ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 29 ก.ค.-04 ส.ค. 2565 ฉบับที่ 2189

 

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้

สมชัย ศรีสุทธิยากร แห่งศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

เขียนบทความพิเศษ “บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

ขณะที่อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ เขียน “เก็บตกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ในคอลัมน์โลกทรรศน์

เนื้อหาสอดคล้องกัน

กล่าวคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19-23 กรกฎาคม พ.ศ.2565

แม้ไม่อาจทำให้รัฐมนตรี 11 คน ต้องพ้นจากตำแหน่ง

แต่จะถือเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลได้หรือไม่

ทั้งอาจารย์สมชัย และอาจารย์อุกฤษฏ์ ดูจะไม่เห็นพ้องนัก

 

อาจารย์อุกฤษฏ์ยืนยันว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้ก่อผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อวิถีทางการเมืองไทยแน่นอน

โดยชี้ชวนให้พิจารณาการงดออกเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ต่อรัฐมนตรี

ไม่ว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีผู้งดออกเสียง 23 เสียง จุติ ไกรฤกษ์ (17 เสียง) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (18 เสียง) นิพนธ์ บุญญามณี (20 เสียง) สุชาติ ชมกลิ่น (20 เสียง) สันติ พร้อมพัฒน์ (18 เสียง) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีผู้งดออกเสียง 13 เสียง

การงดออกเสียงดังกล่าว อาจารย์อุกฤษฏ์ชวนตั้งคำถามว่า มันสะท้อนทั้งความแตกแยกภายในพรรค ระหว่างพรรค รวมถึงการคัดง้างโครงสร้างอำนาจของ 3 ป. หรือไม่

อันนำไปสู่การสรุปเชิงตั้งข้อสังเกต ว่า “ส.ส.ที่งดออกเสียงรัฐมนตรีของพรรครัฐบาลเอง แสดงตัวตนที่แท้จริงของการเมืองในรัฐสภา ในแง่เป็นทั้งคุณประโยชน์ และโทษมหันต์ ต่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย”

และ “ความไม่แน่นอนทางการเมืองคือ ความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่าที่ไหน โดยเฉพาะการเมืองไทย”

ดังนั้น ที่รัฐบาลรอดซักฟอกได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการไร้ซึ่ง “บาดแผล” อย่างแน่นอน

ขณะที่อาจารย์สมชัยขยายความถึงบาดแผลดังกล่าว

เป็นบาดแผลที่ไม่ใช่มาจากเนื้อหาที่ฝ่ายค้านนำเสนอต่อประชาชน

แต่เป็นบาดแผลที่อาจารย์สมชัยชี้ว่า มาจากความขัดแย้ง แตกแยก ทั้งภายในฝ่ายรัฐบาลและจากทั้งฝ่ายที่เคยอยู่ในรัฐบาล

“บาดแผลที่ใหญ่สุดจนอาจลุกลามกลายเป็นอันตรายจึงมิใช่มาจากคมดาบของฝ่ายค้านที่ฟาดฟันลงตรงหน้า แต่กลับมาจากมีดเล่มเล็กที่แทงข้างหลังของคนในกลุ่มฝ่ายเดียวกันเอง” คือข้อสังเกตจากอาจารย์สมชัย

โดยในฝ่ายรัฐบาล กรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ปรากฏเสียงของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ สายปากน้ำทั้ง 6 คน พร้อมใจกันงดออกเสียง ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์กลายเป็นผู้ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุดถึง 212 เสียง กลายเป็นประเด็นต่อว่าต่อขานกันในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรค ว่าเหตุใด

คำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีผู้ที่ไม่เชื่อฟังได้ แล้วจะอยู่ต่อไปกันอย่างไร

 

ส่วนบาดแผลจากฝ่ายที่เคยอยู่ในรัฐบาล อาจารย์สมชัยโฟกัสไปยังกรณีไลน์หลุดด้วยความตั้งใจ เปิดเผยถึงการจ่ายเงินให้แก่พรรคการเมืองขนาดเล็กเดือนละ 100,000 บาท ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปี แลกกับการเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาล

การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายโดยคนนอกพรรคให้แก่หัวหน้าพรรคการเมือง แลกเปลี่ยนกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดร้ายแรง

และนั่นทำให้บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่แผลมีดบาดเล็กน้อยที่ไม่กี่วันก็สมานหาย

แต่จะยังกลายเป็นแผลเรื้อรังและขยายกว้างเกินกว่าที่คิด

เกินกว่าที่คิดอย่างไร โปรดพลิกอ่านสิ่งที่อาจารย์สมชัยชี้ชวนให้พิจารณา ที่หน้า 20 •