ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ “ทะลุกรอบ” ที่หน้า 57

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ พาเราไปรู้จักไวรัสโรคฝีดาษลิง ที่ระบาดในหลายประเทศตอนนี้

รู้จักเพื่อเตรียมรับมือ เผื่อจะเกิดระบาดหนักอย่างโควิด-19

แต่ก็มีเสียงปลอบใจจากหลายฝ่าย ว่าคงไม่เลวร้ายเท่า

ชาวโลกและชาวไทยคงไม่โชคร้ายซ้ำซ้อน

ขณะนี้โควิด-19 กำลังคลี่คลาย

เราเริ่มเห็นลูกหลานกลับไปสู่โรงเรียน

ด้วยความหวังว่าคงไม่หวนกลับไปสู่การเรียนออนไลน์ ที่ทำให้เด็กนักเรียนสูญเสียการเรียนรู้อะไรไปมากมายในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน โรงเรียนจะได้มีโอกาสแก้ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากโควิด-19 ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาอย่างน่ากังวล

 

คอลัมน์การศึกษา ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

ให้ข้อมูลจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 แล้ว 238,707 คน

และเด็กนักเรียนในประเทศเกือบ 1.8 ล้านคน จาก 5 ล้านคน มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษา

ได้รับความช่วยเหลือไป 1.1 ล้านคน

ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีก 7 แสนคน

ส่วนระดับอุดมศึกษา 650,000 คน สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ 300,000 คน หลุดจากระบบอุดมศึกษา

รวมๆ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มีอยู่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนแล้ว

หรือในเด็กไทยทุกๆ 100 คน จะมี 16 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ

และมีแนวโน้มพุ่งขึ้น เมื่อมีปัญหาโควิด-19 มาซ้ำเติม ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน เงินเดือน ค่าจ้างลดลง

ลูกหลานหลุดจากระบบการศึกษามากขึ้นไปอีก

เราจึงอาจได้อ่านข่าวเศร้า เด็กฆ่าตัวตายจากปัญหานี้ยิ่งขึ้น

 

โปรดพลิกอ่าน “ความจริง” อันน่าเศร้าใจนี้ที่คอลัมน์การศึกษา หน้า 27

และหากอยากจะเสริม “จินตนาการ” ให้ตระหนักถึงความโหดร้ายนี้ยิ่งขึ้น

ลองพลิกที่หน้า 60 อ่านเรื่องสั้นของ กิตติศักดิ์ คงคา “เครื่องรางสำหรับปัดเป่าความเศร้าใจ”

ที่หยิบเอาปัญหาโควิด-19 มาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นนี้

“…ผมตกงานแหละแม่

ผมพูดกับตัวเองมากกว่าจะตั้งใจพูดกับบุพการีที่นั่งอยู่ตรงข้างจริงๆ แต่ด้วยอะไรสักอย่างไม่รู้ที่ดลให้ผมตัดสินใจเล่าให้แม่ฟัง ผมรู้อยู่เต็มอกว่าแม่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะรับฟังใครได้ หรือหากจะพูดให้ชัด ผมยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่พูดนี่เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของแม่หรือเปล่า แต่ผมก็อยากเล่าความเศร้าใจนี่ให้ใครสักคนฟัง

และตอนนี้ผมไม่เหลือใคร…”

หยิบเอาเรื่องสั้นของ “เครื่องรางสำหรับปัดเป่าความเศร้าใจ” ของกิตติศักดิ์ คงคา มากล่าวถึง

นอกจากอยากจะบอกว่าแม้โควิด-19 จะคลี่คลายลง

กระนั้นวิกฤต “ลองโควิด-19” ทั้งในแง่สุขภาพ และปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ยังคงดำรงอยู่แล้ว

ยังอยากจะเชื่อมโยงไปสู่โครงการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ของมติชนสุดสัปดาห์

ที่ตอนนี้เปิดรับสมัครมาแล้ว 1 เดือน

ยังเหลืออีก 1 เดือนคือ “มิถุนายน” ที่จะโชว์ฝีมือกัน

นักเขียนทั้งใหม่ เก่า สามารถหยิบเอาแรงบันดาลใจในปัจจุบัน กลั่นกรองออกมาเป็นเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ เพื่อสะท้อนสังคมได้มากมาย

เขียนเสร็จแล้วส่งมาร่วมกิจกรรมกับ “มติชนสุดสัปดาห์”

เรารอคุณอยู่ •