ขอแสดงความนับถือ

 

ขอแสดงความนับถือ

 

อีกเพียงสองสัปดาห์

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครก็จะถึงแล้ว

นโยบายต่างๆ ของผู้สมัคร ถูกนำเสนอเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนทะลักล้น

อย่าเพิ่งสำลัก

ค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ กลั่นกรอง

เพื่อให้ได้ตัวแทนของเราที่ดีที่สุด

 

ในนโยบายอันมากมายมหาศาลนั้น

เรื่องหนึ่งที่พูดกันมาก คือ “กรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์”

มีการใส่นโยบายด้านนี้ลงในการณรงค์หาเสียงของผู้สมัครหลากหลาย

ทั้งให้เพิ่มพื้นที่การแสดงทางวัฒนธรรมและศิลปะทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์

ให้เกิดหอศิลป์สัญจร ลานดนตรีเคลื่อนที่

ให้ใช้ศิลปวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ, ชูเรื่องศิลปะกินได้, ต่อยอดลิขสิทธิ์ทางปัญญา, ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผลงานศิลปะ

ให้งานศิลปะกระจายไปสู่ผู้คน ผลักดันให้เกิดมาตรการทางภาษีที่เอื้อประโยชน์ให้กับการจัดกิจกรรมทางศิลปะ

ไปจนถึงการตั้งคณะกรรมการศิลปวัฒนธรรมเพื่อศิลปะสร้างสรรค์แห่งกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง

เหล่านี้ “ชาตรี ประกิตนนทการ” แห่งคอลัมน์ “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” (หน้า 32) ที่ติดตาม “นัย” แห่งการใช้ “พื้นที่” ของสังคมมาโดยตลอด

บอกว่าไม่ขัดข้องกับการเสนอข้างต้นเลย

แต่กระนั้น ได้เสนอแนะไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้อย่างน่าสนใจ

ว่า เมืองสร้างสรรค์ (อันแท้จริง) นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

หากขาดซึ่งเสรีภาพ

อาจารย์ชาตรียกงานชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง

เป็นบทความ Creativity and Freedom เขียนโดย Michel Serafinelli และ Guido Tabellini

ที่ศึกษาและวิจัยแล้วพบว่า เงื่อนไขทางพื้นที่หรือเมืองที่เกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศการสร้างสรรค์

คือ พื้นที่หรือเมืองที่อยู่ภายใต้บรรยากาศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในมิติต่างๆ

Serafinelli และ Tabellini พบว่า เมืองและสังคมที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คน และเต็มไปด้วยเสรีภาพทางเศรษฐกิจ จะก่อร่างสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ

สิ่งนี้กลายเป็นมูลฐานสำคัญของการผลิตคนและบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์

และดึงดูดนักสร้างสรรค์จากที่อื่น โดยเฉพาะนักสร้างสรรค์จากเมืองที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ที่ไร้เสรีภาพ ให้ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาในพื้นที่

ซึ่งจะทำให้เมืองนั้นๆ กลายเป็นศูนย์รวมและศูนย์กลางของศิลปินและนักสร้างสรรค์ชั้นนำในเวลาต่อมา

 

จากงานศึกษาข้างต้น อาจารย์ชาตรีบอกว่า กรุงเทพฯ เมืองที่ใครๆ ก็อยากเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ชั้นนำในโลกศตวรรษที่ 21 นั้น

เทียบแล้ว ยังห่างไกลกับการก้าวเข้าไปสู่เป้าหมายนี้มากเหลือเกิน

ด้วยเพราะเมืองที่เดือดร้อนจนทนไม่ได้กับการปรากฏภาพ “ทศกัณฐ์หยอดขนมครก”

เมืองที่ทนไม่ได้กับการผลิต “ขนมอาลัวรูปพระเครื่อง”

เมืองที่ยอมไม่ได้กับการเขียนภาพ “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน”

เมืองที่ไล่จับเยาวชนที่คิดต่างไปขังไว้ในคุกอย่างไร้มนุษยธรรม

ฯลฯ

เมืองที่มีมูลฐานทางการเมืองวัฒนธรรมเช่นนี้

อาจารย์ชาตรียืนยันว่า ไม่มีวันที่จะกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้อย่างแท้จริง

ต่อให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่จะเลือกกันยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลลงมาสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือผลักดันนโยบายกรุงเทพฯ เมืองสร้างสรรค์มากแค่ไหน

ก็ไม่มีวันทำได้สำเร็จ

การสร้างบรรยากาศของพื้นที่เมืองแห่งนี้ให้อบอวลไปด้วยเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเสียก่อนต่างหาก

จึงจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองสร้างสรรค์ที่แท้จริงและยั่งยืน

คุณแลเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใดมีแนวทางเช่นนี้หรือไม่

เห็นแล้วโปรดใช้ปากกาวง

รึไม่เห็น…ไม่มี!?! •