ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ย่างบาทสู่ห้วงเวลาแห่งความรัก “14 กุมภาพันธ์”

ซึ่งเมื่อ “สวมแว่นสีชมพู” (ฮา) แลผ่านคอลัมน์ต่างๆ

จะได้มุมมองต่อความรัก

ในหลากหลายมุมมอง

 

แลไปที่คอลัมน์ “เครื่องเคียงข้างจอ” ของ วัชระ แวววุฒินันท์

ว่าด้วย “ความรักเจ้าเอ๋ย”

เกี่ยวก้อยผู้อ่าน ลัดเลาะไปกับประเด็นความรัก ผ่านความเชื่อ ความศรัทธา ในศาสนา

“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” นั่นเป็นทัศนะของพุทธศาสนา

โดยเฉพาะหากลุ่มหลง “สิเนหะ” หรือ เสน่หา

ด้วยในทางพุทธศาสนามองว่าเป็นความรักฝ่ายอกุศล รักที่เป็นกิเลส

ก่อให้เกิดความเศร้าหมองแห่งจิตใจ เป็นกิเลสกลุ่มโลภะ ที่ไม่ควรหมกมุ่น

รักแบบ “เปมะ” “ฉันทะ” และ “เมตตา” คือสิ่งที่ควร “พิจารณา” มากกว่า

ด้วยจะทำให้มุมมองต่อความรัก “เปิดกว้าง”

กว้างขึ้น เหมือนมองผ่านทัศนะต่อความรัก แบบคริสต์ศาสนา ที่พระเยซูเทศนาไว้ในพระคัมภีร์

จงรักศัตรู

จงทำดีแก่ผู้ที่เกลียดชังท่าน

จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน

จงอวยพรแก่คนที่แช่งด่าท่าน

จงอธิษฐานเพื่อคนที่เคี่ยวเข็ญท่าน

 

เมื่อพูดถึงความรักเปิดกว้างเช่นนี้แล้ว

คอลัมน์การ์ตูนที่รัก ของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

พาไปอ่านหนังสือการ์ตูน “เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ” (The Prince and the Dressmaker) เขียนเรื่องและวาดภาพโดย Jen Wang แปลโดย วลัยลักษณ์ จิตตะยโศธร

แน่นอน เป็นเรื่องของความรัก หากแต่ไม่ใช่เรื่องของชายรักหญิง หญิงรักชาย

แต่รุก “กว้าง” ไปถึงความรักของ LGBT ซึ่งตอนนี้ไปถึง LGBTQIA+ แล้ว

นายแพทย์ประเสริฐบอกว่า

“เราก็มาถึงศตวรรษที่ 21 เร็วกว่าที่คาด

ที่ว่าเร็วกว่าที่คาดเพราะเมื่อห้าสิบปีที่แล้วหลายประเทศยังมีกฎหมายทำโทษเพศสภาพหรือเพศวิถีที่มิใช่ชายหรือหญิงอยู่เลย แต่ก็ยังเร็วไม่พอด้วยมีคนตายเพราะเรื่องนี้มากเกินไป

เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้เราพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นและยอมรับได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า ‘ยอมรับ’ มีความหมายว่าครั้งหนึ่งเคยไม่ถูกยอมรับแล้ววันนี้ก็ยังอาจจะเป็นของแปลกแยกที่ต้องมานั่งยอมรับ

ที่เราอยากให้โลกเป็นไปมากกว่าคือไม่มีคำว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับ ที่แท้แล้วความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์เหมือนที่คนเราต้องตื่นนอน กินข้าว แปรงฟัน อาบน้ำ หรือเข้านอน

ความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะตั้งชื่อใหม่ๆ ว่าอะไรมิใช่คำแปลกแยก

แต่ควรกลมกลืนกับโลกเหมือนคำว่าชายและหญิง…”

ทัศนะเช่นนี้จะไม่บอกว่าเป็นความรักอันเปิดกว้างแล้ว ก็ไม่รู้จะกล่าวเช่นไร

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มความรัก ในหลายแง่มุม จะก้าวไปสู่ภาวะอัน “เปิดกว้าง” ข้างต้นแล้ว

แต่อีกหลายด้าน ดูจะน่าห่วง น่ากังวล

โดยเฉพาะการลุ่มหลงอยู่ในภาวะคลั่งรัก คลั่งชาติ

คลั่งอย่างไร โปรดพลิกหน้า 68

สุจิตต์ วงษ์เทศ นำเสนอประเด็น “มวยไทย-มวยเขมร วัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์” มาให้พิจารณา

โดยชี้ให้เห็นว่า

ความบาดหมางทางวัฒนธรรมกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา ตั้งแต่กรณีโขนละครและอื่นๆ จะทยอยมาไม่จบสิ้น

ล่าสุด คือเรื่องมวยไทยกับมวยเขมร

ล้วนมีต้นตอจากสมัยชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติทั้งของไทยและกัมพูชารับจากเจ้าอาณานิคมสั่งสมมามากกว่า 100 ปี

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่าในวงวิชาการสากลเป็นที่รู้ทั่วไป ว่าไทยคือลูกผสมนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เช่น เขมร, มอญ, มลายู-จาม เป็นต้น

มีหลักฐานวิชาการรองรับสนับสนุนหนักแน่นทางประวัติศาสตร์, โบราณคดี, มานุษยวิทยา

ชาติพันธุ์เหล่านั้นมีวัฒนธรรมการต่อสู้ด้วยอวัยวะตนเอง มือ-ตีน-แขน-ขา มาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ก่อนกลายตนเป็นคนไทย

ดังนั้น การต่อสู้ด้วยอวัยวะต่างๆ ที่มีในตัวคน ได้แก่ มือ-ตีน-แขน-ขา เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ซึ่งมีในทุกชาติพันธุ์

แต่รัฐคลั่งเชื้อชาติไทยแบบยกตนข่มท่าน

ไม่รับความเป็นลูกผสมของคนไทย จึงครอบงำเรื่องชนชาติไทยเชื้อชาติไทยสายเลือดบริสุทธิ์อย่างมีพลังทุกวันนี้

ทำให้หลงทางตีขลุมว่าวัฒนธรรมทุกอย่างเป็นของไทยแต่ผู้เดียว

ส่วนคนอื่นรับไปจากไทย

ดังนั้น การต่อสู้ด้วยมือ-ตีน-แขน-ขา คือมวยไทย เป็นสมบัติของไทยเท่านั้น

ถ้าเพื่อนบ้านมีการต่อสู้อย่างนี้ถือว่าลอกเลียนจากมวยไทย

 

รัก (ชาติ) เช่นนี้

มิใช่รักอันพึงประสงค์

ด้วยรังแต่จะนำมาซึ่งความแตกแยก บาดหมาง •