ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

 

ที่หน้า 74 ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

“คำ ผกา” กระโดดเข้าร่วมวงเรื่อง เลขไทย-เลขอารบิก

เป็นเลขไทย ที่ทำให้คำ ผกา–คิดถึงความล้าหลังในหลายเรื่องของสังคมไทย

ล้าหลังเช่นเดียวกับตัวเลข “250 เบี้ยใกล้มือ”

ที่ “บรรณกร กลั่นขจร” เขียนไปรษณียบัตรมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” กระมัง?

 

กล่าวถึงเลขไทย เห็นหลายคนโยงถึง “อำนาจอ่อน” ที่นำความเป็นไทย-ไทย ไปปักธงในโลก

ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เลยพาไปเราไปทำความเข้าใจอีกครั้งกับ “อำนาจอ่อน”

โดยยกตัวอย่างหลายๆ ตัวอย่าง ให้พิจารณา

อย่าง “โขน” ที่ชนชั้นนำมักจะชูเป็น “อำนาจอ่อน” ที่พึงเผยแพร่

ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ขัดข้อง

ด้วยเห็นว่าเป็นศิลปะการแสดงที่พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดอันหนึ่ง ที่สามารถอวดแก่ชาวโลกได้

แต่กระนั้นก็รั้งให้คิดเล็กน้อยว่า นั่นอาจไม่ได้สร้างอำนาจอ่อนขึ้นโดยอัตโนมัติได้

โดยเฉพาะกับสารที่การแสดงนั้นๆ มุ่งจะสื่อ

โขนอาจสื่อสารสังคมศักดินาไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วได้

แต่จะหวังให้โขนเป็นตัวกลางสื่อวัฒนธรรมไทย, ระบบคุณค่าไทย, นโยบายต่างประเทศไทย ในโลกปัจจุบัน จนสร้างอำนาจอ่อนขึ้นมาให้แก่ไทย อาจเป็นสิ่งไม่พึงหวัง และเป็นที่สงสัย

และยิ่งเมื่อไปอ่าน “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ที่พูดถึง “รามเกียรติ์” เช่นกัน

โดยชี้ว่า รามเกียรติ์ไทยถูกแต่งขึ้นมา ก็เพื่อสรรเสริญและจงรักภักดีพระเจ้าแผ่นดิน

ผ่านเรื่องเล่า, บทพากย์, บทละคร, ภาพสลัก, ภาพเขียน เป็นต้น

ซึ่งในยุคโบราณ เป้าหมายตรงนั้น อาจจะประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ (อ้างจากบทความเรื่อง “รามเกียรติ์ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 4-10 มีนาคม 2565 หน้า 28-29) ว่า รามเกียรติ์มีหลักการอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่ว

หมายถึงพระรามเป็นตัวแทนของความดี คือลูกที่ดี, ผัวที่ดี, แม่ทัพที่ดี, กษัตริย์ที่ดี

ส่วนทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความชั่ว และชั่วไปทุกสถานะ

เมื่ออำนาจของความดีและความชั่วมาปะทะกัน อย่างไรเสียความดีก็ต้องได้ชัยชนะ เพราะนี่เป็นหลักการของพระเจ้า

ดังนั้น พระเจ้าจึงมีหน้าที่ผดุงหลักการนี้ไว้ด้วยการกระทำของพระองค์เอง คืออวตารลงมาปราบปรามความชั่ว ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าสูงสุดเท่านั้น บรรดาพระเจ้าชั้นรองๆ ก็ส่งกำลังลงมาช่วยเป็นคณะ

หรือพูดๆ ง่าย รุมกินโต๊ะความชั่ว นั่นเอง

ซึ่งสังคมยุคเก่าที่แยกง่ายระหว่าง ความดี “ขาว” กับความชั่ว “ดำ” อาจยอมรับได้ง่าย

 

แต่ยุคปัจจุบัน ซึ่งซับซ้อน เป็นสีเทา ไม่มีดำจัด-ขาวจัด

สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า หากพิจารณารามเกียรติ์ผ่านแนวคิดทางชนชั้น (ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้างถึงมุมมองของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)

กลับกลายเป็นเรื่องราวของความได้เปรียบนานัปการของชนชั้นสูง ที่กดขี่ปราบปรามชนชั้นล่าง

ถ้าอ่านโดยขาดมุมมองเชิงวิพากษ์ ก็ต้อง (ถูกทำให้) ยอมรับว่าชนชั้นสูงมีศีลธรรมสูงส่ง จึงจำเป็นต้องมีอำนาจเพื่อควบคุมให้โลกสงบสุขด้วยการปราบปรามชนชั้นล่างให้สยบยอมต่อไป

กองทัพพระรามเต็มไปด้วยเทวดาซึ่งอวตารลงมาเกิด (หรือเพราะลูกหลานลงมา) ช่วยพระรามปราบชนชั้นล่าง

ดังนั้น (กองทัพพระราม) จึงเต็มไปด้วยนายทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์และอภิสิทธิ์

ในขณะที่ฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งประกอบด้วยคนธรรมดา ถึงบางคนจะมีอิทธิฤทธิ์แต่ก็มีช่องโหว่ในอิทธิฤทธิ์นั้นให้ฝ่ายผู้ดีใช้ประโยชน์ในการฆ่าฟันได้

ซ้ำร้ายยังมีพิเภกซึ่งในที่สุดก็ได้ราชสมบัติจากพี่ชายด้วยข้ออ้างทางศีลธรรม

 

นี่จึงทำให้เกิดคำถามจากคนในยุคปัจจุบัน

ถึงมุมมอง ต่อความเท่าเทียม เสมอภาค เป็นธรรม

ว่าโขน และรามเกียรติ์ เป็น “อำนาจอ่อน” ที่สนองมุมมองดังกล่าวหรือไม่ •