ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

ในวาระ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

นอกเหนือจาก “มุกดา สุวรรณชาติ” จะตั้งคำถามผ่านคอลัมน์ “หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว” ที่หน้า 10

“2475-2565…90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปเป็นอะไร?” แล้ว

คอลัมน์ พื้นที่ระหว่างบรรทัด ของชาตรี ประกิตนนทการ (หน้า 36)

พาไปพินิจ “แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2475” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “แผนที่ 2475” อย่างน่าสนใจ

ทำไมต้อง “แผนที่”

 

อาจารย์ชาตรีอธิบายว่า ก็เพราะแผนที่ถือเป็นหลักฐานลักษณะทางกายภาพที่ถูกบันทึกเอาไว้

ซึ่งสามารถบอกเล่าสภาพเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงยุคคณะราษฎร (พ.ศ.2475-2490) ได้อย่างชัดเจน

ชัดเจนว่า ในช่วง 15 ปีของคณะราษฎร ได้ทำการปรับเปลี่ยนเนื้อเมืองกรุงเทพฯ ในส่วนไหนไปอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างเช่น เห็นสิ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ลงไปบนถนนราชดำเนินกลาง

ขยายถนน สร้างกลุ่มอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไว้สองข้างถนน

พร้อมทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

มองเห็นว่า มีอาคารอะไรบ้างที่ถูกรื้อถอนไป เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแผนที่เดิมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เช่น มองเห็นการหายไปของกลุ่มอาคาร “ตึกดิน” ที่เคยเป็นที่ตั้งเดิมของโรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนที่จะย้ายข้ามฟากมาอีกฝั่งของถนนราชดำเนิน

มองเห็นลักษณะกายภาพบริเวณด้านหลังของอาคารพาณิชย์ถนนราชดำเนินกลาง ว่ามีสภาพเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างจากการเกิดขึ้นของเมกะโปรเจ็กต์ชิ้นสำคัญนี้ของคณะราษฎร

นอกจากนี้ สิ่งที่อาจารย์ชาตรีเห็นว่าน่าสนใจ และชี้ชวนให้ติดตาม จากแผนที่ 2475

นั่นคือการเห็นการเกิดขึ้นของ “พื้นที่สาธารณะ”

ภายใต้ระบอบใหม่ที่เข้ามาแทนที่ “พื้นที่กึ่งสาธารณะ” ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของสนามหลวง, สวนสัตว์ดุสิต, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สวนสราญรมย์, สนามมวยราชดำเนิน ฯลฯ

รวมไปถึงมองเห็นรายละเอียดของโครงการอีกหลายอย่างของคณะราษฎร

เช่น ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากวัดพระแก้ววังหน้า ภายในพื้นที่วังหน้า ที่เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์

มองเห็นการเปลี่ยนผ่านของการวางผังและออกแบบพื้นที่ใช้สอยของกลุ่มอาคารศาลยุติธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ที่เปลี่ยนมาสู่กลุ่มอาคารศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการได้เอกราชสมบูรณ์ทางการศาล เมื่อ พ.ศ.2481 เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย “หลักเอกราช” อันเป็นหลักข้อแรกของ “หลักหกประการ”

รวมถึงการเปลี่ยนพื้นที่ทหารจากกรมทหารบกราบที่ 2 และคลังแสงทหารบก

มาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

เพื่อตอบสนองต่อนโยบาย “หลักการศึกษา” อันเป็นหนึ่งใน “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร

เป็นพื้นฐานแห่งการให้ความรู้ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

แม้ว่าในวันนี้จะผ่านมา 90 ปี ประชาธิปไตยของเรายังไม่อาจก้าวไปสู่ประชาธิปไตย “อันสมบูรณ์” ก็ตาม

แต่กระนั้น การไม่ลืม

และได้รำลึกถึงวันดังกล่าว

ก็กระตุ้นเตือนให้เราไม่สิ้นหวัง ต่อสู้ต่อไป

รวมถึงเรียนรู้จากอดีต เพื่อก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อย่างที่ณัฐพล ใจจริง ย้ำในคอลัมน์ My Country Thailand (หน้า 30 ) ผ่านงานของ ป.อินทรปาลิต ที่บันทึกถึงงาน 24 มิถุนายน ฉลองวันชาติ ว่า

“…รุ่งอรุณแห่งวันที่ 24 มิถุนายน

วันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยได้รับสิทธิ อิสระเสรีโดยทั่วหน้า

วันที่ประชาชนชาวไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย

ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ…”

 

แต่น่าเสียดาย แม้ชัดเจนและสำคัญเช่นนั้น

คำถามอย่างที่มุกดา สุวรรณชาติ ถาม

2475-2565…90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปเป็นอะไร?

ยังไร้คำตอบอยู่ •