ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 2-8 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2194

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 2-8 กันยายน 2565 ฉบับที่ 2194

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ชิตะวา มุนินโท ส่งอีเมลมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

เชื่อมโยง 8 ปีประยุทธ์ (พ.ศ.2565) ย้อนกลับไปหา 30 ปี พฤษภาประชาธรรม 30 ปี

ด้วยภาพวาด และข้อเขียน

“ประชาธิปไตยหัวใจคือปวงประชาชน

ปวงประชาชนหัวใจคืออยู่ดีมีสุข

อยู่ดีมีสุขหัวใจคือเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพ

และสวัสดิภาพ”

 

อย่างที่ทราบ การเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม 2535 เป้าหมายคือต่อต้านผู้นำคนนอกจากกองทัพ

ประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ฝันถึงผู้นำที่มาจากประชาธิปไตยอันแท้จริง

ด้วย “ประชาธิปไตยหัวใจคือปวงประชาชน” อย่างที่ชิตะวา มุนินโท ว่า

แต่ผ่านมา 30 ปี สังคมไทยไปไม่ถึงไหน

และกำลังต้องลุ้นว่า ผู้นำไทยที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร (ซึ่งตอนนี้ถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนุญ) จะถูกลิขิตไปสุดทางถึงขนาดหลุดพ้นไปจากตำแหน่งผู้นำและปิดฉากยุคผู้นำจากทหารเลยหรือไม่

ซึ่งหลายคนดูเหมือนจะไม่แน่ใจ

ด้วยผู้นำกองทัพได้ก้าวจากผู้นำรัฐประหาร แปลงกายไปสู่ผู้นำที่มาจากรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นเพื่อสืบอำนาจอย่างสลับซับซ้อนและยากจะปลดเปลื้องออกไปโดยง่าย

 

ยิ่งคนชั้นกลาง ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในเดือนพฤษภาคม 2535 ในปัจจุบันอยู่ในภาวะสะวิง

สะวิงที่อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวถึง “คนชั้นกลาง” ใน “ยุทธบทความ” ฉบับนี้ว่า

ชนชั้นกลางในประวัติศาสตร์มีอาการ “สะวิง” หลายครั้ง…

เมื่อใดที่พวกเขาถูกประกอบสร้างให้เกิดความกลัวทางการเมือง ชนชั้นกลางก็พร้อมที่จะเข้าไปหาระบอบอำนาจนิยม หรือที่ในละตินอเมริกาเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า ชนชั้นกลางเป็นผู้ที่เดิน “ไปเคาะประตูหน้าค่ายทหาร” เพื่อเรียกให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร

แต่เมื่อใดที่เขาลดความกลัวทางการเมืองลง และมองไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอิงอยู่กับระบอบเผด็จการ เมื่อนั้นพวกเขาพร้อมเดินไปบนถนนสายประชาธิปไตย และต่อต้านระบอบทหาร

ดังนั้น สาขาเปลี่ยนผ่านวิทยาจึงสอนเสมอว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยชนชั้นกลาง กล่าวคือ มีชนชั้นกลางมากพอที่จะเป็นพลังที่คอยถ่วงดุลกับ “เผด็จการฝ่ายซ้าย” จากชนชั้นล่าง และคานกับ “เผด็จการฝ่ายขวา” จากชนชั้นบน ซึ่งบทบาทเช่นนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ

คําถามก็คือ คนชั้นกลางมีท่าทีอย่างไรต่อภาวะ “เปลี่ยนผ่าน” ในปัจจุบัน

คำตอบ อาจไม่เป็นคุณกับฝ่ายที่ฝันอยากเห็น “ประชาธิปไตยหัวใจคือปวงประชาชน” นัก

ด้วยกระแสของคนชั้นกลาง ที่จะคานกับ “เผด็จการฝ่ายขวา” จากชนชั้นบน ไม่หนักแน่นและเป็นเอกภาพ

ส่งผลให้แรงกดดันของคนชั้นกลางแผ่วเบา

แผ่วเบา จนทำให้สิ่งที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต” หยิบมาเตือนความทรงจำ ผ่านบทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ว่า

ในเดือนกันยายนนี้ มีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนร่วมลงชื่อ 70,500 ชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา รอพิจารณาอยู่

เป็นญัตติที่เสนอขอแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป

ซึ่งแม้จะเป็นประเด็นสำคัญ และเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เราอาจจะต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ผ่านประเด็นดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

แต่ดูเหมือนว่า เสียงสนับสนุนของประชาชน โดยเฉพาะ “คนชั้นกลาง” จะไม่มากเท่าไหร่

และวุฒิสมาชิกที่จะเห็นชอบด้วยจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 84 คน เป็นเรื่องยาก

ทำให้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตย จากภาคประชาชน ส่อต้องล้มเหลวอีก

เราจึงต้องอยู่กับระบอบ “ป” ไปอีกนาน?!? •