ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

พฤษภาคม เป็นเดือนที่มีวาระพิเศษ หลายวาระ

ทั้งครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชนในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535

ทั้งครบรอบ 12 ปี ของการล้อมปราบและสังหารประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ทั้งครบรอบ 8 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปี 2557

ทั้งจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

 

ในวาระอันมากมายในเดือนพฤษภาคมข้างต้น

คอลัมน์ยุทธบทความ ของสุรชาติ บำรุงสุข นำเสนอซีรีส์ “พฤษภารำลึก 30 ปีแห่งความหลัง” ให้เราได้ทบทวนและสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

เหตุการณ์ที่อาจารย์สุรชาติเคยหวังว่าจะเป็น “ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่สอง”

หลังจากชัยชนะในการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชนในฤดูใบไม้ผลิรอบแรกในปี 2516

และต่อมาในปี 2535 ซึ่งเป็นทั้งความฝันและความหวังอย่างมากถึงการมาของ “กระแสประชาธิปไตย” ที่น่าจะถึงเวลาลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้แล้ว…หลังจากทหารถูกจัดระเบียบในการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

เหมือน “นอนเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์” ด้วยความเชื่อว่า การยึดอำนาจของทหารในปี 2534 คือการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของทหารไทยแล้ว

แต่ที่สุด ก็เป็นเพียงฝันหวาน ที่ล่มสลาย

 

จนบัดนี้ อาจารย์สุรชาติยอมรับว่า “ไม่กล้าเชื่อว่า ไทยจะมีรัฐประหารครั้งสุดท้าย” อีกแล้ว

ด้วยเห็นว่าการเมืองไทยคงหลีกพ้นจากอิทธิพลของกองทัพได้ยาก

“…นอกจากประเด็นเรื่องทหารไทยในทางยุทธศาสตร์แล้ว ประเด็นทหารในทางการเมืองเป็นประเด็นที่ชวนให้ผมต้องคิดในทางวิชาการมากขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่ค้างคาใจมาตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2519 ว่า ทหารไทยจะยุติการแทรกแซงการเมืองได้จริงหรือ

…ถ้ายุติไม่ได้แล้ว กองทัพไทยจะเป็นทหารอาชีพได้อย่างไร

และกลุ่มผู้มีอำนาจที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังรัฐประหารจะยอมให้ประชาธิปไตยเกิดอย่างเข้มแข็งในสังคมไทยจริงหรือ?…”

นั่นคือคำถามอันแหลมคมจากอาจารย์สุรชาติ ในวาระ 30 ปี พฤษภาคม 2565

และคำถามนี้ มุกดา สุวรรณชาติ แห่งหลักศิลากลางน้ำเชี่ยว ได้ชวนกันหาคำตอบ

ผ่านบทความความใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

“วันที่ 22 แปลงอาถรรพ์เดือนพฤษภา

เป็นพลังประชาธิปไตย…ให้ชีวิตดีขึ้น”

ด้วยการฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งที่ดูจะเหมาะที่สุด

เพียงแต่ต้องปรับปรุงกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เป็นแบบประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เฉพาะหน้านี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันที่ 22 พฤษภาคม ก็น่าจะเป็นการพิสูจน์คน กทม.ที่ว่ากันว่าเป็นคนมีการศึกษามากที่สุด สูงที่สุด เศรษฐกิจดีที่สุด การคมนาคมสะดวก

จึงควรจะตื่นตัวทางการเมือง

ตื่นตัวในการที่จะใช้สิทธิ์และปกป้องสิทธิ์ของตนเอง

ตื่นตัวที่จะเลือกคนมาดูแลจัดการหน้าบ้านตนเอง

 

มุกดา สุวรรณชาติ เชื่ออย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ทั้ง 50 เขต ไม่ได้มีความหมายเพียงว่าเราจะได้เลือกผู้บริหาร กทม.เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองเท่านั้น

แต่คะแนนที่เลือกตั้งนั้นยังจะชี้ทิศทางของการเมืองระดับประเทศที่คาดว่าจะมีขึ้นใน 6-8 เดือนข้างหน้า

ทุกคะแนนจะเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายปรับปรุงแนวทางการเมืองของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเพื่อที่จะได้รับชัยชนะ

ถือเป็นการก้าวเดินเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกหนึ่งก้าว

ชาว กทม.จึงควรรวมพลังกันแปลงอาถรรพ์แห่งเดือนพฤษภา ให้เป็นพลังประชาธิปไตย

โอกาสล้างคราบรัฐประหาร มาถึงแล้ว! •