ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 23-29 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2197

 

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ มีเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น ทั้งโดยอ้อมและโดยตรง

โดยอ้อมนั้น สุทธิชัย หยุ่น แห่งคอลัมน์กาแฟดำ

พาเราไปรู้จักกามิกาเซ่ (kamikaze) ยุคใหม่

ส่วนกามิกาเซ่ยุคเก่านั้น เรารู้ดีกันอยู่แล้วว่าเป็นปฏิบัติการของทหารญี่ปุ่น ที่ยอมพลีชีพด้วยการขับเครื่องบินทิ้งระเบิดพุ่งเข้าหาเป้าหมายศัตรู ในห้วงสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ยุคปัจจุบัน ในสงครามยูเครน-รัสเซีย

เรากำลังเห็น “กามิกาเซ่” อีกรูปแบบหนึ่ง

นั่นคือการใช้โดรนแทนคน

ไม่ต้องมีการพลีชีพของทหาร แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อควบคุม “ยานไร้คนขับ” ให้ทำหน้าที่แทนคนได้อย่างแม่นยำ, รวดเร็ว และประหยัด

เป็นกามิกาเซ่ยุคใหม่

 

สุทธิชัย หยุ่น บอกว่า นักวิเคราะห์ด้านสงครามชี้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทหารยูเครนสามารถยันการรุกคืบของรัสเซียได้ก็เพราะการใช้กลยุทธ์ “สงครามโดรน” นี่แหละ

โดยสหรัฐใช้สมรภูมิยูเครน ทดลองโดรนตัวใหม่ปฏิบัติการภายใต้โครงการ Phoenix Ghost

หรือ “นกฟินิกส์ล่องหน”

ชื่อแม้จะออกไปในทางบวก แต่ฝ่ายตรงข้ามแล้วมันคือ “ปีศาจจากฟากฟ้า”

ในสมรภูมิยูเครน ตอนนี้วอชิงตันได้ส่งโดรนมากกว่า 120 ลำแก่ยูเครน

และกำลังเป็นเทคโนโลยีทางทหาร ที่ “ปฏิบัติการ” อย่างได้ผลตอนนี้

แล้วทำไมจึงเรียกมันว่า “โดรนกามิกาเซ่”?

โปรดพลิกอ่านที่หน้า 89

นั่นคือ เรื่องโดยอ้อมจากญี่ปุ่น

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นโดยตรง และ “สุภา ปัทมานันท์” นำมาเสนอให้อ่านอย่างน่าสนใจ ที่หน้า 72

เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเช่นกัน

แต่ไม่ใช่ในด้านร้ายอย่าง “โดรนกามิกาเซ่”

เป็นเรื่องน่าพิสมัย และสร้างความรู้สึกในเชิงบวก

นั่นคือ “ตู้คำชม”

 

อย่างที่ทราบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

ทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อนฝูง คนในครอบครัว คนในที่ทำงาน ที่ไม่เหมือนเดิม

มีปัญหาทั้งการงาน การเงิน และมนุษยสัมพันธ์

ทำให้เกิดความเครียด ห่อเหี่ยว ไม่เบิกบานใจ ขาดพลังใจ

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีสถิติคนฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก

อัตราการฆ่าตัวตายรวมทั้งหญิงและชาย เกินกว่า 20,000 คน

นี่จึงทำให้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น คิดค้นบริการ “คำชม” ขึ้นมา

โดยสร้าง “ตู้คำชม” ที่ย่านชิบูยา ย่านพลุกพล่านใจกลางกรุงโตเกียว เพื่อแก้ปัญหาความเครียด

ลูกค้าที่จะใช้บริการ ต้องกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับอาชีพ อายุ และคำถามอีกประมาณ 5-6 ข้อผ่านแท็บเล็ตก่อนที่จะเข้าไปในตู้

จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ AI จะประมวลข้อมูล แล้วผลิต “คำชมที่คุณอยากได้ยิน” ออกมา

โดยคำชมเหล่านี้ (เชื่อว่า) จะลบความรู้สึกห่อเหี่ยวใจ ท้อแท้ เบื่อหน่าย สิ้นหวัง ออกไป

แล้วสร้างบรรยากาศแบบมีคนเข้าใจความรู้สึก เห็นคุณค่าในตัวเรา ชื่นชมเราขึ้นมา

ภายใต้แนวคิด “คำชมจะสร้างแรงบันดาลใจในทางที่ดี” ได้

ซึ่งไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย หากแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ยืนยันว่า มนุษย์เมื่อได้รับการชมเชย

สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา และมีกลไกให้จดจำเพื่อจะได้รับคำชมอีก

เพิ่มแรงกระตุ้นให้ทำสิ่งที่จะได้รับคำชมเพิ่มขึ้น

จนกลายเป็น “พลังแห่งคำชม” อันมีประสิทธิภาพ

 

ตู้คำชมนี้ ว่าที่จริง ไม่ใช่เพียงญี่ปุ่นเท่านั้นหรอกที่น่าสนใจ

สำหรับเมืองไทย ใครคิดทำขึ้นมาก็ไม่เลว

โดยเฉพาะในห้วงที่ “การเมือง” กำลังอยู่ในห้วง “เปลี่ยนผ่าน”

คำด่า ทะลักล้นปริมณฑลการเมือง มากกว่าคำชม

หลายคนฟังคำด่ามาก อาจจิตตก

ถ้าได้ตู้คำชมมาช่วย

สุขภาพจิตคงดีขึ้น!?! •