ขอแสดงความนับถือ

บีบีซี ภาคภาษาไทยสัมภาษณ์ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ในวัย 65 ปี ล่าสุด เมื่อช่วงส่งท้ายปี 2565

ทำให้เราทราบว่า ณ ปัจจุบัน พล.ต.ต.ปวีณ ได้สัญชาติออสเตรเลียแล้ว

หลังจากลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นนาน 7 ปี

จะถือว่าเป็นข่าวดี ก็คงใช่ เพราะดูเหมือนจะทำให้การใช้ชีวิตที่ออสเตรเลีย สะดวกสบายขึ้น

กระนั้นก็คงเป็นอย่างที่ พล.ต.ต.ปวีณเคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ หลายๆ ครั้งว่า ยังคิดถึงและต้องการกลับเมืองไทยซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดที่เขารัก

แต่ยังไม่ทราบว่า จะมีโอกาสเมื่อใด

ด้วยถือเป็นชะตาชีวิตอันหักเหอย่างยิ่งของนายพลตำรวจผู้นี้ ที่ไม่เคยคิดว่าต้องมาใช้ชีวิตวัยเกษียณนอกมาตุภูมิ หลังจากเข้าไปเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา

แล้วปรากฏว่า ความพยายามที่พยายามจะเป็นนายตำรวจที่ดี และทำให้คดีนี้ตรงไปตรงมาที่สุดนั้นก่อให้เกิดแรงเสียดทานอย่างรุนแรง

ด้วยผลแห่งการปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยดังกล่าว

ได้นำไปสู่การดำเนินคดีกับนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคน

สร้างแรงกดดัน บีบคั้น จนทำให้ พล.ต.ต.ปวีณตัดสินใจลาออกจากราชการ และต้องออกจากประเทศไปเมื่อปลายปี 2558

และกลายเป็นผู้ลี้ภัยกระทั่งบัดนี้

 

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2501

เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2521 และเริ่มรับราชการตำรวจในปี 2525

โดยเลือกประจำการอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย

ปี พ.ศ.2539 เขาจบการศึกษาปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 8

รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8

และตำแหน่งสุดท้าย หลังจากเข้าไปทำคดีโรฮิงญา คือเมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ.2558 ถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซึ่ง พล.ต.ต.ปวีณมองว่าเป็นการส่งไปในพื้นที่อิทธิพลของพวกค้ามนุษย์ ทั้งในและนอกราชการ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ดังนั้น หลังดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 37 วัน ก็ได้ยื่นลาออกจากราชการ ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2558

และตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยไปสิงคโปร์และไปขอลี้ภัยที่ออสเตรเลีย ด้วยไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตที่เมืองไทย

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

ชีวิตในออสเตรเลียของ พล.ต.ต.ปวีณ มิได้สะดวกสบาย

ตอนแรกๆ ต้องทำงานหนักทั้งแบกหามและคุมเครื่องตัดกรอบรูป สัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอจ่ายค่าเช่าที่พัก และค่ากินอยู่ในออสเตรเลีย

พล.ต.ต.ปวีณบอกผ่านบีบีซีภาษาไทยว่า “ตอนนี้ผมไม่ได้ทำงานติดกระดุมเบาะรถยนต์อย่างที่เห็นในสารคดีของสื่อต่างประเทศแล้ว เพราะเจ็บมือ มือชา หมอบอกถ้าไม่เปลี่ยนงาน ก็ต้องผ่าตัด เพราะใช้กล้ามเนื้อมือหลายชั่วโมงติดต่อทุกวัน”

และเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า

“ต้องมาใช้ชีวิตในแบบผู้ลี้ภัยเหมือนคนทั่วไป มาเรียนภาษา แบบคนที่หนีภัยสงคราม เหมือนชาวซีเรีย เลบานอน เหมือนคนอิหร่าน หรือเหมือนคนพม่า เมื่อเรียนแล้วก็ต้องทำงาน หางานเลี้ยงชีพ ผมไม่รู้ตัวมาก่อน ไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ภาษาผมก็ไม่ได้ ทรัพย์สินก็ไม่มีอะไร”

“ผมไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนว่าต้องมีชีวิตอยู่ในลักษณะแบบนี้ คิดว่าเมื่อรับราชการจนเกษียณ จะอยู่อย่างสมถะ อย่างสงบ แต่วันนี้ต้องมาอยู่ในที่ใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ต้องมาทำในเรื่องที่ไม่ถนัดเลย แต่จำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งคือการพูดภาษาอังกฤษ จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่ต้องดิ้นรนต่อสู้ให้อยู่ได้”

 

วันนี้ พล.ต.ต.ปวีณ แม้ได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองออสเตรเลียเรียบร้อยแล้ว

แต่ไม่เคยทิ้ง “ความฝัน”

“ผมฝันอยากเป็นตำรวจที่ดีครับ แต่มันยากมากครับ”

แต่ในความ “ยาก” ดังกล่าว มีสิ่งหนึ่งที่ พล.ต.ต.ปวีณ ในวัย 65 ปี สามารถทำได้

นั่นคือ รวบรวมข้อมูลประสบการณ์ใน 33 ปีแห่งชีวิตการเป็นตำรวจ มาเขียนเป็นหนังสือ

พล.ต.ต.ปวีณบอกกับบีบีซีภาษาไทยว่า “มีข้อมูลล้นเหลือมากพอ และกำลังรวบรวมเขียนเป็นหนังสือ”

 

ซึ่งก็น่ายินดีอย่างยิ่ง

ที่โครงการการเขียนหนังสือของ พล.ต.ต.ปวีณดังกล่าว

ได้มาเริ่มต้นใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับเปิดศักราชใหม่ปี 2566 นี้แล้ว

ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่เรายินดีมอบให้คนอ่านมติชนสุดสัปดาห์ทุกท่าน

โปรดพลิกไปที่หน้า 81 อ่านซีรีส์

“33 ปี ชีวิตสีกากี

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์” •