ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

อาจด้วยอยู่ในบรรยากาศฮันนีมูน

อาจด้วยบุคลิกพิเศษของเจ้าตัว

ทำให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ “คนใหม่” จาก “การเลือกตั้ง”

มากด้วยสีสันและโดดเด่น

และกลายเป็นความหวังอย่างสูงไปแล้วว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครดีขึ้น

ดีขึ้น ภายใต้ฉันทามติของ 1.38 ล้าน มอบให้

ซึ่งถือเป็นพลังสำคัญสูงสุดแห่งระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่ทำให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก้าวออกมาถึงจุดนี้ได้

จึงไม่น่าจะผิดนัก ที่ยืนยันและตอกย้ำอีกครั้งว่าการมาตามระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

 

เมื่อกล่าวถึง “การมาตามระบอบประชาธิปไตย” อันมีความสำคัญ

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ ที่หน้า 20

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรก ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

เพื่อให้ที่มาของนายกรัฐมนตรี มาตามเสียงส่วนใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง

มิได้ขึ้นกับ 250 เสียง ส.ว.ที่มาจากการ “ลากตั้ง” และเข้ามามีส่วนกำหนดอย่างสำคัญในการเลือกนายกฯ

อย่างที่ทราบ สมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นแกนนำระดมประชาชน 70,500 ชื่อ เพื่อใช้สิทธิตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ยื่นต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565

ปรากฏว่า ขณะนี้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อครบถ้วนแล้ว เหลือจำนวน 64,151 รายชื่อ ซึ่งเกินกว่าจำนวน 50,000 รายชื่อซึ่งเป็นจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา พรรคการเมือง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นักเรียน นิสิต นักศึกษา ระหว่างวันที่ 20-30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นที่เรียบร้อย

จะบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของรัฐสภาในช่วงกลางเดือนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2565 นี้

ที่ผ่านมา

มีความพยายามเข้าชื่อของ “ภาคประชาชน” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก เป็นร่างของกลุ่ม iLaw ที่มีประชาชนเข้าชื่อ 100,732 คน

แต่ไม่ผ่านการพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

ครั้งที่สอง เป็นร่างที่เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล มีผู้ร่วมลงชื่อ 135,247 คน

แต่ไม่ผ่านการรับหลักการของรัฐสภาในวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 อีกเช่นกัน

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม

ถามว่า โอกาสจะแก้ไขสำเร็จหรือไม่

คำตอบก็คือ ริบหรี่

เพราะการออกเสียงลงมติในวาระที่หนึ่ง

นอกจากจะต้องได้ความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภาแล้ว

ในเสียงข้างมากดังกล่าวต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือประมาณ 84 คนจาก 250 คนอีกด้วย

ซึ่งยากมาก และยิ่งการแก้ไขความคราวนี้ มุ่งไปที่การตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ด้วยแล้ว

โอกาสที่สมาชิกวุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบกับการตัดอำนาจตนเอง มีน้อยอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม สมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชน อีกจำนวนไม่น้อย

ยังคาดหวังว่าสมาชิกวุฒิสภาจะร่วมเดินหน้าพาประเทศให้หลุดพ้นจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้

และไม่จมอยู่กับความเชื่อที่ว่า มีคนไม่กี่คนในประเทศที่จะนำพาประเทศสู่ความก้าวหน้าโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงใดๆ ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศ

ดังนั้น ควรคืนสิทธิการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กลับมาอยู่ในมือของ ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน

เราได้เห็นประกายแห่งความหวังแล้ว จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

และในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ จะครบวาระ 90 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ประชาธิปไตยควรจะได้เดินหน้าเสียที หลังจากถอยหลังไปหลายก้าวแล้ว

โดยเฉพาะหลังจากการรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา •