ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 22-28 กรกฏาคม 2565 ฉบับที่ 2188

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ตลอดทั้งสัปดาห์ เชื่อว่าหลายคนจดจ่อกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ครั้งสุดท้าย”

จะมีใครเหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้ม (ที่คนกันเองนั่นแหละ เคาะกะลาเอามากินจนอิ่มหมีพีมันแล้วทิ้งเปลือกเกลื่อนกลาดเอาไว้)

จะมีใครล้มตายด้วยพิษน้ำลาย

หรือรอดพ้น ได้ไปต่ออย่างชิล-ชิล

ยังไม่อาจทราบได้

ด้วยขณะที่ปิดต้นฉบับนี้ การซักฟอกยังไม่เสร็จสิ้นลง

อย่าเพิ่งเบื่อ หรือเบือนหน้าหนี

เพราะอย่างไรเสีย นี่คือหนึ่งในขั้นตอนประชาธิปไตย

ที่แม้บางส่วนจะวนเวียน ซ้ำซาก น้ำเน่า

แต่ก็ยังดีกว่าทุกอย่าง “สงบ” ในความ “ไม่เรียบร้อย” ของระบอบอำนาจนิยม ที่มากับการรัฐประหารอย่างแน่นอน

ดังนั้น ทำใจรุ่มๆ กว้างๆ อดทนเฝ้าดูว่า การซักฟอกครั้งสุดท้าย จะนำไปสู่มรรคผลอะไร

 

แต่หากเบื่อมากๆ แบบโลกนี้ มิได้มีแต่เรื่องการเมืองอย่างเดียว

จะแวะข้างทาง “พัก” เสียหน่อยก็ได้

ลองไปสัมผัสเรื่องใหม่-ใหม่ ที่มีหมายเหตุต่อท้ายหน่อยว่า อาจจะเป็นเพียงการรู้ไว้ใช่ว่า มิอาจเกิดขึ้นในชีวิตจริงของหลายๆ คนได้

โดยในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ ที่หน้า 40

ด๊อกเตอร์จักรกฤษณ์ สิริริน พาไปรู้จัก “ชีวิตวิถีใหม่” ยิ่งกว่า New Normal

ผ่านคำ 2 คำ คือ

Seasteading

และ Off-Grid

 

ที่ผ่านมาเราอาจรู้จักแค่มนุษย์เรือ–Human Flow ของ Ai Weiwei โดยเฉพาะเรืออพยพของเวียดนามหลังไซ่ง่อนแตก

คนเหล่านี้ เป็น “คนไร้บ้าน” ที่ถูก “บังคับ” โดยไม่สมัครใจให้อพยพ

กลายเป็น Refugee อันตรงข้ามกับคำ Seasteading

ด้วย Seasteading ถือเป็น “การอพยพ” แบบ “ตั้งใจ” หรือ “สมัครใจ”

โดยย้ายรกรากจากแดนดินถิ่นเกิด ไปแสวงหาโอกาสในแผ่นดินใหม่

แนวคิด Seasteading คือ การตั้งถิ่นฐานถาวรนอกเขตอำนาจของรัฐ ในลักษณะ “บ้านลอยน้ำ” เหนืออาณาบริเวณ “ทะเลสากล” ที่อยู่ห่างจากพรมแดนประเทศใดๆ

ทำให้มิต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายชาติใด มีอิสระเสรี และทำทุกอย่างได้ตามใจต้องการ

Seasteading ถูกอ้างว่า เป็นรูปแบบการสร้างเขตแดนใหม่บนน่านน้ำ ที่มาพร้อมระบบการบริหารจัดการแบบ “ปกครองกันเอง” โดยการสร้างชุมชนลอยน้ำกลางท้องทะเลหลวง 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรัฐ ให้เป็นดินแดนอิสระในอุดมคติที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มีระบบพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และวัตถุดิบรีไซเคิลที่ถูกนำไปใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียน

เป็นการแยกตัวออกจากรัฐ เพื่อค้นหา และสร้างสังคมทางเลือกที่ดีกว่า

อีกคำคือ Off-Grid

ถือว่าเป็น “ชีวิตวิถีใหม่” ที่เรียกว่า “การใช้ชีวิตนอกระบบ”

ที่ไม่พึ่งพาสาธารณูปโภคส่วนกลาง ทั้งน้ำประปา และไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นๆ

Gary Collins เจ้าของหนังสือแนวคิด Off-Grid หลายเล่ม จนถือเป็นคัมภีร์ของชาว Off-Grid บอกว่าการใช้ชีวิตนอกระบบ ไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่ไปซื้อของตามร้านค้า หรือไม่เอาขยะออกมาทิ้ง เพียงแต่การใช้ชีวิตนอกระบบ คือการที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภคของส่วนกลางเท่านั้น

โดย “ระบบสาธารณูปโภค” ในความหมายของ Gary Collins คือเครือข่ายไฟฟ้า พลังงาน และน้ำประปา ที่เชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้คน

ช่วงที่ COVID ระบาดหนัก มีผู้คนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และย้ายตัวเองออกไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะปัจจุบันการโยกย้ายทำได้ง่ายดายมากขึ้นจากเครือข่ายคมนาคมยุคใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการจัดเก็บพลังงานเหล่านั้น ที่ก็ทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นเช่นกัน

 

แนวคิด Seasteading และ Off-Grid แม้อาจจะตรงกับอุดมคติ หรือ “จริต” ของหลายคน

แต่กระนั้น หลายเรื่อง อย่างที่บอกไว้ข้างต้นอาจเหมาะเพียงแค่ “รู้ไว้ใช่ว่า”

มิอาจปฏิบัติให้เป็นจริงได้โดยง่าย

ซึ่งรวมถึง Seasteading และ Off-Grid ด้วย

ในเมืองไทยเคยมีข่าวสามีภรรยาคู่หนึ่งสร้าง “บ้านลอยน้ำ” หรือ Seasteading บริเวณทะเลนอกชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต บริเวณที่อ้างว่าเป็นเขตน่านน้ำสากล

แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ ถูกทางการไทยจัดการก่อน

เพราะจุดที่ดำเนินการไม่ใช่เขตน่านน้ำสากลจริง

นี่คือข้อจำกัดบางส่วน ยังมีข้อจำกัดอีกมากที่ต้องคำนึงถึง ส่วนจะมีอะไรบ้างพลิกไปอ่านที่หน้า 40

อ่านแล้ว บางทีการได้เห็นหรือสัมผัสภาวะเหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้ม หรือเหม็นกลิ่นน้ำลาย อันเป็นวิถีเก่า

อาจจะรู้สึกใกล้ชิดมากกว่า และแถมอาจมีหวังที่จะดิ้นรนไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ (บ้าง)

มากกว่าการสะวิงไปสู่วิถีใหม่ ที่แม้รับรู้ได้ แต่ยากจะไปถึง •