ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

 

มีข่าวดีมากบอก!!

ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2565 นี้

สำนักพิมพ์มติชน ขอเชิญชวนมิตรรักนักอ่าน

กลับมารวมตัวกันอย่างอบอุ่นอีกครั้ง

ในกิจกรรม “สมานมิตรฯ Return” #เปิดโกดังหนังสือดี

ระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. ณ มติชนอคาเดมี

โดยจะเปิดประตูโกดังหนังสือหลากหลายแนว

ทั้งหนังสือใหม่ หนังสือเก่า หนังสือหายาก หนังสือสะสมที่ตามหามานาน

นักอ่านทุกท่านสามารถมาจับจองเป็นเจ้าของกันในราคาพิเศษ

นอกจากนี้ นี้ยังมีกิจกรรมมากมายหลากหลายให้เข้าร่วม

หนึ่งในนั้นคือ วันที่ 4 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน

จะมีการประกาศผล “การประกวดเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ มติชนอวอร์ด 2022”

ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” เชิญชวนนักเขียนทั้งใหม่และเก่า มาร่วม “เสริมพลังอ่าน เติมพลังเขียน” โดยส่งผลงานเข้าประกวด

ปรากฏว่ามีผู้ร่วมส่งผลงานเข้ามาร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 ผลงาน

โดยเรื่องที่ผ่านรอบแรกและนำเสนอ ใน “มติชนสุดสัปดาห์” มาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2565 คงจะผ่านสายตาไปแล้ว ส่วนเรื่องสั้นและกวี ที่ผ่านการคัดเลือกสุดท้าย จะนำเสนอในฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2565 นี้

ซึ่งไม่ว่าเรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ ของทุกท่านที่ส่งเข้ามา จะผ่านคัดเลือกหรือไม่ก็ตาม

“มติชนสุดสัปดาห์” ขอปรบมือดังๆ ให้กับทุกผลงาน

ด้วยถือว่ามีส่วนช่วย “เสริมพลังอ่าน เติมพลังเขียน” อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากผลงานเรื่องสั้น และกวีนิพนธ์ กว่า 600 ผลงาน ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก มาทั้งสิ้นอย่าง 24 เรื่องนั้น

ได้มีการพิจารณา 6 เรื่องสั้น และ 6 กวีนิพนธ์ เพื่อเข้าสู่การตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)

โดยเรื่องสั้น รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ 30,000 บาท

รางวัลชมเชย 10,000 บาท

ส่วนกวีนิพนธ์ รางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ 20,000 บาท

รางวัลชมเชย 10,000 บาท

มาร่วมลุ้นผลกันในวันที่ 4 ธันวาคม 2565 นี้

 

ระหว่างที่รอลุ้นผลการตัดสิน “มติชนอวอร์ด”

ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ อย่าพลาดอ่าน “วัฒนธรรมวิพากษ์”

“ซอฟต์เพาเวอร์กับอาณานิคมวัฒนธรรมแบบไทยๆ” ของ “ยุกติ มุกดาวิจิตร” เด็ดขาด

แน่นอนหลังการประชุมเอเปค เชื่อว่าคนไทยจำนวนมากกำลังปลื้มกับการนำเสนอ “ซอฟต์เพาเวอร์” ทั้งอาหาร ศิลปวัฒนธรรม การแสดง และอื่นๆ มากมายต่อผู้นำ คณะผู้ติดตาม และสื่อมวลชน ที่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ

ซึ่งอาจารย์ยุกติ มิได้ปฏิเสธกับกระแสนั้น

หากแต่ขอ “รั้งบังเหียน” ไว้ให้คิดด้วยว่า

เมื่อพูดถึงเรื่องซอฟต์เพาเวอร์แล้ว หลายคนมักพูดถึงด้าน soft (ละมุน)

แต่อาจารย์ยุกติบอกว่า อยากชวนให้คิดด้าน power (อำนาจ) ด้วย

เพราะทั้งสองด้านนี้มิได้แยกจากกัน

และตั้งข้อสังเกตว่า ไทยได้ใช้ power (อำนาจ) สร้างอาณานิคมทางวัฒนธรรมมานานแล้ว และยังดำเนินไปอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยกรุงเทพฯ ใช้อำนาจละมุนกับประชาชนในประเทศของตนเองอย่างแข็งขัน

ยัดเยียดวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ยัดเยียดคุณค่าที่มาจากชนชั้นบน ไปยังพื้นถิ่นต่างๆ

รวมถึงขยายอำนาจซอฟต์เพาเวอร์ไปยังต่างประเทศด้วย

กรณีนี้จึงไม่ใช่แค่ “ละมุน” หากแต่กระด้างด้วย “อำนาจ” ด้วย

กระด้างอย่างไร โปรดพลิกอ่านที่หน้า 81