ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ฉบับประจำวันที่ 16-22 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2196

 

ขอแสดงความนับถือ

 

เหตุการณ์ใหญ่ในอังกฤษที่ทั่วโลกให้ความสนใจ มี 2 กรณี

กรณีแรก การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

กรณีที่สอง การเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ นางลิซ ทรัสส์

กรณีแรก คอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง” ของ “ธงทอง จันทรางศุ” ได้ฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับสมเด็จพระราชินีนาถของอังกฤษกับประเทศไทย

ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะถึงสองคราว

ในปี 2515 คราวหนึ่ง และปี 2539 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของไทย อีกคราวหนึ่ง

อาจารย์ธงทองเล่าว่า ทั้งสองคราวนั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จไปเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสองครั้ง

ในครั้งแรกนั้น อาจารย์ “ธงทอง” เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลายอยู่ที่สาธิตปทุมวัน จึงได้อานิสงส์มาเฝ้ารับเสด็จด้วย เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้กันเพียงแค่รั้วกั้น

“ถึงแม้เวลาจะผ่านไปถึง 50 ปีแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศแห่งความรื่นรมย์ และภาพจำของควีนค์ที่ทรงฉลองพระองค์สีสดใสรับกับพระฉวีงามผ่อง เสด็จฯ พร้อมด้วยพระราชสวามีและพระราชธิดาคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ นั้นอยู่ในความทรงจำ”

คือความรู้สึกและความทรงจำที่แจ่มชัดของอาจารย์ธงทอง

 

ซึ่งความทรงจำนั้น อาจารย์ธงทองได้นำมาเชื่อมโยงข่าวเล็กๆ และเป็นข่าวสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัดในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเมืองอังกฤษหลัง “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” สวรรคต

เป็นบทสัมภาษณ์คนขับแท็กซี่ในกรุงลอนดอนว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างสำหรับความสูญเสียครั้งนี้

คนขับแท็กซี่ตอบคำถามนี้ด้วยน้ำเสียงปนสะอื้นว่า

“She is the only constant we have all had in our lives”

“สมเด็จทรงเป็นเพียงสิ่งเดียวในชีวิตของพวกเราที่เหมือนเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

ซึ่งอาจารย์ธงทองบอกว่า ตรงกับสิ่งที่อาจารย์ธงทองรู้สึก

โดยเฉพาะความรู้สึก “เหมือนเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง”

เป็นอย่างไรนั้น พลิกอ่านที่หน้า 52

 

 

การที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ดำรงความ “เหมือนเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” จนเป็นที่รักของคนอังกฤษนั้น

ไม่ได้หมายความว่า “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” และสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ อยู่นิ่งๆ อยู่เฉยๆ ปราศจากความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม หากพลิกไปอ่านคอลัมน์ “ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน” ของ “คนมองหนัง” ที่หน้า 73

จะพบว่า “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” ปรับตัวเคลื่อนไหวไปกับกระแสสังคมตลอด

โดยเฉพาะกับ “วัฒนธรรมสื่อยุคใหม่”

ทั้งนี้ รัชสมัยของ “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมหาศาลของสื่อ

ทั้งในแง่เทคโนโลยีและวัฒนธรรม

ไม่ว่าโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์แนวซุบซิบแท็บลอยด์ สื่อมวลชนสายปาปารัซซี่ สื่อสังคมออนไลน์ และนักข่าวพลเมือง

ทำให้คนรุ่นหลัง ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกมีโอกาส “เข้าถึง” ราชวงศ์อังกฤษทั้งบวกและลบ มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ซึ่งราชวงศ์อังกฤษก็ได้พยายามบริหารจัดการภาพลักษณ์-ผลิตซ้ำอำนาจของตนเองผ่านสื่อสมัยใหม่ ด้วยการรักษาจุดสมดุลระหว่าง “การถูกมองเห็น” และ “การไม่ปรากฏให้เห็น” อย่างน่าสนใจ

และดูเหมือนจะสามารถดำรงความ “เหมือนเดิมเสมอ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” ในความรักและเคารพของคนอังกฤษมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

ส่วนกรณีที่สอง นายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษคนใหม่ ลิซ ทรัสส์ นั้น

คอลัมน์โลกทรรศน์ ของอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ ได้โฟกัสไปยังนโยบายต่างประเทศของเธอ โดยเฉพาะต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นพิเศษ

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

เธอเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ในเดือนพฤศจิกายน 2021

เพื่อเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของอังกฤษและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้มแข็งมากขึ้น

ภายใต้ความเชื่อว่า “…เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นจักรกลของระบบเศรษฐกิจโลก และเธอต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งด้วย”

อาเซียนรวมถึงไทย จึงมีแนวโน้มจะถูกดึงเข้าไปร่วมสนับสนุนความต้องการทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษอย่าเข้มข้นแน่

ซึ่งแม้ว่า ลิซ ทรัสส์ จะเป็นผู้นำหญิง

แต่ก็ถือว่าเป็นสายเหยี่ยว

ดังนั้น เราคงสัมผัสได้ถึงความ “เข้ม” และ “ข้น”

จากอังกฤษยุค “พระมหากษัตริย์-นายกรัฐมนตรี” ใหม่อย่างแน่นอน •