ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 5-11 สิงหาคม 2565 ฉบับที่ 2190

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ขณะที่นักการเมืองไทย ซึ่งควรจะเป็นผู้นำพาชาวบ้านไปสู่ “สิ่งใหม่-อนาคตใหม่-ความหวังใหม่”

แต่กลับยังไม่สามารถก้าวพ้นเรื่อง “กล้วย-กล้วย” ไปได้

แทนที่จะจมอยู่กับเรื่องเก่าๆ

อยากเชิญชวนติดตามคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ ที่แม้จะถือว่าอยู่ใน “รุ่นเก่า”

แต่ก็ได้พยายามเรียนรู้ ติดตาม เข้าใจ ปรากฏการณ์ “ใหม่”

ช่วยเสริมมุมมองของเราในฐานะผู้อ่าน ให้กว้างยิ่งขึ้น

ไม่วนเวียนอยู่แค่ “ไร่กล้วย”

 

ฉบับนี้ คอลัมน์คลุกวงใน ของพิศณุ นิลกลัด

พาไปส่อง ท่องเว็บไซต์ OnlyFans อีกครั้ง

โดยแลผ่านแว่น “กีฬา”

กีฬาที่ตอนนี้ บางส่วนประสานเข้ากับ OnlyFans จนกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของนักกีฬาบางคนไปแล้ว

พิศณุ นิลกลัด ยกตัวอย่าง คีย์ อัลวีส (Key Alves) นักวอลเลย์บอลสาวสวย ตำแหน่งลิเบอโร่ วัย 22 ปี ชาวบราซิล

ที่ตอนนี้มียอด Followers มากที่สุดในโลกเกือบ 3 ล้าน Followers

และมีรายได้หลักมาจากการลงรูป ลงคลิปสุดเซ็กซี่ ในเว็บไซต์ OnlyFans

เธอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ว่าเธอจะชอบหรือไม่

แต่รายได้จาก OnlyFans เป็นรายได้ที่มากกว่ารายได้จากการเป็นนักวอลเลย์บอลอาชีพถึง 50 เท่า

คีย์จึงจัดตัวเองเป็นนักกีฬา นางแบบ อินฟลูเอนเซอร์ และนักธุรกิจ

แน่นอนเธอถูกวิจารณ์ในแง่ลบ

เพราะคนมองว่าเธอขายความเซ็กซี่ ไม่ได้ขายความสามารถด้านวอลเลย์บอล

ซึ่งก็อาจจริง

แต่คีย์เธอมีเหตุผลอธิบายจากมุมของเธอเอง

ฟังแล้วจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ลองพลิกอ่านที่หน้า 78

ส่วนคอลัมน์มองไทยใหม่ อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ

พาไปส่องโลก “ละครวาย”

ซึ่งเป็นโลกคนละใบกับอาจารย์นิตยาแน่นอน

แต่เมื่อต้นปี 2564 หลังได้รับคำถามจากเพื่อนอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลว่ามีนักศึกษาอยากทำวิจัยเรื่องวรรณคดีหรือนิยายไทยที่เกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน ขอให้ช่วยแนะนำให้ด้วย

แต่เรื่องคนรักเพศเดียวกันนี้อาจารย์นิตยาบอกว่า ไม่รู้จะปรึกษาใคร ก็เคยต้องลุยเอง

ทำให้ได้เข้าใจ “ไวยากรณ์ของละครวาย” มากยิ่งขึ้น

เด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ ซึ่งอ่านเรื่องแบบนี้กันมานานแล้วทั้งในแบบออนไลน์และในรูปแบบหนังสือ มีโลกอีกใบหนึ่งซึ่งกำลังมี Soft Power เป็นอย่างมากต่อชีวิตคนรุ่นใหม่ทั่วโลก

รวมถึงละครวายของไทย ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

จนอาจถือเป็น Soft Power เพราะแฟนๆ วิจารณ์กันว่า ของไทยนั้นดูแล้ว “ละมุน” “น่ารัก” กว่าของชาติอื่น

นี่จึงอาจทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายองศา

 

นอกจากการต้องเปลี่ยนมุมมอง “หลายองศา” ในเรื่องละครวายแล้ว

ที่สนใจอีกประเด็น ที่ถือเป็นการปะทะระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่เช่นกัน

แต่ปะทะกันในนามของวัฒนธรรมสังคมหมู่บ้าน กับวัฒนธรรมสังคมเมืองใหญ่

โดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ” หยิบเอาความขัดแย้งระหว่างสาวคอนโดฯ กับวัด ที่เสียงสวดศพดังรบกวนเธอ เป็นกรณีตัวอย่าง ผ่านงานเขียน “อำนาจของเสียง ในเมืองกับหมู่บ้าน”

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” บอกว่า จริงแล้ววัฒนธรรมสังคมเมืองใหญ่กับวัฒนธรรมสังคมหมู่บ้าน ปะทะกันเรื่อยมาตั้งแต่กรุงเทพฯ ขยายตัวทั้งทางสูงและทางราบอย่างมีผังตามยถากรรม หลายสิบปีมาแล้ว

ขณะนี้การปะทะกันยังไม่จบ

และจะพบเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งความอดทนลดลง

ซึ่งในกรณีนี้ สาวคอนโดฯ เป็นคนร้องเรียนขึ้นมาก่อน

แต่ชาววัดในฐานะของผู้มาก่อน และลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในสังคม

ย่อม “เสียงดัง” ทั้งในรูปธรรม (เสียงดังผ่านลำโพง) ทั้งในนามธรรม (เสียงแห่งอำนาจ)

ทำให้สาวคอนโดฯ ต้องขอโทษที่โวยวาย และรอมชอมโดยแจ้งขอขายคืนคอนโดฯ แก่ผู้ดูแลโครงการ

เรื่องดูเหมือนจะจบ

กระนั้น “สุจิตต์ วงษ์เทศ” แม้จะอยู่ในรุ่นเก่า

แต่ก็ชี้ชวนให้แลเห็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ของสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

เป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ต้องการความเงียบสงบ อันเหมาะแก่การเจริญธรรมะของปัจเจกบุคคลเช่นกัน

วัฒนธรรมตามวิถีดั้งเดิม อาจจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเช่นกัน

เพื่อจะมิได้ขยายเสียงผ่านลำโพงดังออกนอกวัดปะทะเสียงของภายนอกที่วุ่นวายอยู่แล้ว

ให้วุ่นวายหนักขึ้นไปอีก

นี่ย่อมเป็นอีกมุมมอง ที่ทำให้เราแลเห็น “อะไร-อะไร” กว้างขึ้น •