้นยังไม่จบ

ยืดเยื้อและอาจนำไปสู่สิ่งที่เลวร้ายมากขึ้นได้ตลอดเวลา

 

ภาวะยืดเยื้อของสงครามดังกล่าว

คอลัมน์ยุทธบทความ ของสุรชาติ บำรุงสุข ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ สรุปอย่างสั้นกระชับ เห็นภาพ ว่า

“หนึ่งปีแห่งสงคราม ยูเครนไม่แพ้ รัสเซียไม่ชนะ” (หน้า 36-37)

ภาวะไม่แพ้ ไม่ชนะนี้ อาจารย์สุรชาติบอกว่า เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายไม่น้อย

เพราะเมื่อเปรียบเทียบจาก “พลังอำนาจแห่งชาติ”

ยูเครนน่าจะแตกไม่เกินสัปดาห์แรกของการถูกบุก

โลกน่าจะเห็น “ธงรัสเซีย” เหนือกรุงเคียฟ

แต่รัสเซียกลับไม่สามารถส่งกำลังเข้ายึดเมืองหลวงของยูเครนได้

และเผชิญความหวังที่ไม่เป็นจริงว่า เมื่อกองทัพรัสเซียบุกข้ามพรมแดนแล้ว ชาวยูเครนจะออกมาคอยต้อนรับรัสเซีย…

ผู้นำรัสเซียอาจจะฝันถึงวันเก่าของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้คนในยุโรปตะวันออกคอยต้อนรับการมาของกองทัพแดง เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากการยึดครองของนาซี

แต่ครั้งนี้ชาวยูเครนไม่ต้อนรับกองทัพรัสเซีย และต่อต้าน

จนการยึดเคียฟกลายเป็นเพียง “ความฝันกลางวัน” ของผู้นำรัสเซีย

 

วันนี้ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จึงเหมือนมีรอยแผลเหวอะหวะจนยากที่จะเยียวยา

แต่ดูเหมือนปูตินจะไม่ยอมแพ้และไม่ยอมถอย

ท่าทีดังกล่าว คงเป็นอย่างที่ “สิทธิชัย หยุ่น” แห่งคอลัมน์กาแฟดำ (หน้า 89) พาเราย้อนไปอ่านคำปราศรัยของปูติน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022

หรือสองวันก่อนที่ปูตินจะส่งทหารเข้ายูเครน

ยืนกรานเจตจำนง ที่จะต้องยึดยูเครนให้ได้

โดยอ้างถึงภารกิจสำคัญของตนหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

“รัสเซียรับภาระหน้าที่ในการชำระหนี้โซเวียตทั้งหมดเพื่อแลกกับรัฐเอกราชที่เพิ่งสละทรัพย์สินบางส่วนในต่างประเทศ

“ในปี 1994 มีข้อตกลงเรื่องนี้กับยูเครน แต่ยูเครนไม่ได้ให้สัตยาบัน…

“(ยูเครน) ชอบที่จะดำเนินการในลักษณะที่ว่าพวกเขามีสิทธิ์และข้อได้เปรียบในความสัมพันธ์กับรัสเซียทั้งหมด แต่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ…

“ตั้งแต่ก้าวแรก พวกเขาเริ่มสร้างความเป็นรัฐด้วยการปฏิเสธทุกสิ่งที่รวมรัสเซียเข้าด้วยกัน พวกเขาพยายามบิดเบือนจิตสำนึก ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของผู้คนหลายล้านคน ทั้งชั่วอายุคนที่อาศัยอยู่ในยูเครน”

เมื่อยูเครนเลือกที่จะเป็นอื่นกับรัสเซีย

และยังดึงเอาสหรัฐและชาติตะวันตกเข้ามาร่วมต่อต้านขัดขวาง

ทำให้ปูตินไม่อาจจะหยุดหรือถอยได้

นอกจาก “เราจะไม่ประนีประนอมในเรื่องอำนาจอธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติ และค่านิยมของเรา

“ผมต้องการพูดอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อข้อเสนอของเราสำหรับการเจรจาที่เท่าเทียมกันในประเด็นพื้นฐานยังคงไม่ได้รับคำตอบจากสหรัฐอเมริกาและนาโต เมื่อระดับของภัยคุกคามต่อประเทศของเราเพิ่มขึ้นอย่างมาก รัสเซียมีสิทธิ์ทุกประการที่จะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

นั่นคือสิ่งที่เราจะทำ”

เมื่อปูตินเดินหน้าที่จะทำสงครามยูเครน-รัสเซีย จึงไม่ยุติลงง่ายๆ

และพลอยดึงให้โลกติดหล่มความขัดแย้งต่อไป

 

อนาคตโลก อนาคตรัสเซีย จะเป็นอย่างไร จึงน่าสนใจ

คอลัมน์การเมืองวัฒนธรรม ของเกษียร เตชะพีระ ในมติชนสุดสัปดาห์นี้

จึงพาไป ให้ “หมอดูวิชาการ” ช่วยส่องอนาคตให้

หมอดูวิชาการ ที่ว่าคือ คณะกรรมการแอตแลนติก (The Atlantic Council)

เป็นสถาบันคลังสมองอเมริกันด้านกิจการระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ในช่วงสงครามเย็น

ตั้งเป้าส่งเสริมเกื้อหนุนการร่วมมือกันสืบไประหว่างกลุ่มประเทศทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยในทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรป เพื่อสร้างอำนาจนำต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แน่นอน คำพยากรณ์ดังกล่าวซึ่งมาจากฝ่ายอเมริกัน ผ่านการออกแบบสอบถาม ย่อมไม่เป็นคุณกับรัสเซียนัก

ไม่เป็นคุณ อย่างไร

มีศักยภาพถึงขนาดจะทำให้รัสเซียล่มสลายเลยไหม

พลิกอ่านได้ที่หน้า 41 •