ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

อิหร่านปิดฉากฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ด้วยการตกรอบแรกไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ยังทิ้ง “ประเด็น” ให้กล่าวถึงอยู่

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา อัลจาซีราห์ รายงานว่าทีมฟุตบอลของอิหร่านไม่ร้อง “เพลงชาติ” ในเกมนัดแรกที่แข่งขันกับอังกฤษ

เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วงในอิหร่าน

เป็นการประท้วงหลังการเสียชีวิตของ น.ส.มาซา อามีนี วัย 22 ปีจากเมืองเคอร์ดิสถาน

เธอถูกตำรวจศีลธรรมกรุงเตหะรานจับกุมข้อหาแต่งกายไม่สุภาพ โดยไม่ยอมสวมฮิญาบ

มีการกล่าวหาว่า ระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ทุบตีศีรษะของเธอด้วยกระบอง และจับศีรษะเธอกระแทกกับรถยนต์ระหว่างกำลังควบคุมตัวไปสถานกักกันเพื่อรับการอบรม

จนทำให้อามีนีอยู่ในอาการโคม่านาน 3 วัน และเสียชีวิตลงในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

ทางการอิหร่านอ้างว่าเธอ “หัวใจล้มเหลว”

แต่ครอบครัวของ น.ส.มาซา อามีนี ยืนยันว่าเธอมีร่างกายและสุขภาพแข็งแรง

 

หลังการเสียชีวิตของอามีนี

ชาวอิหร่านจำนวนมากได้ออกมาประท้วง เพื่อต่อต้านการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองกำลังความมั่นคงอิหร่าน

ซึ่งต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรงกลับเช่นกัน

นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน อ้างว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 298 คน และถูกจับกุมตัวมากกว่า 14,000 คน จากการประท้วงใน 129 เมือง

ก่อนหน้านี้ ทีมนักฟุตบอลอิหร่านแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงมาก่อนแล้ว

โดยเมื่อปลายเดือนกันยายน พวกเขาเลือกที่จะสวมแจ๊กเก็ตสีดำเพื่อปกปิดตราสัญลักษณ์ทีมชาติในนัดกระชับมิตรกับเซเนกัล

และก่อนบินไปแข่งบอลโลกที่กาตาร์ ทีมชาติอิหร่านได้เข้าพบประธานาธิบดีเอบราฮิม ไรซี

การพบกันครั้งนั้นสื่อรายงานว่า ไม่ราบรื่น

แน่นอนสืบเนื่องมาจากการตายของอามีนีนั่นเอง

จึงไม่เหนือความคาดหมาย ที่กรณีของอามีนีจะลุกลามไปถึงสนามฟุตบอลโลกที่กาตาร์ด้วย

แฟนบอลชาวอิหร่านที่ติดตามไปเชียร์ทีมของตนเอง ส่งสัญญาณสนับสนุนผู้ประท้วงที่บ้านเกิด

ด้วยพากันสวมเสื้อยืดที่เขียนข้อความว่า Women, life, freedom อันเป็นสโลแกนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของอามีนี

พร้อมกับมีการชูหมายเลข 22 ที่เป็นอายุของอามีนีในสนามด้วย

ขณะที่ทีมฟุตบอลอิหร่านตัดสินใจที่จะนิ่งเงียบ ไม่ร่วมร้องเพลงชาติอิหร่าน ในนัดที่พวกเขาลงแข่งขันกับทีมอังกฤษ

ซึ่งแม้ผลการแข่งขัน อิหร่านจะพ่ายแพ้ให้กับอังกฤษ มากถึง 6 ประตู ต่อ 2

แต่ก็ได้รับการยกย่องจากฝ่ายที่ประท้วงรัฐบาลอิหร่านว่า นี่คือการแสดงถึงความเคลื่อนไหวที่กล้าหาญที่สุดของนักกีฬาดาวเด่นของประเทศ

โดยยังไม่ชัดเจนว่าซูเปอร์สตาร์เหล่านี้จะต้องเผชิญกับผลที่จะตามมาจากกรณีนี้อย่างไร

แต่ซาร์ดาร์ อัซมูน หัวหอกตัวเก่งทีมชาติอิหร่าน ยืนยันพร้อมต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในบ้านเกิด แม้อาจต้องเผชิญกับอันตรายก็ตาม

 

กล่าวถึงเพลงชาติในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองแล้ว

ที่อาจไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่น่าสนใจ เมื่อคอลัมน์ “คลุกวงใน” ของ “พิศณุ นิลกลัด” ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

นำเสนอประเด็น “ฟุตบอลโลกกับการร้องเพลงชาติก่อนแข่ง” มาให้อ่าน

โดยเป็นผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน European Journal of Sport Science ที่แสดงว่า “…อาจทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลในแต่ละคู่ได้โดยสังเกตจากนักฟุตบอลในช่วงที่ยืนร้องเพลงชาติก่อนเริ่มแข่งขัน”

งานศึกษาชิ้นนี้ทำการวิเคราะห์นักฟุตบอลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส

ว่าแต่ละทีมมีความจริงจังและแสดงอารมณ์ร่วมออกมามากแค่ไหนในการร้องเพลงชาติก่อนเริ่มการแข่งขัน

ทั้งการแสดงสีหน้า

พลังในการร้อง

และภาษากายที่ส่งไปยังเพื่อนร่วมทีม

เช่น ยืนกอดคอใกล้ชิดอย่างเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือแค่สัมผัสตัวพอเป็นพิธี

จากนั้นนำมาวิเคราะห์ว่าอารมณ์ร่วมระหว่างร้องเพลงชาติส่งผลอย่างไรกับการแข่งขัน

ซึ่งผลการศึกษาเป็นอย่างไร เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขันอย่างไร พลิกอ่านที่หน้า 78

แล้วจะรู้ว่า “เพลงชาติ” ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง และ “ไม่การเมือง” นั้น มีแง่มุมให้พิจารณาไม่ธรรมดาเลยทีเดียว •