ขอแสดงความนับถือ

วันตรุษจีน

เข้ามาเป็นวัน “ตรุษใหญ่” ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน

สะท้อนภาวะสำคัญของ “จีนในไทย” หรือ “เจ๊กปนไทย” ได้เป็นอย่างดี

ทั้งในแง่เชื้อชาติ วัฒนธรรม ทุน ความมั่นคง

ที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้น

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ อยู่ในห้วงตรุษจีนพอดี

จึงมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ในอดีต

สุทธิชัย หยุ่น แห่งคอลัมน์ กาแฟดำ

ย้อนพาไปสัมผัส “การทูตไทยเมื่อเวียดนามบุกเขมร…และจีนลุยเวียดนาม”

โดยหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในปี 2518

เดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้น

เวียดนามส่งทหารรุกรานและยึดครองกัมพูชา

ทำให้ประเทศในภูมิภาคที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์วิตกหวั่นไหวต่อภัยคุกคาม “ที่มาถึงประตูหน้าบ้าน”

ตาม “ทฤษฎีโดมิโน” ที่ประเทศต่างๆ ในย่านนี้อาจล้มครืนตาม

โดยเฉพาะไทยถูกมองว่าจะเป็น “โดมิโน” ตัวแรก

 

สุทธิชัย หยุ่น นำสิ่งที่ “อาสา สารสิน” เขียนถึงภาวะหวาดกลัวดังกล่าวไว้ในหนังสือ “ชีวิต-งาน อาสา สารสิน ในวาระสิริอายุครบ 7 รอบ” ว่า

“ถึงขั้นที่เศรษฐีไทยหลายคนเริ่มตระเตรียมจะอพยพครอบครัวไปตั้งรกรากในสหรัฐหรือประเทศตะวันตกอื่นๆ”

ทำให้ผู้นำไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หาทางแก้วิกฤต

โดยหันไปพึ่งจีน

ซึ่งจีนก็ขานรับในหลายมาตรการ

ด้วยถือว่าเวียดนามไปโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงที่ตนสนับสนุน

ทั้งมาตรการโน้มน้าวให้เจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ปักกิ่งมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำของรัฐบาลผสมกัมพูชาเพื่อรักษาที่นั่งกัมพูชาในสหประชาชาติไม่ให้ตกเป็นของรัฐบาลเฮง สัมริน ที่เวียดนามได้อุปโลกน์ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน จีนก็เปิดสงครามสั่งสอน บุกโจมตีเวียดนามในปี ค.ศ.1979 ภายใต้ความแตกแยกของขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์โลก

จีนกล่าวหาสหภาพโซเวียตว่าละทิ้งอุดมการณ์ และมุ่งดำเนินลัทธิครองความเป็นเจ้าโลก โดยมีเวียดนามเป็นตัวแทนในการแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ จีนยังปรับนโยบายต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ด้วยการยกเลิกการสนับสนุนที่เคยให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ทำให้สถานการณ์ทั้งในอินโดจีนและในไทยเปลี่ยนไป

ทฤษฏีโดมิโน ไม่เป็นจริง

แน่นอน “จีน” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้

นั่นเป็นเรื่องในอดีต

ส่วนในปัจจุบัน จีนก็ยังถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีความสำคัญ

ไม่ใช่เรื่องลัทธิหรือความมั่นคง

แปรเปลี่ยนไปเป็นเรื่องเศรษฐกิจ

ที่หน้า 32 มีบทความพิเศษ ของ “พาราติรีตีส”

เรื่อง “จีนเปิดประเทศ ท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ไทยโอบรับทั้งโอกาสและความเสี่ยง”

โอกาสที่ว่า มาจากคำประกาศเปิดประเทศของจีนเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

ถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่ไทยรอคอย

ด้วยคาดหวังอย่างมากว่า นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นตัวช่วยให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว

การท่องเที่ยวที่ถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่เป็นตัวกระตุ้นพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ดังที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประมาณการรายได้ของไทยในปี 2566 จะเติบโตในอัตราเร่งอีก 1 ล้านล้านบาท พุ่งแตะ 2.25 ล้านล้านบาท

และหนุนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยพุ่งแตะ 28.9 ล้านคน

 

นี่ถือเป็นโอกาสที่ไทยต้องไขว่ขว้า

และพร้อมจะรับความเสี่ยง

อันเนื่องมาจากภาวการณ์โควิดระบาดของจีนยังพุ่งทะยาน

ดังที่อับดี รอฮ์มาน มาฮาหมัด ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานการเตือนภัยและตอบโต้ของอนามัยโลก เตือนว่าอาจมีการติดเชื้อระลอกใหม่ที่จีน ในช่วงที่หลายครอบครัวเดินทางกลับบ้านไปฉลองเทศกาลตรุษจีน

แน่นอนการแพร่เชื้อโควิดระลอกใหม่จากจีนอาจจะกระทบไทย ตามปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยมากขึ้น

แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ไทยเปิดอ้าพร้อมรับในห้วงตรุษจีนปีนี้

ดั่งที่เปิดกว้างให้กับเทศกาลตรุษจีนซึ่งแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกับเทศกาลของไทยไปแล้ว •